หากเป็นผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะประเภทเจดีย์แล้ว อาจจะมีหลายแห่งที่ควรเดินทางไปศึกษา ที่น่าไปชมมากที่สุดคือพุกาม ในประเทศเมียนมาร์ ที่มีคำเรียกขานว่า เป็นทะเลแห่งเจดีย์ แต่หากไม่มีโอกาสเดินทางไป แต่อยู่ในประเทศไทยมีสถานที่แห่งใดบ้างที่น่าเดินทางไปดู คำตอบอาจจะมีหลายแห่งอีสานมีพระธาตุพนม ภาคใต้มีเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช เจดีย์ไชยาที่สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกมีหลายแห่งโดยเฉพาะปราสาทหิน ภาคกลางมีหลายแห่งเช่นอยุธยา กาญจนบุรีเป็นต้น ส่วนภาคเหนือมีมากที่สุดมีอยู่แทบทุกจังหวัด ในวันที่มีข่าวเกี่ยวกับความแห้งแล้งมาเยือนประเทศไทย สถานที่ที่คิดได้คืออาณาจักรสุโขทัย ดินแดนที่ได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และบนภาคพื้นปฐพีมีวัดวาอารามและเจดีย์จำนวนมาก
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในวันที่ฟ้าครึ้มและยังมีฝนตกพรำในบางส่วน มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมโบราณสถานพอสมควร ส่วนมากมักจะเช่าจักรยานปั่นไปตามถนนภายในอุทยาน แวะชมโบราณสถานต่างๆตามสมควร บางส่วนเช่ารถสามล้อเครื่องที่มีให้เช่า สนราคาตามแต่จะตกลงกันได้ เพราะหากอยู่เฉพาะภายในอุทยานราคาก็ไม่แพง หากอยากจะออกนอกเขตอุทยานก็ต้องคิดอีกราคาหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาแล้วราคาไม่แพง หากคิดจะเดินเที่ยวให้ทั่วขอให้คิดใหม่ เพราะสถานที่แต่ละแห่งอยู่ไกลกันมาก ยอมเสียเงินอีกนิดหน่อยเพื่อแลกกับการได้ชมโบราณสถานมากขึ้น
วันนั้นนอกจากจะชมโบราณสถานภายในเขตอุทยานซึ่งมีสถานที่สำคัญเช่นวัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน วัดตระพังสอ วัดตระพังทอง วัดชนะสงคราม วัดกำแพงแลง เป็นต้น ยังต้องการจะเที่ยวชมโบราณสถานที่สำคัญนอกกำเขตกำแพงเมืองเช่นวัดสะพานหิน วัดเขาพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดอรัญญิก วัดศรีชุม วัดพระพายหลวง วัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง วัดเจดีย์สี่ห้อง และวัดเชตุพน ซึ่งแต่ละวัดมีระยะทางห่างไกลกัน อยู่คนละทิศ หากคิดจะไปชมทุกวัดอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองวัน
วันนั้นบอกสามล้อเครื่องว่าอยากไปห้าวัดคือวัดสะพานหิน วัดอรัญญิก วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดช้างล้อมคนขับร้องอุทานในบัดดล “นั่นมันอยู่กันคนละทิศเลยนะครับ เริ่มจากทิศตะวันตก ไปใต้และสิ้นสุดที่ทิศตะวันออก หากเพิ่มวัดศรีชุมซึ่งอยู่ทางทิศเหนือเข้าไปอีก ครบทั้งสี่ทิศเลยนะครับ เพียงแค่ทิศตะวันตกทิศเดียวก็มีวัดที่น่าสนใจประมาณ 10 วัดแล้วครับ ตามปรกตินักท่องเที่ยวเขาไม่ค่อยไปกัน เที่ยวเฉพาะภายในอุทยานก็พากันกลับแล้ว แต่หลวงพ่อเล่นคิดจะเที่ยวรอบเมืองเลยหรือครับ”
ตกลงราคากันได้ในอัตรา 500 บาท ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง คิดแล้วก็น่าจะพอสมควรชั่วโมงละ 100 บาท เขาพาไปเรื่อยๆและยังเป็นไกด์บรรยายให้ฟังว่า วัดไหนมีความสำคัญอย่างไร จัดงานเผาเทียนเล่นไฟกันตรงไหน ซึ่งในช่วงเวลานั้นฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะจำไม่ได้ว่าวัดไหนเป็นวัดไหน วันนี้ขอถ่ายภาพไว้ก่อน กลับไปศึกษาค้นคว้าอีกทีว่าวัดไหนมีโบราณวัตถุที่สำคัญอย่างไรบ้าง โอกาสหน้าค่อยกลับมาค้นคว้าอีกที
ไปเที่ยวชมโบราณสถานหรืออาจจะเรียกว่าวัตถุโบราณก็พอได้ เพราะสถานที่แต่ละแห่งอย่างน้อยต้องมีอายุ 600 ปีขึ้นไป เพราะบางแห่งสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ในหนังสือนามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทยระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัยเสวยราชสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 1792 ถึงปีใดไม่ปรากฎ(ประเสริฐ ณ นคร,นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา,2554,หน้า 19)
หากนับถึงปัจจุบันอาณาจักรสุโขทัยก็มีอายุ 766 ปีแล้ว แต่ละรัชกาลก็ได้สร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญไว้เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ
พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเจริญรุ่งเรื่องในอาณาจักรสุโขทัย หลังจากพ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 1820 ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีพระสงฆ์เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ประเทศศรีลังกา และบวชแปลงใหม่กลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ มีการนิมนต์พระศรีลังกามาตั้งสำนักเผยแผ่จนได้รับความเคารพนับถืออย่างรวดเร็ว จึงได้อาราธนาพระมหาสังฆราชมาพำนัก ณ วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ที่สร้างในศรีลังกาขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชด้วย พระสงฆ์ก็มีสองคณะคือคณะสงฆ์เดิม และคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ต่อมาก็รวมเป็นนิกายเดียวกัน ส่วนพระสงฆ์และศิลปะมหายานก็เสื่อมสูญไป ศิลปะแบบศรีลังกาก็เข้ามาแทน” (สุชาติ หงษา,ดร. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน,กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2549,หน้า 106)
อาณาจักรสุโขทัยทั้งผู้คนและเจ้านับถือพระพุทธศาสนา จากหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวว่า “สังฆราชปราชญ์เรียนปิฎกตรัยหลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุแต่เมืองนครศรีธรรมราช” แสดงให้เห็นถึงการนับถือพระพุทธศาสนาแบบลังกาที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นผู้ที่เผยแผ่ นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลเรื่องการถือศีล หลักการทำบุญทำทาน สร้างวัดสร้างเจดีย์ ไม่เน้นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เหมือนสมัยหลังๆ
นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ในเมืองสุโขทัยยังปรากฏการนับถือผี ซึ่งถือเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ ดังจะเห็นได้จากข้อความที่กล่าวถึง “พระขพุงผี” อันเป็นผีหรือเทพประจำภูเขา เป็นใหญ่กว่าผีทั้งปวง ทำหน้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองเมืองสุโขทัย (ภาสกร วงศ์ตาวัน,ประวัติศาสตร์ไทย,กรุงเทพฯ: ยิปซี,2555,หน้า 177)
เจดีย์ในสมัยสุโขทัยจึงมีกลิ่นไอของลังกา ที่เห็นได้ชัดแห่งหนึ่งคือวัดช้างล้อม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง มีบันทึกไว้ที่ป้ายหน้าวัดความว่า “วัดช้างล้อม เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในเขตนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก มีแนวคูน้ำล้อมรอบ อาณาบริเวณวัดอยู่ทั้งสี่ด้านกว้างประมาณ 100 เมตร ยาว 157 เมตร ปัจจุบันคูน้ำด้านทิศใต้ลบเลือน เหลือชัดเจนเพียงสามด้าน ภายในบริเวณวัดซึ่งล้อมรอบด้วยคูน้ำ เป็นที่ตั้งของกลุ่มโบราณใหญ่และเล็ก ซึ่งโบราณสถานกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาวงศ์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ ที่ฐานมีช้างปูนปั้นโผล่ครึ่งตัว อยู่โดยรอบฐานเจดีย์ จำนวน 36 เชือก มีระเบียง เสาเป็นศิลารอบเจดีย์ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีวิหารและเจดีย์รายด้านข้างของวิหาร.......องค์ ส่วนโบราณสถานกลุ่มเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโบราณสถานกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยโบสถ์ที่มีคูน้ำล้อมรอบ และเจดีย์รายขนาดเล็ก 2 องค์ ด้านหลังโบสถ์
วัดนี้ได้พบศิลาจารึกวัดช้างล้อมพุทธศักราช 1929 เป็นจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทยราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องราวการออกบวชของพนมไสดำ และการสร้างวัตถุในศาสนา
วันนั้นอยู่ที่วัดช้างล้อมนานที่สุด เพราะชื่นชมกับความงดงามของศิลปะ โดยเฉพาะช้างที่อยู่บนฐานกลางขององค์เจดีย์ มีลักษณะงดงามอ่อนช้อย ประหนึ่งเหมือนช้างที่ยังมีชีวิต บางตัวมีดวงตาที่กำลังเพ่งมองจ้องมาที่นักเดินทาง ซึ่งวันนั้นมีเพียงพระภิกษุผู้หลงทางเพียงรูปเดียว ไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นอีกเลย จึงเป็นโอกาสที่จะได้นั่งพัก และพิจารณาโดยรอบองค์เจดีย์อย่างละเอียด
บรรพบุรุษสร้างสรรค์ศิลปะอันทรงคุณค่าไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า หากไม่อนุรักษ์ไว้ สถานที่ที่เคยมีความสำคัญอาจจะแปรสภาพเป็นบ้านเรือนตลอดจนแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ประเทศไทยมีศิลปะมีโบราณสถานอันล้ำค่าให้ได้ศึกษาค้นคว้า หากมีเวลาก็ควรเดินทางไปเยี่ยมชมสักครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/07/58
อ้างอิง
ประเสริฐ ณ นคร.นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา,2554.
ภาสกร วงศ์ตาวัน.ประวัติศาสตร์ไทย.กรุงเทพฯ: ยิปซี,2555.
สุชาติ หงษา,ดร. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน.กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,2549.