ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           มีใครบางคนเคยบอกว่า การเดินทางคือชีวิต หรือชีวิตคือการเดินทาง แม้ว่าตอนนั้นจะไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ เพราะชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น หากจะเป็นการเดินทางที่คนทั่วไปเข้าใจคือการย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง อาจไปแล้วกลับหรือไปแล้วตั้งรกรากอยู่ในสถานที่ใหม่ การเดินทางก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต แต่หากจะนิยามความหมายของคำว่าการเดินทางใหม่ว่าหมายถึงการเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง ชีวิตเปลี่ยนไปตามวัย จากเด็กเดินทางเข้าสู่วัยหนุ่มสาว จากนั้นเข้าสู่วัยชรา และสิ้นสุดการเดินทางเมื่อสิ้นลมหายใจ นิยามของคำว่า การชีวิตคือการเดินทางก็คงไม่ผิดนัก การเดินทางคือส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็กำลังเดินทางไปสู่ความตายด้วยกันทั้งนั้น

           ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะต้องมีการเดินทางบ้าง การจะอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งนานๆนั้นมิใช่สิ่งที่สบายนัก  สมัยเมื่ออุปสมบทใหม่ๆมักจะไม่ได้อยู่ที่ไหนนานๆ มักจะออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป เช่นวัดของครูบาอาจารย์ต่างๆ พักอยู่ครั้งละอาทิตย์หรือเดือนหนึ่งจากนั้นก็ออกเดินทางต่อไป หากไม่มีวัดอยู่ในเส้นทางก็จะอาศัยป่าช้าประจำหมู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อนยังมีป่าช้าที่เป็นป่าสาธารณะสำหรับประกอบพิธีศพของชาวบ้าน ตามปรกติผู้คนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว นอกจากเวลาที่มีงานศพ ป่าช้าจึงเหมาะกับพระพเนจรร่อนเร่หรือหากจะเรียกให้ไพเราะหน่อยคือพระธุดงค์ แต่สมัยปัจจุบันป่าช้าถูกย้ายเข้าไปอยู่ในวัด โดยมีเมรุเผาศพที่ทันสมัย  วิถีชีวิตของพระธุดงค์ก็ดูเหมือนจะเหลือน้อยลง ยิ่งมีข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมของพระสงฆ์บางกลุ่ม ชาวบ้านก็เริ่มไม่ไว้ใจพระสงฆ์ เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นพระจริงหรือปลอมกันแน่ ดังนั้นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพระสงฆ์ในปัจจุบันคือวัดหรืออารมแห่งใดแห่งหนึ่ง การจะเดินทางท่องเที่ยวตามรอยของครูบาอาจารย์เหมือนในสมัยอดีตนั้นเริ่มจะมีความยุ่งยากมากขึ้น

           เมื่อมีความจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งนานๆ ความเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจก็มักจะมาเยือน แม้จะเดินทางทุกวัน แต่ก็เป็นการเดินทางสายเก่า เดินทางไปทำงานนอกวัด เที่ยงไปเย็นก็กลับ เป็นไปอย่างนี้เกือบทุกวัน จึงไม่อาจจะนับได้ว่าเป็นการเดินทางอันใด หรืออาจจะเรียกว่าการเดินทางที่จำเจก็คงพอได้
           อาทิตย์ที่ผ่านมาหลวงพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสเอ่ยปากชวนว่าไปสังขละบุรีไหม ไปไหว้พระ ไปวัดวังวิเวการาม ไปดูสะพานไม้ ช่วงนี้น้ำไม่มากคงได้เห็นโบสถ์เก่าวัดเก่าได้อย่างชัดเจน
           ตอบตกลงทันทีโดยที่แทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิด ไม่ถามเหตุผล ไม่ถามอะไรให้มากความ ถือกล้องได้ก็ออกเดินทางในคืนนั้นเลย ตั้งใจไปถ่ายภาพวิถีชีวิตของผู้คนและธรรมชาติของแม่น้ำ ลำคลอง ท้องนาและป่าเขา ในวันที่กำลังเหงาและเกิดความเบื่อหน่ายในความซ้ำซากจำเจของชีวิต การได้ออกเดินทางบ้างคงทำให้ลืมชีวิตจริงได้บ้าง อย่างน้อยเพียงชั่วคราวก็ยังดี
           พอรถผ่านเมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่อำเภอสังขละบุรีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร  ฝนก็ตกลงมาตลอดทาง การจราจรจึงต้องระมัดระวังให้มากกว่าปรกติ พอไปถึงสะพานไม้อำเภอสังขละบุรี ฝนก็ยังคงพรำไม่ขาดสาย มีผู้คนเดินทางผ่านสะพานไม้ไปยังฝั่งตรงข้ามเพียงไม่กี่คน เด็กหญิงสองสามคนเดินขายดอกไม้ “อันละสิบบาทค่ะหลวงพ่อ วันนี้ยังขายไม่ได้สักอันเลย”

           เด็กหญิงในชุดพื้นบ้านมอญเชิญชวนให้ซื้อดอกไม้จึงแวะซื้อมาหลายดอก จากนั้นก็ขอถ่ายภาพของเด็กทั้งสอง พวกเธอพอได้ขายสินค้าก็อารมณ์ดี โพสท่าให้ถ่ายภาพอย่างไม่ขัดขืน เสน่ห์ของการถ่ายภาพวิถีชีวิตผู้คนอย่างหนึ่งคือการถ่ายภาพที่ตัวแบบไม่รู้ตัว จึงจะได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ฝนตกพรำอย่างนี้ ภาพอะไรก็ขอถ่ายไปก่อน ขอเพียงให้ได้ภาพก็พอใจแล้ว ถือร่มกันฝนถ่ายภาพเป็นบรรยายที่แปลกแตกต่างไปอีกแบบ
           สะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เชื่อมระหว่างอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชาวมอญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สะพานอุตตมานุสรณ์” โดยตั้งชื่อตามนามของพระมาหาเถระรูปหนึ่งแห่งวัดวังวิเวการามคือหลวงพ่ออุตตมะหรือพระราชอุดมมงคล ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการสร้าง โดยแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีทั้งชาวไทย มอญ กระเหรี่ยง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 สะพานยาว 455 เมตร เป็นสะพานที่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของประชาชนอย่างแท้จริง อาจจะเรียกสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานแห่งศรัทธา” คงไม่ผิดจากความจริงนัก  แม้จะได้รับซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์คือสะพานไม้ไว้

           สะพานไม้แห่งสังขละบุรีมีความยาวเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็ง อยู่ใกล้ๆวัดมหาคันธายง เมียนมาร์ ซึ่งเป็นวัดที่จัดการศึกษาปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงของพม่า มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาประมาณพันห้าร้อยรูป
           สะพานไม้แห่งเมืองสังขละในตอนเช้ามีผู้คนเดินสัญจรไปมา เด็กๆมักจะมีสินค้ามาเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว โดยนำสินค้าเทินไว้บนศีรษะ แม้แต่หม้อข้าวก็ยังสามารถเทินไว้บนศีรษะบางคนถึงสิบอัน เดินไปเดินมาโดยไม่ตกลงมาข้างล่าง
           แม่น้ำซองกาเลียในวันที่เดินทางไปยังมีน้ำน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเขาแหลมมีน้อย จนอาจจะเรียกได้แห้งขอดเลยทีเดียว จึงได้เห็นสภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ประกอบอาชีพตามท้องน้ำ อยู่บนแพล่องเรือไปตามแม่น้ำ  เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำมาหากินกันตามีตามได้
           ตอนนั้นคิดถึงชีวิตตอนเด็กที่คุณตา คุณยายก็ประกอบอาชีพรประมงตามแพนี่แหละ จนสามารถหาเงินส่งเสียหลานชายให้ได้เรียนหนังสือ    วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็มักจะไปนอนที่แพและยกข่ายหาปลาที่ชาวบ้านถิ่นนั้นเรียกว่า “สะดุ้ง” เพียงแต่ให้ช่วงเวลาผ่านไปห้านาทีสิบนาทีก็ยกขึ้นครั้งหนึ่ง พวกปลาหลงทางแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำก็มักจะติดอวนหล่นลงไปรวมกันอยู่ที่อุปกรณ์สำหรับเก็บปลาไว้ บางวันได้ปลาหลายกิโลกรัม ตอนเช้าก็จะมีคนมารับซื้อถึงเรือนเรือนแพ บางวันได้หลายร้อยบาท ผู้เขียนหาเงินด้วยวิธีนี้จนสามารถเรียนจบชั้นมัธยมได้ อาจจะเรียกได้ว่าเพราะเรือนแพนี่แหละที่ทำให้ได้เรียนหนังสือ สามคืนก็มีเงินพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในหนึ่งหรือสองอาทิตย์ เงินหมดก็กลับมาทำงานหาปลาเหมือนเดิม

           แต่ที่สังขละบุรีเรือนแพแม้จะมีการหาปลาอยู่บ้าง แต่หน้านี้น้ำน้อยจึงงดทำการประมง เปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนขับเรือนำเที่ยว “หนึ่งวัดสามร้อย สามวัดห้าร้อยครับ” คนขับเรือเสนอราคาของการนำเที่ยว วัดแต่ละแห่งอยู่กันคนละคุ้งน้ำ อุโบสถ์เก่าถูกน้ำท่วม จนไม่สามารถจะประกอบศาสนกิจได้ จึงต้องย้ายวัด แต่ทว่าซากเก่าของอาคารที่เคยเป็นศาสนสถานกลับกลายเป็นเสน่ห์ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชม
           ในความเจริญของการสร้างเขื่อนแม้จะทำลายสภาพภูมิทัศน์ของสถานที่ แต่ก็ได้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ผู้คนได้มีน้ำใช้เพียงพอในการทำการเกษตร การประมง และสร้างกระแสไฟฟ้า โลกนี้ไม่ได้มีด้านเดียว ได้อย่างเสียอย่าง ต้องเลือกเอาว่าได้กับเสียอะไรจะมากกว่ากัน
           หากไม่มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม อำเภอสังขละบุรีอาจจะเป็นไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แต่วันนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางมาทัศนาสะพานและล่องเรือเที่ยววัดเก่าที่ถูกน้ำท่วม กลายเป็นมนต์เสน่ห์ไปอีกแบบ

           การเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปเป็นความเพลิดเพลินของชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะได้สัมผัสกับความแปลแตกต่างจากความเคยชิน ส่วนการเดินทางไปบนเส้นทางสายเก่าแม้จะเดินทางทุกวันก็เป็นเพียงวิถีชีวิตที่เคยชิน เพราะไม่ได้มีความแปลกแตกต่างแต่อย่างใดเลย แม้จะเป็นเพียงการเดินทางที่ไม่ไกลนัก เช้าไปเย็นกลับ แต่ทว่าก็ได้บันทึกภาพไว้ในความทรงจำที่ไม่มีวันจางหายไปไหน นอกจากนั้นยังมีภาพธรรมชาติงามๆไว้ให้ได้ระลึกถึงอีกด้วย
           การเดินทางคือชีวิตหรือชีวิตคือการเดินทาง บางครั้งเดินทางไกล บางครั้งเดินทางใกล้ ซึ่งเป็นการเดินทางภายนอก ได้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้พบกับผู้คน ส่วนการเดินทางภายนอกซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีจะมองไม่เห็น มนุษย์ทุกคนต่างก็กำลังเดินทาง ไปตามวันเวลา เด็กเดินทางสู่ความเป็นหนุ่มสาว ผ่านไปสู่วัยกลางคน และเขาสู่วัยชรา จากนั้นก็สิ้นสุดการเดินทางเมื่อมรณภัยมาเยือน การเดินทางคือส่วนหนึ่งของชีวิต ธรรมดาของชีวิตเป็นไปดั่งนี้ แต่ทว่าก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้าย ขอใช้เวลาที่เหลืออยู่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆตามสมควรแก่โอกาส ใช้เวลาที่เหลือให้คุ้มค่า ก่อนที่จะเดินผ่านไปจากโลกใบนี้

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
30/06/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก