สามเสาหลักในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนคือประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ศาสนาอยู่ในกลุ่มของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสิบประเทศในอาเซียนที่รวมตัวเป็นประชาคมมีหลายศาสนา มีหลายลัทธิความเชื่อ มีหลายวัฒนธรรม หากจะหลอมรวมให้มีเพียงศาสนาเดียว ศาสนานั้นควรเป็นศาสนาอะไร จึงจะมีความเหมาะสมและเป็นเอกภาพมากที่สุด คำถามนี้คงหาคำตอบได้ไม่ง่ายนัก
หากมองตามสภาพพื้นที่ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางอาเซียนมากที่สุด เพราะอยู่กลางระหว่างมวลประเทศสมาชิกทั้งหลาย แต่เพราะสาเหตุใดไม่ทราบประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แทบจะไม่มีทรัพยากรสำคัญอันใดเลย แต่กลับเป็นประเทศที่มีความเจริญมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนควบคู่ไปกับประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ได้ส่งออกประชากรไปสู่ประเทศอื่นๆมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งประชากรส่วนหนึ่งประกอบอาชีพสอนภาษาอังกฤษในประเทศในแถบภูมิภาคนี้
ทางด้านศาสนาพอจะจำแนกศาสนาและกลุ่มของผู้นับถือศาสนาในอาเซียนได้อย่างน้อย 5 กลุ่มคือ(1)พระพุทธศาสนามีประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักได้แก่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา นอกจากนั้นยังมีมาเลเซียบางรัฐและอินโดนีเซียอีกบางรัฐ ประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาน่าจะมีมากกว่า 300 ล้านคน (2) ศาสนาเต๋า ขงจื้อ พุทธศาสนามหายาน มีผู้นับถืออยู่ที่เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียบางเกาะ (3) ศาสนาคริสต์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆอีกเกือบทุกประเทศ (4) ศาสนาอิสลาม มีศูนย์กลางอยู่ที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และภาคใต้ของประเทศไทย (5) ศาสนาพราหมณ์ -ฮินดู มีศูนย์กลางอยู่ที่บาหลี อินโดนีเซีย และยังแทรกอยู่เกือบทุกประเทศ ยังมีอีกความเชื่อหนึ่งที่มีอยู่ตามพื้นที่บางแห่งคือความเชื่อท้องถิ่น แม้จะไม่นับเป็นศาสนาแต่ก็มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชนไม่น้อย
โดยสรุปศาสนาในอาเซียนน่าจะพอสรุปได้ว่าประกอบด้วยผี พราหมณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม ขงจื้อ เต๋า ซึ่งแต่ละศาสนามีหลักคำสอนแตกต่างกัน มีพิธีกรรมที่แตกต่างกัน คงยากที่จะนำมาหลอมรวมจนกลายเป็นศาสนาเดียวกันได้
เมื่อมีแนวความคิดต่างกัน ศาสนาแห่งอาเซียนควรจะเป็นศาสนาใด หากนับตามจำนวนประชากร ศาสนาอิสลามน่าจะมีผู้นับถือมากที่สุด รองลงมาคือพุทธและคริสต์ ส่วนพราหมณ์ เต๋า ขงจื้อ มีจำนวนไม่น้อย หากเลือกคำสอนจากศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นจิตวิญญาณของอาเซียน ศาสนิกชนในแต่ละศาสนาคงยอมกันไม่ได้ ดังนั้นในเสาหลักของประชาคมอาเซียนจึงก้าวผ่านเรื่องของศาสนา แต่ไปพูดถึงสังคมและวัฒนธรรม
สังคมและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งมาจากศาสนา การที่จะรวมคนหลากหลายความเชื่อให้เป็นสังคมเดียวกันได้ อย่างน้อยก็ต้องมีหลักการร่วมกัน แต่ทว่าหลักการนั้นคืออะไรยังหาบทสรุปไม่ได้ หลัการเบื้องต้นน่าจะเป็นคนดีตามหลักการของแต่ละศาสนา ส่วนความดีสากลต้องศึกษาค้นคว้าร่วมกันอีกที
อันที่จริงศาสนาไม่ได้เป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันแต่ประการใด ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือประเทศอินโดนีเซียซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ไม่ได้มีอคติกับศาสนาอื่น เช่นพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียก็มีองค์กรทางพระพุทธศาสนา สามารถประกอบพิธีกรรมตามลัทธิความเชื่อและหลักคำสอนของศาสนาได้ โดยที่ศาสนาอื่นก็ไม่มายุ่งเกี่ยว หลายครั้งที่เคยไปร่วมงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีพี่น้องมุสลิมนี่แหละคอยให้ความช่วยเหลือ โดยที่ไม่เคยมีความขัดแย้งแต่ประการใด แม้จะมีความเชื่อต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ถึงจะพูดกันคนละภาษาแต่ก็สื่อสารกันได้
ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย มีศาสนาพรามหณ์ฮินดูเป็นศาสนาหลักของประชาชน พวกเขามีพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมวิถีชีวิตของชาวบาหลี ทำให้กลายเป็สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ปีละหลายล้านคน
หลายปีมาแล้วเคยไปเมียนมาร์ โดยไม่เคร่งธรรมเนียมเท่าใดนัก วันนั้นแดดร้อนมากจึงใส่รองเท้าเดินขึ้นเจดีย์ มีเด็กเมียนมาร์คนหนึ่งวิ่งมากอดขาพลางพูดด้วยภาษาอังกฤษสั้นๆว่า "NO Shoe” จากนันก็ถอดรองเท้าให้พลางชี้แจงด้วยภาษามือว่า ธรรมเนียมของประเทศนี้ไม่นิยมใส่รองเท้าเดินขึ้นสถานที่สำคัญทางศาสนา เด็กคนนั้นนำรองเท้าไปเก็บรักษาให้อย่างดี จึงต้องทนเดินเท้าเปล่าเวียนรอบเจดีย์กลางแดดร้อน
ธรรมเนียมของท้องถิ่นก็ต้องเคารพ จะถือธรรมเนียมของเราเองอย่างเดียวคงอยู่ร่วมกันกับชาติอื่นได้ยาก ประเทศไทยก็มีปัญหากับนักท่องเที่ยวเวลาที่เข้าไปยังสถานที่สำคัญทางศาสนาเช่นพระอุโบสถ นักท่องเที่ยวมักจะไม่ถอดรองเท้า สุภาพสตรีนุ่งสั้น และแสดงกิริยาอาการไม่เคารพสถานที่เป็นต้น เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลสถานที่ที่จะต้องคอยชี้แจงถึงความถูกต้อง ภาษาที่เป็นสากลก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เรียนไว้บ้างไม่เสียหายอันใด
ประเทศลาวก็มีหลายลัทธิศาสนาอยู่ด้วยกันเช่นที่ปราสาทวัดภู จำปาสัก นั่นก็มีทั้งผี พรามหณ์ พุทธ อยู่ด้วยกัน ใครนับถืออะไรก็แสดงความเคารพสิ่งนั้นตามความเชื่อของตนเอง ที่สำคัญอย่าแสดงอาการดูหมิ่นความเชื่อของคนอื่น เพียงเท่านี้ก็อยู่ร่วมกันได้แล้ว
หลวงพระบางก็มีประเพณีการบิณฑบาตข้าวเหนียว ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวหลวงพระบาง นอกจากนั้นยังมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีควบคู่ไปกับชมธรรมชาติอันสวยงาม
ประเทศสิงคโปร์มีวัดไทยในในท่ามกลางของเต๋า ขงจื้อ พรามหณ์ ฮินดู คริสต์ จนแทบจะแยกกันไม่ออกว่า เขานับถือศาสนาอะไรกันแน่ วัดไทยในสิงคโปร์จึงต้องประกอบพิธีทั้งพราหมณ์ พุทธ และะขงจื้อไปพร้อมๆกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง แต่ก็อยู่ร่วมกันได้
ศาสนาสำหรับประชาคมอาเซียนจึงมีหลายศาสนา ไม่จำเป็นต้องเป็นศาสนาเดียวก็ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ปัจจุบันแม้จะไม่นับว่าเป็นศาสนาแต่ก็เข้าใกล้ความเป็นศาสนาสากลเข้าไปทุกทีคือเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่นิยมเรียกกันว่าสื่อสังคมออนไลน์ ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ หากอยากจะรู้ลึกซึ้งก็ต้องเรียนรู้ภาษาของเทคโนโลยีให้เข้าใจ หากใครที่มีความรู้ในภาษาของตนเอง ภาษาอังกฤษ และภาษาเทคโนโลยีแล้ว เขาคนนั้นก็ได้ชื่อว่าได้ก้าวผ่านกำแพงแห่งพรมแดนของความเจริญก้าวหน้าไปได้
ศาสนาของบรรพบุรุษก็นับถือปฏิบัติกันต่อไป ควบคู่ไปกับการศึกษาวิธีการใช้เทคโนโลยีซึ่งกำลังจะเป็นศาสนาใหม่สำหรับชาวโลก เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในด้านศาสนาคงไม่มีใครยอมใคร ก็ต้องปล่อยให้แต่ละประเทศนับถือศาสนาไปตามความเชื่อของตน หรือหากจะสถาปนาศาสนาใหม่ขึ้นมา ศาสนานั้นก็ต้องตอบสนองความต้องการของคนทุกคนได้ ซึ่งปัจจุบันสิ่งนั้นได้ปรากฎขึ้นมานานหลายปีแล้วนั้นคือสื่อสังคมออนไลน์ แทบทุกคนคงเคยสัมผัสและใช้งานมาบ้างแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นศาสนาอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติสื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นเหมือนศาสนามาหลายปีแล้ว เมื่อประเทศในอาเซียนมารวมกัน ใครนับถือศาสนาก็ดำเนินไปตามปรกติ ที่สำคัญอย่าพยายามล่วงล้ำก้ำเกินศาสนาอื่น เพียงเท่านี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้แล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/12/58