ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             ในช่วงที่ฟ้าฝนเข้าใจยากเหมือนจะตกแต่ไม่ตก อากาศก็หนาวๆร้อนๆ ทำให้อารมณ์แปรปรวนไปตามสภาพอากาศ  คิดอะไรไม่ค่อยออก ชีวิตเหมือนไม่มีอนาคต เพราะอนาคตนั้นเหมือนถูกลบออกจากความคิด กลายเป็นเหมือนคนไม่มีอนาคต อาการแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องของคนวัยใกล้ชราที่ชาวบ้านมักจะเรียกว่าอาการของคนวัยทอง ที่มักจะย้อนคิดถึงอดีตที่เคยมีความสุข นึกถึงวันวานที่หวานอยู่ ไม่อยากมองไกลไปในอดีต เพราะชีวิตเหมือนกับกำลังเดินเข้าใกล้ความตายเข้าไปทุกที บางคนอยู่กับปัจจุบันที่แสนหดหู่ หาที่พึ่งพิงที่แท้จริงไม่ได้ มีแต่นึกถึงอดีตที่หวานชื่นในค่ำคืนที่แสนสุข ที่พอจะทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางลงไปได้บ้างแม้เพียงชั่วครู่ก็ยังดี แต่หากสามารถทำใจให้อยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุขได้ พอจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีความสุขอย่างแท้จริง

 
             สมมุติว่าบ้านกำลังถูกไฟไหม้ สิ่งแรกที่นำคิดจะนำไปด้วยคืออะไร คงตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะต้องดูองค์ประกอบอีกหลายอย่าง อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดจำเป็นที่สุดที่ขาดไม่ได้ เราก็น่าจะนำเอาสิ่งนั้นไปก่อน หากไม่สามารถนำไปได้ ก็ต้องดูว่าอะไรที่อยู่ใกล้ที่สุดที่พอจะนำไปได้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเราจริงๆหรืออาจจะไม่มีประโยชน์อันใดเลยก็ได้

             สมัยเป็นเด็กจำได้ว่าบ้านที่อยู่ข้างๆบ้านถูกไฟไหม้ ชาวบ้านต่างก็ช่วยกันขนสิ่งของออกมาจากบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ นำมากองรวมกันไว้ในที่ที่คิดว่าปลอดภัย ท่ามกลางเสียงร้องให้ช่วยกันดับไฟ ช่วยขนสิ่งของทรัพย์สมบัติให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ แต่ทว่ายายเจ้าของบ้านอายุกว่าเจ็ดสิบปีแล้ว นอนป่วยมานานหลายปีตามปรกติขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ในท่ามกลาวเปลวไฟที่กำลังลุกโพลงอยู่นั้น ยายที่กำลังป่วยได้แบกโอ่งมังกรเดินผ่าเปลวไฟออกมาหน้าตาเฉย แต่พอมาถึงผู้คนที่กำลังมุงดูอยู่ ยายก็ไม่สามารถนำโอ่งลงจากบ่าได้ ต้องหาคนมาช่วย ต่อมาได้กลายเป็นเรื่องเล่าของชาวบ้านมานานหลายปี แม้ปัจจุบันยายคนนั้นจะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่หากเกิดไฟไหม้เมื่อไหร่ก็มักจะนึกถึงยายพิการแบกโอ่งคนนั้นคนมาทุกที พร้อมทั้งคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่ายายแกเอาแรงมาจากไหน หรือยายกำลังคิดอะไรอยู่ สิ่งของมีค่าที่สุดที่คิดได้ตอนนั้นทำไมไม่เป็นอย่างอื่นที่อาจจะไม่มีขนาดใหญ่โตนัก แต่นี่ยายกลับแบกโอ่งที่แม้จะถูกไฟเผาก็อาจจะไม่เสียหายอะไรเลย
             พลังแห่งความคิด ชีวิตของผู้เอาตัวรอดมีอยู่พร้อมมูลภายในตัวมนุษย์เอง แต่เพราะเราถูกความเชื่อและความเคยชินต่างๆผูกมัดไว้ จึงไม่สามารถสลัดความเชื่อที่เป็นเหมือนเครื่องผูกให้พ้นจากพันธนาการไปได้ พลังภายในของมนุษย์ ศักยภาพของมนุษย์มีอยู่ แต่เราไม่ได้นำมาใช้ ในที่สุดพลังนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและหายไปพร้อมกับชีวิตก็ถูกแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น

             เรื่องเรือนถูกไฟไหม้มีปรากฏในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลครั้งหนึ่งมีเทวดา มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้กล่าวคาถาในสำนักพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏในอาทิตตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/136/35) ความว่า “เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไปย่อมไหม้ในไฟนั้นฉันใด  โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก(ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว
            ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้
             อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์
             มนุษย์ถูกชราและมรณะเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา คำว่า “ชรา” แปลว่า แก่ ความคร่ำครา ความทรุดโทรม ส่วนคำว่า “มรณะ” แปลว่าความตาย
             หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ตัวเราเองก็ถูกไฟไหม้อยู่ทุกเวลานาที เพราะความแก่ ความคร่ำคร่า ความทรุดโทรมมาเยือนทุกวัน หากเป็นวัยเด็กอาจจะเรียกว่าความเจริญเติบโต เป็นวัยหนุ่มสาวก็อยากให้สภาพแห่งความสวยความงามคงอยู่ พอล่วงเข้าสู่วัยชรา สภาพความทรุดโทรมปรากฏให้เห็นมากขึ้นและค่อยๆ แจ่มชัดขึ้น แม้จะพยายามปกปิดด้วยการปรุงแต่งภายนอกอย่าไร แต่สภาพทั้งภายนอกและภายในก็จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

             ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่แสวงหามาตลอดชีวิต แต่เมื่อเราจะต้องจากโลกนี้ไปกลับไม่สามารถนำอะไรติดตัวไปได้เลย แม้แต่สิ่งที่เรารักมากที่สุดก็ต้องทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของคนอื่นต่อไป ธรรมชาติเป็นไปดั่งนี้
             บาปและบุญซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเราไปในภพหน้า จะมัวช้าอยู่ไยรีบทำบุญไว้เถิด แต่ว่าการทำบุญนี่ทำอย่างไร บริจาคทานเท่านั้นหรือ หรือว่ายังมีวิธีการอย่างอื่นอยู่อีก มีคำตอบอยู่ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร  อังคุตตรนิกาย  อัฏฐกนิบาต  (23/126/245  ) แสดงวิธีการทำบุญไว้โดยย่อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้ สาม ประการเป็นไฉน คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน  บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
             บุญญกิริยา หรือ “ปุญฺญกิริยา” ในภาษาบาลี มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ปุญฺญกมฺม” แปลว่าการทำบุญ การกระทำอันเป็นไปเพื่อความดี
             วัตถุ หรือ “วตฺถุ” ในภาษาบาลี แปลว่า สิ่งของ เรื่อง พื้นที่
             เมื่อนำสองคำมารวมกันกลายเป็น “บุญกิริยาวัตถุ” หรือ“ปุญฺญกิริยาวตฺถุ” แปลความได้ว่า สิ่งของ เรื่อง หรือพื้นที่ในการทำบุญ ที่ได้ใจความตรงความหมายที่สุดน่าจะเป็นคำว่า “เรื่องของการทำบุญ เรื่องของการกระทำอันเป็นไปเพื่อความดี
             หากพิจารณาให้ดีทุกคนสามารถทำบุญได้ทุกโอกาส หากพอมีทรัพย์สมบัติก็บริจาคทานเพื่อกำจัดความตระหนี่ หากไม่มีทรัพย์สินเงินทองก็รักษาศีล และหากต้องการบุญที่ยิ่งขึ้นไปก็ต้องเจริญภาวนาเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในสรรพสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง วิธีการทำบุญทั้งสามนั้นเหมือนเป็นทางเลือกให้แก่คนทุกประเภทให้เลือกทำได้

             การทำบุญแต่ละอย่างมีอานิสงส์แตกต่างกัน  ดังที่แสดงอานิสงส์ไว้ตอนหนึ่งว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง 4 ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์”
             ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเราได้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่  ญาติพี่น้องทั้งหลายย่อมพึ่งพาอาศัยได้เพียงบางครั้ง แต่เมื่อเราสิ้นลมหายใจละจากโลกนี้ไปแล้วสิ่งภายนอกทั้งหลายก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้ มีแต่บุญกรรมที่เรากระทำไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั่นจะเป็นที่พึ่งของเราได้ ดังพุทธภาษิตที่แสดงไว้ในอันนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/140/45) ความว่า “ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา   อาหารนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นบุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า”

             ทุกคนมีโอกาสในการทำบุญเท่าเทียมกัน จะยากดีมีจนอย่างไรก็สามารถเลือกทำดีได้ตามสมควรแก่ฐานะและโอกาส โลกและธรรมชาติมีความเที่ยงตรงไม่เอนเอียงไปตามกระแสของชาวโลกที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ หากอยากได้บุญแล้วไม่ทำ เมื่อถึงเวลาตายใครก็ช่วยไม่ได้

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน

15/07/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก