ต้องขอสารภาพว่าแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อของเมืองนิกโก้นี้มาก่อน อยู่ที่ไหนมีความสำคัญอย่างไร ไม่เคยศึกษาหาข้อมูลมาก่อนเลย แม้จะซื้อคู่มือท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาบ้าง บังเอิญว่าเล่มที่มีอยู่ในมือนั้นก็ไม่ได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้เลย คงเพราะซื้อมาผิดเล่ม เล่มที่ซื้อมานั้นกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวในโตเกียวและเมืองอื่นๆ แต่ไม่มีชื่อเมืองนิกโก้ นั่นเพราะการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่เมืองโตเกียวและรอบๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปเมืองอื่น ดังนั้นชื่อของเมืองนิกโก้เมืองมรดกโลกจึงไม่ได้ปรากฏให้เห็น
วันนั้นเดินทางไปกันเพียงไม่กี่คนเท่านั้น มีพระภิกษุที่เคยจำพรรษาที่สำนักสงฆ์โอเมะท่านหนึ่งแนะนำว่าเรามีเวลาว่างหนึ่งวันโดยไม่มีอะไรทำเลย น่าจะหาสถานที่เที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโตเกียวมากนัก มีผู้เสนอชื่อเมืองมิตาเกะ ที่มีฉากในหนังสือเรื่องข้างหลังภาพ บทประพันธ์ของศรีบูรพา แต่ผู้ที่เดินทางมาถึงก่อนบอกว่าไปมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนเมืองคามากุระ และภูเขาไฟฟูจิก็มีอยู่ในตาราง ที่จะต้องเดินทางไปอยู่แล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “นิกโก้เป็นเมืองมรดกโลก” อยู่ไม่ไกลนัก น่าจะพอเดินทางไปได้ ชื่อของเมืองมรดกโลกคงต้องมีอะไรที่พิเศษจึงต้องได้รับการยอมรับถึงขนาดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก
ญี่ปุ่นมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามข้อมูลมีจำนวน 18 แห่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคืออนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ศาลเจ้าโทโชงุที่เมืองนิคโก้ ในจังหวัดโทซิจิ ระบุความสำคัญไว้ว่า “เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยเอโดะอันมีสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่น่าตื่น ตะลึงและธรรมชาติที่มีชื่อเสียง จุดที่มีชื่อเสียงได้แก่ประตู Yomei-mon ว่ากันว่าสร้างขึ้นจากฝีมือของช่างฝีมือราว 127,000 คน ด้วยวิทยาการทางศิลปะที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ประตู Yomei-mon นี้นับเป็นสัญลักษณ์ของนิกโก้ ประตูแห่งนี้มีชื่อเล่นว่า “ประตูอาทิตย์ตก” เนื่องจากว่ากันว่าผู้มาเยือนยืนชมความงามของประตูอยู่นานจนถึงเย็นนั่นเอง”
ข้อมูลจากวิกีพีเดียระบุว่า “เมืองนิกโก้ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในทิวเขาในจังหวัดโทะชิงิ อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศเหนือประมาณ 140 กิโลเมตร เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศ ในเมืองเป็นที่ตั้งของสุสานของโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ กับโทะกุงะวะ อิเอะมิสึ ผู้เป็นหลาน และศาลเจ้าฟุตะระซังอายุกว่า 1,200 ปี และยังมีรีสอร์ทน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย ทิวเขาทางตะวันตกของเมืองเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาตินิกโก้ เป็นที่ตั้งของน้ำตกและเส้นทางชมทิวทัศน์ที่กล่าวกันว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น”
เมืองนี้มีจำนวนประชากรไม่มาก จากข้อมูลระบุไว้ว่า “ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เมืองนี้มีจำนวนประชากรทั้งหมด 93,568 คน เนื้อที่รวมของเมืองเท่ากับ 1,449.87 ตารางกิโลเมตร” แสดงว่าเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่นัก ประชากรไม่ถึงแสนคน
