บุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต ที่มักจะมีภาพปรากฏตัวกับผู้นำประเทศหรือบุคคลสำคัญของโลกในวาระต่างๆ นึกว่าวิถีปฏิบัติคงต้องมีความเข้มงวด มีผู้คอยคุ้มครองดูแลอย่างใกล้ชิด ในแต่ละวันคงมีกำหนดเวลานัดหมายบุคคลสำคัญจนแทบจะหาเวลาความเป็นส่วนตัวไม่ได้ เมื่อบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีกำหนดการเข้านมัสการและสนทนาธรรมกับองค์ดาลามะนั้น จึงคิดในใจก่อนเดินทางไปในครั้งนั้นว่า ท่านคงส่งตัวแทนรูปใดรูปหนึ่งออดกมาต้อนรับแทน
ในช่วงเวลาที่กำลังถูกตรวจค้นอุปกรณ์ต่างๆก่อนที่จะเข้าสู่สถานที่ที่มีชื่อว่า “Tibetan Sos Youth Hostel,Rohini”กรุงเดลี ประเทศอินเดีย ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะได้เข้าพบองค์ดาไลลามะจริงๆ ศูนย์พักพิงของคนหนุ่มสาวทิเบตแห่งนี้เป็นอาคารธรรมดาไม่ได้มีรูปลักษณ์พิเศษแต่ประการใด เป็นแหล่งที่พักเพื่อการศึกษาของคนหนุ่มสาวทิเบต มีคำขวัญที่เขียนไว้บนประตูทางเข้าง่ายๆว่า “Come for study, Go for serve” น่าจะแปลตรงตามตัวอักษรว่า “มาเพื่อศึกษา ออกไปเพื่อบริการ” ฟังแล้วเข้าใจความหมายได้ทันทีไม่ต้องมีคำอธิบายขยายความอะไรกันอีก
สถานที่เข้าพบองค์ดาไลลามะอยู่บนชั้นห้าของอาคาร ยังดีที่วันนั้นอากาศหนาวเย็น การเดินขึ้นอาคารสูงจึงไม่มีปัญหา นั่งรอไม่นานก็มีเสียงแจ้งมาว่าองค์ดาไลลามะกำลังเดินขึ้นอาคารมาแล้ว ผ่านไปสักพักท่านก็เดินเข้ามาทรุดนั่งบนโซฟา จากนั้นก็มีพิธีการบ้างเล็กน้อย โดยได้กราบเรียนว่ากลุ่มที่มาเข้านมัสการครั้งนี้คือคณาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประเทศไทย เมื่อได้ยินคำว่า “ประเทศไทย” ท่านขอตัวสักครู่เดินออกจากห้องใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทีก่อนจะเข้ามาใหม่ด้วยเท้าเปล่า องค์ดาไลลามะถอดรองเท้าวางไว้ด้านนอก ท่านกล่าวสั้นๆว่า “พระไทยนิยมเดินเท้าเปล่า”
องค์ดาไลลามะ ได้ให้เวลาในการสนทนาตอบข้อซักถามนานกว่าหนึ่งชั่วโมง องค์ดาไลลามะกล่าวกับคณะ มมร ว่า เคยมาเมืองไทยสองครั้ง เคยเข้าพบสมเด็จพระญาณสังวร และเคยไปเยี่ยมท่านพุทธทาส ที่สวนโมกข์ ท่านเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า ยังประทับใจจนถึงทุกวันนี้ ท่านพุทธทาสอยู่กับต้นไม้และก้อนหิน อยู่กับธรรมชาติ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงอยู่แบบง่ายๆอย่างนี้
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ซักถามปัญหา ตัวแทนนักศึกษาปริญญาเอกได้กราบเรียนถามว่า “อยากทราบแนวทางการปฏิบัติของวัชรยานที่ง่ายที่สุดคืออะไร”
องค์ดาไลลามะ ตอบแบบง่ายๆเหมือนกันว่า “อย่าให้ต้องถึงวิธีปฎิบัติตามแบบของวัชรยานเต็มขั้นเลย แม้แต่การดำเนินชีวิตในแต่ละวันยังจำไม่ค่อยได้ เพราะอะไร เพราะความสืบต่อ ความต่อเนื่อง ในแต่ละเวลา แต่ละนาทีแทบจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง วิธีที่ง่ายที่สุดในการปฏิบัติเริ่มต้นที่การพิจารณาให้เห็นอนิจจตา คือความไม่เที่ยง จากนั้นให้พิจารณาให้เห็นทุกขตา คือความเป็นทุกข์ จากนั้นพิจารณาสุญญตา ความว่างเปล่าจากตัวตน สุญญตา ไม่ได้หมายถึงความไม่มี แต่หมายถึงความว่างเปล่าจากการยึดมั่นถือมั่น และข้อสุดท้ายคือการพิจารณาให้เห็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายเป็นเพียงสมมุติ ดังที่นางวชิราภิกษุณีแสดงแก่มารว่า “ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ” (มีข้อความในวชิราสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/554/190) พระไตรปิฎกฉบับหลวงภาษาไทย)
โปรดสังเกตการณ์พิจารณาองค์ดาไลลามะใช้คำว่า “อนิจจตา ทุกขตา สุญญตา และอนัตตา” ในขณะที่คำสอนที่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทคุ้นเคยมีเพียงสามประการคือ “อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตา” ส่วนคำว่า “สุญญตา” ผู้ที่สอนเน้นเป็นพิเศษอีกท่านหนึ่งคือท่านพุทธทาส ซึ่งหลักคำสอนเกี่ยวกับสุญญตาเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน
องค์ดาไลลามะสังกัด “นิกายเกลุก” หรือ “เกลุกปะ” นิกายหมวกเหลือง มีหลักคำสอนและแนวปฏิบัติที่ใกล้เคียงกับนิกายเถรวาท มีการศึกษาพระไตรปิฎก ปัจจุบันเป็นนิกายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติธรรมสั้นๆว่า “ต้องรู้ตามความเป็นจริง ทำใจให้สงบ มีปัญญา และพิจารณาให้เห็นความสิ้นไป” พิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ไม่นานโพธิปักขิยธรรม(องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้) ก็จะปรากฎขึ้นเองเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
การดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันอย่างมีความสุขนั้น องค์ดาไลลามะสรุปไว้สั้นๆว่า “ต้องมีจิตใจแห่งความกรุณา มีการให้อภัย และมองสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยสายตาแห่งปฏิจจสมุปบาท ทุกสรรพสิ่งต้องอิงอาศัยกัน เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี โลกมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ศัตรูที่สำคัญที่สุดไม่ได้เกิดขึ้นจากภายนอก แต่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเราเองต่างหาก หากเอาชนะศัตรูภายในได้ ก็เหมือนกับชนะคนทั้งโลก”
การที่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างองค์ดาไลลามะได้สละเวลามาสนทนาธรรมอธิบายธรรมไขข้อข้องใจให้กับคนธรรมดาสามัญจากประเทศที่แสนจะธรรมดา นับว่าเป็นช่วงเวลาที่จิตใจเอิบอิ่มเป็นที่สุด ก่อนออกเดินทางนึกว่าท่านเพียงแต่จะปรากฎตัวให้เห็นทำตามพิธีกรรมจากนั้นก็ขอเวลาไปพบกับแขกกลุ่มอื่นๆ แต่กาลกลับกลายเป็นตรงกันข้ามองค์ดาไลลามะกลับนั่งสนทนาธรรมอย่างอารมณ์ดี พร้อมทั้งถามนั่นถามนี่เหมือนหลวงปู่ใจดีที่ได้พบกับคนคุ้นเคย ทั้งๆที่ผู้ที่นั่งอยู่ตรงหน้านั้นพึ่งเคยได้พบกันครั้งแรก
ก่อนออกจากอาคารแห่งนั้นได้บันทึกถ้อยคำบนประตูทางออกไว้ในจิตใจว่า “Come for study, Go for serve” แม้เวลาศึกษาเรียนรู้จะน้อย แต่เวลาแห่งชีวิตยังเหลืออีกมาก หันกลับไปมองป้ายหน้าประตูอีกครั้ง ทางเข้าและทางออกอยู่ที่เดียวกัน มาทางไหนก็กลับไปทางนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/02/58