งานทอดกฐินที่วัดศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานีในวันนั้น ก่อนพิธีถวายกฐินงานจะเริ่มขึ้น เจ้าภาพได้จัดขบวนกลองยาวบรรเลงเพลงรำวงสนุกสานเพลิดเพลินเจริญใจ ผู้คนที่มาร่วมงานเมื่อได้ยินเสียงปี่กลอง พิณ แคนก็เริ่มออกอาการรำฟ้อนไปรอบๆศาลาการเปรียญ ไม่เลือกว่าว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ใครที่พอมีแรงก็จะเข้าร่วมขยับแขนขาฟ้อนรำไปตามท่วงทำนองแห่งเสียงดนตรี ทุกคนมีรอยยิ้มแห่งความสุขที่ได้มาร่วมงาน บุญจากการทอดกฐินก็ได้ ใจก็เพลิดเพลิน
เคยถามหลวงพ่อที่นำกฐินมาทอดว่า “ไม่มีได้ไหมขบวนแห่กลองยาว ทำบุญเงียบๆเดินแห่องค์กฐินอย่างสงบ และทอดถวายให้เป็นไปตามระเบียบวิธีแห่งการทอดกฐิน ซึ่งวัตถุที่สำคัญที่สุดแห่งกฐินคือผ้าผืนเดียว ทอดถวายเสร็จก็จบพิธี”
หลวงพ่อบอกว่า “เคยลองทำดูแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ค่อยชอบใจ พวกเขาอยากมาร่วมงาน แต่เมื่อไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำ ก็จะไม่ค่อยมา อย่าลืมว่าสิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่ในการทอดกฐินในสมัยปัจจุบันคือการหาทุนทรัพย์ในการบูรณะซ่อมแซมศาสนวัตถุที่ทรุดโทรมเช่นศาลาการเปรียญ กุฏิ วิหาร พระอุโบสถเป็นต้น ปัจจัยส่วนหนึ่งได้มาจากการทอดกฐินแทบทั้งนั้น การจะให้คนเกิดศรัทธาจนยินดีบริจาคทรัพย์ได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เรียกว่าทำบุญได้ความสุข มาร่วมงานได้ความสนุก บุญก็ได้ ใจก็เพลิดเพลิน”
ความสนุกสนานเพลิดเพลินจึงเป็นเสน่ห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทย มีงานที่ไหนก็มักจะมีมหรสพ มีดนตรีบรรเลงเพลงให้คนได้สนุกสนานไปด้วย
มูลเหตุแห่งกฐินเกิดขึ้นจากการที่พระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวันมหาวิหาร มีข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (5/95/128) ความว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน 30 รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียงหกโยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็ม ไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุเหล่านั้นให้กรานกฐิน (5/96/129) ความว่า “ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ (1) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (2) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (3) ฉันคณะโภชน์ได้ (4) ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (5) จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ
คำว่า “กรานกฐิน” เป็นพิธีที่สงฆ์มอบถวายผ้าแก่พระภิกษุผู้สมควรแก่ผ้ากฐิน โดยภิกษุผู้ฉลาดประกาศให้สงฆ์ทราบในท่ามกลางสงฆ์ มีกรรมวาจาให้ผ้ากฐินว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน”
ตามพุทธานุญาตในครั้งแรกเกิดขึ้นเพราะภิกษุที่เดินทางในหน้าฝนย่อมมีผ้าสงบ จีวรเก่า ขาด ชำรุดไปบ้าง สมควรจะต้องเปลี่ยนผ้าจีวรผืนใหม่ เจตนาแห่งกฐินในสมัยพุทธกาลเป็นเช่นนี้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปวัตถุประสงค์ของกฐินก็เปลี่ยนไป ถึงจะมีผ้ากฐินเป็นสาระสำคัญของงานกฐิน แต่ทว่าปัจจัยที่เกิดจากงานทอดกฐินก็มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การจัดงานจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้คน จึงต้องมีความเพลิดเพลินเข้ามาเพื่อเรียกร้องให้คนมาร่วมงาน
ความเพลิดเพลินประกอบโลกไว้ โลกถูกความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ ดังที่มีแสดงไว้ในพันธนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/187/55) ความว่า “โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “นนฺทิสมฺพนฺธโน โลโก วิตกฺกสฺส วิจารณํ
ตณฺหาย วิปฺปหาเนน สพฺพํ ฉินฺทติ พนฺธนนฺติ ฯ
หากโลกนี้ไม่มีเสียงดนตรี ไม่มีความสนุกสนานเพลิดเพลินเจริญใจ ชีวิตของชาวบ้านทั่วไปคงอยู่ด้วยความแห้งแล้งในหัวใจ ทุกวันนี้วงการบันเทิงจึงทำให้คนเพลินใจ แต่หากมีมากเกินไปก็จะกลายเป็นความหลง ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความวิตกกังวลใจ เพิ่มพูนความอยากมากขึ้นทุกที หากอยู่อย่างพอดี มีความเพลินใจบ้าง ชีวิตก็ไม้อ้างเดียวดาย
ขบวนแห่องค์กฐินที่วัดศรีบุญเรือง อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานีเงียบเสียงไปแล้ว ผู้คนก็ทยอยขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ เพื่อทอดถวายผ้ากฐินและเครื่องบริขารต่างๆแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในอารามแห่งนี้ เมื่อพิธีการเสร็จสิ้นทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความเป็นปกติ ผู้มาร่วมงานต่างก็เพลิดเพลินใจ บุญก็ได้ ใจก็เป็นสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/10/57