ในวันที่เดินทางไปนั้น เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์โอเมะไปปลุกตั้งแต่เช้า เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางและเวลาที่แตกต่างจึงกำหนดเวลาผิดพลาด เวลาที่ญี่ปุ่นเดินเร็วกว่าเมืองไทยประมาณสองชั่วโมง เจ้าอาวาสจึงต้องพาไปส่งยังสถานีรถไฟกาเบะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ท่านบอกสั้นๆว่า “ไปนิกโก้ต้องถ่ายภาพสะพานแดง ใบเมเปิลสีเหลือง และลิงสามตัวมาให้ได้” ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก นักเดินทางส่วนหนึ่งกำลังรอขึ้นรถไฟเพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองนิกโก้ ตอนนั้นไม่รู้เหนือรู้ใต้อันใดเลย เขาพาไปทางไหนก็ไปทางนั้น มีเพียงบัตรใบเดียว จะเข้าสถานีไหนก็เพียงแต่ทาบบัตรบริเวณทางเข้าก็สามารถขึ้นรถไฟได้แทบทุกขบวน เขาเก็บเงินขาออกอย่างเดียว ส่วนสนราคาเท่าไหร่ก็แล้วแต่การเดินทางว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน บริการแบบนี้สะดวกและง่ายดี ไม่ต้องมีเงินสักบาทเพียงแต่มีบัตรใบเดียวก็สามารถนั่งรถไฟเดินทางได้ เมื่อขึ้นรถไฟเสร็จก็ได้แต่บอกตัวเองในใจว่า ตอนนี้ได้ขึ้นรถไฟไปเมืองนิกโก้แล้ว
ขึ้นลงกี่สถานีจำไม่ได้ เพราะประหลาดใจที่ผู้คนที่ใช้บริการรถไฟมีเป็นจำนวนมาก เหมือนหนึ่งมดแตกรัง แต่ละคนต่างก็รีบเร่งเพื่อที่จะไปให้ทันกับรถขบวนที่ตนจะต้องเดินทาง ตัวเราเองก็ได้แต่มองตามหลังเพื่อนร่วมทาง และพยายามเดินตามไปโดยไม่รู้เลยว่ารถไฟขบวนไหนจะไปทางใด จะขึ้นรถขบวนไหนอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ผู้นำทางซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มแน่น เดินเร็วยังกับวิ่ง ส่วนเราพึ่งรู้ตัวว่าแก่ก็ตอนเดินตามเพื่อนไม่ทันนี่แหละเผลอเพียงแว็บเดียวเพื่อนก็หายไปแล้ว
เดินตามเพื่อนไม่ทัน รถไฟขบวนที่จะต้องเดินทางมาถึงหรือไม่ไม่รู้ มองซ้ายมองขวามีแต่เรายืนอยู่อย่างเดียวดาย ตัดสินใจในบัดดลถามคนญี่ปุ่นนี่แหละสะดวกที่สุด จึงมีโอกาสได้ใช้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษามือถามว่า “ฉันจะไปเมืองโอมิยะ จะต้องขึ้นรถขบวนไหน” ชายญี่ปุ่นคนนั้นก็ใจดีบอกว่า ต้องรออีกขบวนเพราะขบวนนี้ไปโตเกียว
รถไฟขบวนนั้นวิ่งเพียงสองสถานีเท่านั้น เพื่อนร่วมทางก็ไม่รู้ไปทางไหน จึงตัดสินใจขึ้นรถขบวนไปโอมิยะตามคำแนะนำของชายญี่ปุ่นคนนั้น บนตู้โดยสารมีเพียงคนไทยคนเดียว แต่งตัวประหลาดเพราะอยู่ในชุดพระภิกษุ พอถึงสถานีก็ถามคนโดยสารที่กำลังจะลงว่า ถึงสถานีชื่อโอมิยะหรือยัง เขาบอกว่าต้องรอสถานีหน้า เดินไปถามไป ถามหลายคนซึ่งพูดกันคนละภาษา แต่กลับเข้าใจในความหมายได้เป็นอย่างดี ภาษาพูดเป็นเพียงการสื่อความหมายในแต่ละกลุ่ม แต่ภาษากายสื่อความหมายได้กับคนทุกเชื้อชาติ
การเดินทางครั้งนี้เปลี่ยนรถหลายขบวน จนจำไม่ได้ แต่มีสถานีหนึ่งที่จำได้ไม่เคยลืม “โอมิยะ” เพราะเป็นสถานีที่พลัดหลงกับเพื่อนเดินทาง แม้จะขึ้นรถคนละตู้ แต่เมื่อลงสถานีเดียวกัน ก็พบกันจนได้ บอกกับผู้ร่วมทางว่า กลับเมืองไทยคงต้องเขียนถึง “โอมิยะ” สถานีแห่งความทรงจำสักครั้ง
การใช้บริการรถไฟในญี่ปุ่นจึงต้องคำนวณเวลาให้พอดี ผิดพลาดไปแม้เพียงนาทีเดียวอาจจะมีหวังตกขบวนได้ทันที มิน่าละจึงเห็นคนญี่ปุ่นเดินเร็วหรือวิ่งในสถานีรถไฟต่างๆ รถไฟไปมาตรงเวลา จึงต้องดำเนินชีวิตตามเข็มนาฬิกา
สัมผัสแรกที่สถานีรถไฟนิกโก้ คือความหนาวเย็นแห่งบรรยายโชยมากระทบกาย หนาวแบบไม่มีลม นักเดินทางสมัครเล่นเดินตามริมถนนไปยังอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ศาลเจ้าโทโชงุ ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เดินไปเรื่อยๆ ความหนาวก็บรรเทาเบาบางลง สิ่งแรกที่ได้สัมผัสถึงความงดงามคือสะพานสีแดงมีชื่อเรียกขานว่าสะพานชินเคียวทอดผ่านเหนือแม่น้ำไดยะ เสียงน้ำใสไหลผ่านเหมือนดั่งหนึ่งบทเพลงแห่งธรรมชาติที่บรรเลงเพลงต้อนรับ ใบเมเปิลสีแดงที่บริเวณทางขึ้นงดงามเป็นอย่างยิ่ง กล้องในมือก็ค่อยๆเก็บบรรยากาศของธรรมชาติไปเรื่อยๆ
ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางดูเหมือนจะเหือดหายไปกับบรรยากาศแห่งสถานที่ที่แต้มแต่งให้เกิดความบรรเจิดเพริดแพร้วจนยากที่จะลืมเลือน ระยะทางจากทางขึ้นเขาเนินเขามีประตูสีแดงทีเรียกกว่า “โทะริอิ” ทางเข้าอาณาจักรแห่งเทพเจ้า อันเป็นสัญลักษณ์ในลัทธิชินโตแทรกอยู่ตลอดทาง บางแห่งบอกว่าเป็นทางเข้าวัดในพระพุทธศาสนา
สองข้างทางโอบล้อมไปด้วยต้นสนขนาดใหญ่ บางต้นน่าจะมีอายุหลายร้อยปี สลับกับต้นเมเปิลที่มีใบหลายหลากสี บางต้นสีแดง บางต้นสีเหลือง บางต้นสีเขียว เหมือนหนึ่งภาพวาดที่แต่งเติมให้อาณาบริเวณมีความงดงามเหมือนกำลังเดินอยู่ในเมืองแห่งความฝัน เป็นดั่งแดนสวรรค์ในโลกมนุษย์
ก่อนเดินทางยังสงสัยว่าเมืองนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพราะเหตุใด เมื่อได้สัมผัสจึงเข้าใจได้ เพราะสถานที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีป่าสนที่อุดมสมบูรณ์ มีสถาปัตยกรรมอันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางศาสนา ที่มีหลายลัทธิอยู่ในอาณาบริเวณที่ใกล้เคียงกันเช่น วัดรินโนจิ วัดพุทธศาสนาในนิกายเทนได ศาลเจ้าโทโชกุ ศาลเจ้าฟูตาราชัน วัดอิเอะมิตสุ ไทยูอิน เป็นต้น
แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความเชื่อที่หลากหลาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ วัดพุทธอยู่ใกล้วัดเต๋า ถัดไปเป็นวัดในชินโต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพิเศษอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นคือมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้จะมีลัทธิความเชื่อแตกต่างกัน แต่มีความเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะนับถือศาสนาอะไร หรือจะเป้นคนอย่างไร วัฒนธรรมที่ติดตัวเขานั้นแทบจะเหมือนชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ อีกอย่างหนึ่งชาวญี่ปุ่นมักจะแปลวัฒนธรรมที่มาจากภายนอกให้เป็นสิ่งใหม่ในสิ่งที่ตนต้องการ จนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น นับถือทั้งผีบรรพบุรุษ เคารพเทพเจ้า และนับถือพระพุทธศาสนาในเวลาเดียวกันได้
นั่งรถไฟไปนิกโก้ในครั้งนี้ แม้จะไม่รู้เส้นทางมาก่อน แต่ก็ไปถูก เพราะมีผู้นำทาง เที่ยวกันเองไม่ต้องกังวลกับเวลา จนกระทั่งตะวันเย็นย่ำจึงเดินทางกลับโดยรถไฟเหมือนขาไป กลับถึงวัดก็มืดค่ำแล้ว แสงไฟตามถนนหนทางเริ่มหรี่แสง รถเมล์หมดเวลาทำการ จากสถานีรถไฟคาเบะไปยังสำนักสงฆ์โอเมะจึงต้องพึ่งบริการรถแท็กซี่ ซึ่งมิเตอร์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง อัตราราคาจากสถานีรถไฟไปยังวัด 730 เยน
การเดินทางแบบไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เพราะนิกโก้อยู่นอกตารางการเดินทาง แต่ทว่าบางครั้งการเดินทางแบบไม่ต้องมีแผนก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง เพราะเราคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ว่าหนทางข้างหน้าจะมีอะไรให้ชม ชีวิตบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางตามที่กำหนดไว้บ้างก็ได้ เดินออกนอกความเคยชินอาจจะได้เห็นสิ่งแปลกใหม่และได้ประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้พบเห็นมาก่อน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/12/58