หน้าเทศกาลงานกฐินเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะหมดแล้ว กฐินเป็นงานบุญที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนเริ่มตั้งแต่วันออกพรรษาไปหนึ่งเดือน จะหมดเทศกาลก็เมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นวันลอยกระทง กฐินจึงจัดเป็นกาลทาน คือเป็นงานบุญที่ทำได้เฉพาะเพียงช่วงเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น หากทำนอกกำหนดก็ไม่เรียกว่า”กฐิน” แต่เรียกว่า “ผ้าป่า” แทน ในช่วงวันหยุดจึงมักจะมีขบวนเจ้าภาพงานกฐินเดินทางไปทอดที่วัดในต่างจังหวัด หากวัดใดอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวเจ้าภาพก็มักจะพาคณะนักจาริกแสวงบุญไปทัศนาการสถานที่อันงดงามแห่งนั้น
เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมามีงานทอดกฐินที่วัดศรีบุญเรือง อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี เจ้าภาพจึงพาไปเที่ยวสัมผัสความหนาวดูเมฆหมอกและความงามบนภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก จึงได้มีโอกาสขึ้นไปเที่ยวชมสัมผัสบรรยากาศความหนาวแห่งภูเรือ บนยอดสูงสุดของภูเรือในเช้าวันนั้นมีเมฆหมอกลอยล่องแทรกตัวอยู่ตามทิวสน หมอกยามเช้ายังคลอเคลียกับยอดหญ้า เหมือนกำลังหยอกเล่นกับพื้นแผ่นปฐพี
ทางขึ้นภูเรือในตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นดูเหมือนไม่มีอะไร ยังสงสัยอยู่ว่าจะพากันนั่งรถขึ้นไปดูอะไรบอนยอดภูนั้น อากาศก็แสนธรรม ฟ้าก็ไม่เห็นมีอะไรแปลก เพราะช่วงนี้ยังไม่เข้าหน้าหนาว อากาศบนยอดภูก็คงธรรมดา หากรออีกสักเดือนหนึ่งอากาศที่นี่จึงจะหนาวเย็น ผู้คนที่ร่วมเดินทางไปงานทอดกฐินที่อุดรธานี แต่ต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อมาชมภูเรือแห่งนี้ก่อนจะออกเดินทางต่อ ตอนแรกคิดว่าจะนั่งรออยู่ข้างล่างไม่อยากขึ้นภูเรือ แต่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันบอกว่าควรจะต้องไป เพราะจะได้ไม่แตกขบวน มาด้วยกันไปด้วยกัน จะมานั่งทำอะไรอยู่ที่ปั๊มน้ำมันตั้งสองชั่วโมง
รถสองแถวค่อยๆนำพานักจาริกแสวงบุญไต่ไปตามเส้นทางมุ่งหน้าสู่ยอดภูเรือ บรรยากาศสองข้างทางมีที่พักเรียงรายไปตลอดเส้นทาง ผู้คนของที่นี่ได้เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ดั้งเดิมคือการเป็นชาวไร่ หันมาทำที่พักตากอากาศ ไร่ที่เห็นจึงกลายเป็นแปลงดอกไม้ที่ช่วงนี้ยังไม่ค่อยออกดอกให้เห็นมากนัก มวลหมู่บุบผาก็กำลังรออากาศหนาว
พอไปถึงภูเรือสถานที่ที่ผู้คนกำลังทยอยกันขึ้นไป หมอกก็เริ่มลอยตัวอ้อยอิ่ง ผสมกับฝนที่โปรยปรายลงมา บรรยายจึงแปลกแตกต่างกับพื้นที่ข้างล่าง อากาศหนาวเย็น หมอกปกคลุมทั่วพื้นที่ บริเวณป่าสนมองเห็นเพียงเงาจางๆของผู้คนที่กำลังเดินตามเส้นทางเพื่อขึ้นสู่ยอดภู
การขึ้นสู่อยู่ภูเรือมีให้เลือกสองทางคือนั่งรถสองแถวโดยสารขึ้นไปอัตราค่าบริการคนละสิบบาท หรือจะเดินขึ้นไปก็ได้ เดินในท่ามกลางหมอกที่ลอยมาสัมผัสร่ากาย หากไม่มีหมวกหรือเสื้อกันหนาวอาจจะเจ็บป่วยได้ง่ายๆ ดังนั้นที่บริเวณทางขึ้นจึงมีร้านค้าให้บริการขายเสื้อผ้ากันหนาวและขายหมวกไหมพรม อัตราราคาไม่แพงมาก หมวกหนึ่งใบราคาตั้งแต่สี่สิบบาทถึงสองร้อยบาท แล้วแต่วัสดุที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ จึงซื้อหมวกติดมือไปใบหนึ่ง ปักคำว่า “ภูเรือ”ไว้ที่ด้านหน้า ป้องกันไว้ก่อน หากข้างบนมันหนาวจริงๆจะได้มีเครื่องป้องกัน ประเดี๋ยวเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะลำบาก ทางข้างหน้าที่จะก้าวอีกยาวไกล
ผู้คนบนท้องถนนที่ขึ้นสู่ยอดภูเดินสวนทางกันไปมา มีทั้งที่กำลังเดินขึ้น มีทั้งที่กำลังเดินลง ความรู้สึกคงแตกต่างกัน เดินขึ้นเพื่อที่จะได้ไปพบกับสิ่งที่คาดหวังไว้ เดินลงเพื่อบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นบันทึกความทรงจำจะได้นำไปเล่าขานให้กับคนอื่นๆได้รับรู้ ประสบการณ์ที่ดีที่สุดคือการเดินทางไปยังสถานที่แห่งนั้นจริงๆ จึงมีคำเรียกประสบการณ์ชนิดนี้ว่า “ไปเห็นมากับตา” แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งกับอีกช่วงเวลาหนึ่งสิ่งที่ได้เห็นอาจจะแตกต่างกันไป
คุณยายคนหนึ่งที่เดินทางไปในขบวนเดียวกัน เดินลงมาด้วยกัน แต่ขาขึ้นไม่ได้พบ คุณยายบอกว่า “ขาขึ้นนั่งรถกลัวเหนื่อย แต่ขาลงอยากเดินชมเมฆหมอกสัมผัสบรรยากาศแห่งความหนาวตามธรรมชาติบ้าง”
เมื่อถามว่า “ยายรู้สึกอย่างไรที่ได้มาภูเรือในครั้งนี้”
คุณยายบอกว่า “ตอนอยู่บนยอดสูงสุดของภูเรือ รู้สึกสดชื่น เหมือนตอนที่มีอายุสิบแปดปี ช่วงนั้นมองอะไรก็เห็นโลกสดใสไปหมด ไม่ทุกข์ร้อนอะไร แต่ตอนเดินลงจึงได้รับรู้ถึงอายุที่แท้จริง คนที่อายุเกินเจ็บสิบปีแล้วเหนื่อยง่าย ร่างกายบอบบาง จึงต้องเดินช้าๆ ปล่อยให้ลูกหลานเขาเดินล่วงหน้าไปก่อน”
คุณยายยิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนจะหันมาเอ่ยปากขึ้นว่า “เหมือนกับท่านนั่นแหละคงเดินเร็วไม่ไหวเหมือนกัน”
ถูกจัดเข้าในกลุ่มคนชราโดยไม่รู้สึกตัว ตอนนั้นตัวเราเองก็เดินช้าลงไม่แตกต่างจากคุณยายเท่าไรนัก กลายเป็นคนเดินช้าไปแล้ว
“หมอกมาในตอนเช้า พอพระอาทิตย์ขึ้นคงเหือดหายไป ชีวิตคนก็ต้องผ่านเมฆหมอกมามากกว่าจะถึงวันนี้ ยังมีเมฆหมอกแห่งชีวิตที่ไม่มีวันจางหายไปจากใจ” คุณยายพูดเหมือกับกำลังรำพึงกับตัวเอง พอดีมีหลานสาวเดินย้อนกลับมารับคุณยาย
ชีวิตย่อมมีเมฆหมอกมาบดบังหลายครั้ง มีแสงสว่างหลายครา ผ่านกาลเวลาทั้งมืดทั้งสว่างมานานหลายปี แต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้ เมฆหมอกบนภูเรือมาเยือนในตอนเช้า พอสายเมื่อแสงอาทิตย์ส่อง หมอกนั้นก็จางหายไป แต่เมฆหมอกแห่งชีวิตมาเยือนได้ทุกเวลาโดยไม่เลือกกลางวันหรือกลางคืน
กิเลสเหมือนหมอก เมื่อใดที่จิตถูกกิเลสเข้าครอบงำ ก็มืดมัว ไม่ผ่องใส ใจเศร้าหมอง แต่เมื่อใดที่กิเลสเบาบางลงก็เหมือนพระจันทร์พ้นจากหมอกย่อมสว่างไสว ในทางปฏิบัติจึงต้องมีธรรมประจำใจเพื่อป้องกันไม่ให้เมฆหมอกเข้ามาบดบังจิตใจได้
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเพื่อการปฏิบัติคือ “อานาปานสติ” หมายถึง “สติกำหนดลมหายใจเข้าออก” เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้ทุกโอกาสเพราะลมหายใจอยู่กับเราตลอดเวลา ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้วย่อมทำโลกให้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากหมอก ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทาวรรค (31/386/178) ความว่า “ภิกษุใด เจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว อบรมแล้วตามลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น”
ภาษาบาลีเขียนไว้ว่า “อานาปานสฺสติ ยสฺส ปริปุณฺณา สุภาวิตา
อนุปุพฺพํ ปริจิตา ยถา พุทฺเธน เทสิตา
โส อิมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา ฯ
การกำหนดลมหายใจเข้าออกตามที่มันเป็น สั้นก็รู้ว่าสั้นยาวก็รู้ว่ายาว ครูบาอาจารย์มักจะสอนให้ใช้คำภาวนาที่ง่ายที่สุดว่า “พุทโธ” ลมหายใจเข้าว่า “พุท” ลมหายใจออกว่า “โธ” คำว่า “พุทโธ” มาจากคำภาษาบาลีว่า “พุทธ” หากเป็นคำนามเพศชายแปลว่า พระพุทธเจ้า ผู้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถ้าเป็นคำคุณศัพท์แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างเต็มที่
มีคำอธิบายไว้ในปฏิสัมภิทามรรคต่อไปว่า คำว่า “ย่อมให้สว่างไสว” หมายถึง ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวแจ่มใส เพราะเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งความฝึกตน ความสงบตน ความยังตนให้ปรินิพพาน ฯลฯ ความยังตนให้ประดิษฐานอยู่ในนิโรธ ซึ่งมียถาศัพท์เป็นอรรถทุกประการ”
คำว่า “เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก” หมายถึง กิเลสเหมือนหมอก อริยญาณเหมือนดวงจันทร์ ภิกษุเหมือนจันทเทพบุตร ภิกษุพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้วย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวเปล่งปลั่ง และไพโรจน์ เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอกพ้นจากควันและธุลีในแผ่นดิน พ้นจากฝ่ามือราหู ยังโอกาสโลกให้สว่างไสวเปล่งปลั่ง และไพโรจน์ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก”
เมื่อเดินทางลงจากยอดสูงของภูเรือ มองย้อนกลับไปอีกครั้งยังเห็นหมอกจางๆลอยล่องตามยอดไม้ แต่ทว่าในถนนหนทางนั้น หมอกจางหายไปหมดแล้ว เส้นทางขาลงจากภูเรือจึงสะดวกเพราะมองเห็นทางได้ไกล เมื่อหมอกเบาบาง เส้นทางก็สะดวก หากชีวิตมนุษย์จมอยู่ในเมฆหมอกชีวิตคงมืดมัว ไม่ผ่องใส แต่เมื่อใดที่เมฆหมอกแห่งชีวิตเบาบางจางหายไป ใจก็ผ่อนคลายสบายจิต ชีวิตมองเห็นทางดำเนินได้สะดวก
มนุษย์ที่ยังมีชีวิตย่อมยังมีลมหายใจ เมื่อมีลมหายใจก็ปฏิบัติธรรมได้ โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ดังนั้นทุกคนจึงมีอุปกรณ์ในการปฏิบัติธรรมอยู่กับตัวทุกคนอยู่แล้ว มีสติอยู่กับตัวกลัวอะไร จะไปไหนก็สบายไร้กังวล มนุษย์นั้นลืมอะไรก็พอลืมได้ แต่หากลืมหายใจเมื่อใด เมื่อนั้นชีวิตก็หมดหน้าที่ ในชีวิตนี้แม้จะหลงลืมอะไรไปบ้าง แต่สิ่งที่ปรารถนาไว้อย่างหนึ่งว่าอย่าลืมเลือนโดยเด็ดขาดคือ “หายใจเข้าแล้ว อย่าลืมหายใจออก” ยังนับว่าโชคดีที่ยังไม่เคยลืม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/10/57