หากคนทั้งโลกพูดภาษาเดียวกันสื่อสารกันได้ทั่วทุกมุมโลก มีวัฒนธรรมเดียวกันเหมือนกันทุกประเทศ โลกนี้คงไร้สีสัน เพราะไม่มีความแปลกแตกต่างอันใดที่น่าค้นหา แต่เพราะคนในโลกพูดกันคนละภาษา มีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน จึงทำให้โลกนี้น่าศึกษาน่าค้นหา ความแปลกแตกต่างกันนี่เองคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของโลก หากคนพูดภาษาเดียวกัน ภาษานั้นควรจะเป็นภาษาอะไร หากทุกประเทศจะมีวัฒนธรรมร่วมกันวัฒนธรรมนั้นควรจะเป็นวัฒนธรรมอะไร
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดโครงการ "ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียนอย่างชาญฉลาด" โดยเชิญคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและวิทยาเขต มาร่วมสัมมนา เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรให้สามารถดำรงอยู่ได้ในเวทีอาเซียนอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม สถานที่จัดงานอยู่ที่อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
อีกไม่ก่ีวันประเทศในประเทศอาเชี่ยนก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนไร้พรมแดน เพราะจะมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้อย่าสะดวก จะเดินทางไปในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องมีเขตกั้นด้านการเดินทางเข้าประเทศ เพียงแต่มีหนังสือเดินทางฉบับเดียวก็เที่ยวได้สิบประเทศ ประชาคมอาเซียนมีสิบประเทศจะรวมเป็นประชาคมสิ้นปี 2558 ซึ่งเหลือเวาลาเพียงสิบกว่าวันเท่านั้น การรวมตัวของประเทศที่มีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันนั้น จะหาความเป็นเอกภาพหรือความเป็นหนึ่งนั้นมิใช่เรื่องง่าย มีเพียงวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างเท่านั้นที่เหมือนกันเช่นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ซึ่งเปลี่ยนพร้อมกันทั่วโลก พอจะยึดถือวันขึ้นปีใหม่เป็นประเพณีประจำปีของอาเซียนได้ แต่บางประเพณีมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังถือปฏิบัติเช่นในเดือนเมษายน ประเทศไทยและลาวมีประเพณีวันสงกรานต์ แต่ชาติอื่นในอาเซียนอาจจะไม่เน้นในประเพณีนี้ จะหลอมรวมความเป็นหนึ่งได้อย่างไรกัน
ด้านภาษาและวัฒนธรรม ในประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียนมีวัฒนธรรมหลายกลุ่ม วิทยากรท่านหนึ่งได้จำแนกออกเป็นหกกลุ่มคือ (1) วัฒนธรรมพื้นบ้าน (2) วัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดู (3) วัฒนธรรมพุทธ (4) วัฒนธรรมอิสลาม (5) วัฒนธรรมคริสต์ (6) วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วัฒนธรรมที่เป็นสากลในอาเซียนส่วนหนึ่งมาจากศาสนา แต่ละศาสนาต่างก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง การที่จะให้คนทั้งสิบประเทศเปลี่ยนมานับถือศาสนาเดียวกันหมดคงทำได้ยาก เรื่องของความเชื่อนั้นบังคับกันไม่ได้ เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล
ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องยอมรับในวัฒนธรมของแต่ละประเทศ ยอมรับในความแตกต่าง ใครมีความเชื่ออย่างไรก็ปฏิบัติตามหลักการที่ตนเคยปฏิบัติ เหมือนป่าไม้ใหญ่ ไม่ได้มีต้นไม้ชนิดเดียว แต่มีต้นไม้ หลายพันธุ์อยู่ด้วยกัน จึงเรียกว่าป่า หากใครคิดที่จะนำต้นไม้มาผูกรวมกันให้เป็นไม้ต้นเดียวกัน ไม่นานต้นไม้ก็จะงอกงามตามธรรมชาติไม่ได้ ในที่สุดป่าก็ต้องหมดสภาพของความเป็นป่า แต่หากปล่อยให้ไม้แต่ละต้นเจริญเติบโตไปตามธรรมชาติแล้ว ก็จะได้ป่าที่สมบูรณ์ทีี่มีความหลากหลายเกิดจากต้นไม้นานาชนิด
หากจะเปรียบเทียบป่าคือภาษาและวัฒนธรรม อาเซียนก็มีหลายภาษามีวัฒนธรมหลากหลาย แต่ละประเทศไม่รุกล้ำล่วงเกินวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้คือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั้งโลก
ด้านภาษาในประชคมอาเซียนก็มีภาษาหลายตระกูลเช่นภาษาตระกูลออสโตเอเซียติก ภาษาตระกูไทกะได ภาษาตระกูลจีนทิเบตรวมถึงพม่า ภาษาตระกูลม้งเย้า ภาษาตระกูลออสโตนีเซียน ภาษาตระกูลอินโดยูโรเปี้ยน เป็นต้น แต่ละประเทศก็มีภาษาของตนเอง บางประเทศยังมีภาษาท้องถิ่นแยกย่อยออกไปอีกหลายสิบภาษา ดังนั้นในการเข้าร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียนจึงกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกว่าแล้วคนประเภทไหนที่จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันได้บ้าง
ในด้านของนักธุรกิจต้องสื่อสารกันได้อยู่แล้ว นักวิชาการพอจะอนุมานได้ว่าคงพอคุยกันรู้เรื่อง แต่สำหรับชาวบ้านจะติดต่อสื่อสารกันอย่างไร คนในชนบทจะสื่อสารกับคนในประเทศอื่นรู้เรื่องหรือ ปัญหาด้านภาษาคงพอจะปรับเปลี่ยนแก้ไขกันได้เพียงบางส่วน แต่จะให้คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนกับคนในประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี
แต่ทว่าภาษามิใช่สิ่งที่ปิดกั้นพรมแดนแห่งการติดต่อ เพราะภาษาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร ผู้ที่เรียนรู้ภาษาของอีกคนกลุ่มได้อาจจะได้เปรียบบ้าง แต่คงไม่มากนัก หากจะเรียนทุกภาษาในอาเซียนคงยาก ดังนั้นเรียนภาษาอังกฤษไว้บ้าง พอติดต่อสื่อสารกันได้บ้างก็น่าจะเพียงพอ
เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันแม้ว่าประชาคมอาเซียนจะไม่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติบางพื้นที่ในประเทศไทย มีประชาคมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการมานานแล้ว มีการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันมานานหลายปีแล้วเช่นที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีคนจากหลายประเทศมาทำงานร่วมกัน คนงานจากเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาทำงานที่มหาชัย สถานที่บางแห่งถึงกับต้องมีภาษาของหลายประเทศไว้เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร
หากใครผ่านไปที่มหาชัยเห็นภาษาเมียนมาร์ ภาษาลาว ภาษากัมพูชาติดประกาศตามสถานที่บางแห่งก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะที่เมืองนี้มีคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานจำนวนมาก ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของเมืองนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่คนงานจากต่างประเทศ หากคนงานเหล่านี้ประกาศหยุดงานพร้อมกัน เมืองนี้ก็จะกลายเป็นอัมพาตไปทันที มหาชัยจึงน่าจะเป็นเมืองต้นแบบของการเข้าสู่ประชาอาเซียนได้
ยังมีอีกหลายจังหวัดที่บริษัทห้างร้านต่างๆใช้คนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คนงานเหล่านี้เมื่อมาอยู่เมืองไทยอย่างน้อยที่สุดก็ต้องพูดภาษาไทยให้ได้ จะได้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆได้ แต่ทว่าในทางตรงกันข้ามคนไทยที่เป็นเจ้าของกิจการจะเรียนภาษาของประเทศเพื่อนบ้านได้มากน้อยแค่ไหน บางคนบอกว่าเขามาหาเราต้องเรียนภาษาเรา ดังนั้นคนไทยจึงไม่ค่อยได้ศึกษาเรียนรู้ภาษาอื่น
วันแรกของการสัมมนาได้ฟังวิทยากรบรรยายสามเรื่องว่าด้วยภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน พระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 11 การสัมมนายังมีอีกหลายวัน วันนี้เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษไปพลางก่อน
วัฒนธรรมและภาษาในอาเซียนเพียงสองเรื่องก็น่าจะทำงานวิจัยได้หลายเล่ม เพียงแค่ภาษาในตระกูลไทกะไดอย่างเดียวก็ยากที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ แม้ชนเผ่าไทอย่างเดียวก็มีไทหลายเผ่าเช่นไทดำ ไทขาว ไทแดง เป็นต้นกระจายกันอยู่ในแต่ภูมิภาคของโลก บางกลุ่มพอคุยกันรู้รื่องบ้างเช่นไทในสิบสองปันนา จีน ไทในอัสสัม อินเดีย ไทในรัฐฉาน เมียนมาร์เป็นต้น หากจะเรียนรู้ทุกภาษาและวัฒนธรรมในอาเซียนอย่างจริงจัง คงต้องใช้เวลาอีกนาน ถึงแม้จะไม่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของชาติอื่นก็ไม่เป็นไรนัก แต่หากไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาติตนเองแล้วก็ยากจะอยู่ร่วมกับคนในประชาคมอาเซียนอย่างชาญฉลาดได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/12/58