คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เป็นคดีสะเทือนขวัญ ผู้คนให้ความสนใจและคอยติดตามข่าวว่าเมื่อไหร่จะสามารถจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ คนที่กระทำความผิดควรได้รับการพิจารณาโทษ เพราะชีวิตย่อมเป็นที่รักของแต่ละคน แม้จะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องตายจากโลกนี้ไปอยู่แล้ว แต่ทว่าการเสียชีวิตตามสมควรแก่เหตุเช่นตามอายุขัย หรือเพราะความเจ็บป่วย แม้จะเป็นความทุกข์ความทรมานใจของผู้อยู่เบื้องหลัง แต่อย่างน้อยก็ยังมีเวลาได้ทำใจ แต่สำหรับการเสียชีวิตในเวลาที่ไม่สมควรด้วยการฆาตกรรมกรรมนั้นทำใจลำบาก ชีวิตที่ควรจะดำเนินต่อไปก็พลันหมดสิ้นสูญสลายไปเพราะความโหดร้ายใจอำมหิตของผู้ลงมือกระทำ
ด้วยฝีมือการสืบสวนของตำรวจไทยคาดว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานจะสามารถจับคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองได้ ต้องคอยติดตามข่าวกันต่อไป เพราะทุกคนก็อยากเห็นหน้าผู้กระทำความผิดตัวจริง ทำไปเพราะสาเหตุใด คนใจเหี้ยมอำมหิตเช่นนี้เป็นใคร
การฆ่ามนุษย์ย่อมเป็นบาป เป็นความชั่ว เป็นข้อห้ามที่สำคัญอย่างหนึ่งในแทบทุกศาสนา เพราะกว่าที่แต่ละคนจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากยิ่ง แม้เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ยังต้องดำเนินชีวิตตามสมควรอีก บางคนเกิดมาโชคดี พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติมากมาย จึงดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบาย แต่สำหรับบางคนเกิดมาลำบากต้องดำรงชีพด้วยความยากเข็ญ แต่ถึงแม้จะทุกข์ยากลำบากอย่างไร ทุกคนก็ยังรักชีวิต ยังอยากอยู่ในโลกนี้ต่อไป อาจจะมีบ้างที่เกิดเบื่อหน่ายในชีวิต มีปัญหาหาทางออกไม่ได้ต้องทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ซึ่งไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง โลกนี้มีปัญหามากอยู่แล้ว ชีวิตก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาค่อยๆคิดย่อมหาทางแก้ไขได้
นานหลายปีมาแล้วมีเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งเคยมีอดีตติดคุกเพราะคดีฆ่าคนตาย ติดอยู่นานหลายปี พอพ้นโทษแล้วจึงเข้ามาอาศัยร่มเงาของพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งในยามชรา เมื่อมีโอกาสจึงถามท่านว่า “ติดคุกลำบากไหม”
หลวงตารูปนั้นบอกว่า “ลำบากครับ มันหมดสิ้นอิสรภาพ จะทำอะไรก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ มีระเบียบ มีวินัย แต่สำหรับผมแล้ว ผมว่าการหลบหนีจากการกระทำความผิดลำบากกว่า”
เมื่อผู้ถามหันไปมองด้วยความสงสัย หลวงตาจึงสาธยายต่อไปว่า “ผมหลบหนีการจับกุมนานถึงห้าปีครับ เดินทางไปทั่วประเทศหางานทำพอประทังชีวิตไปวันๆ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เพราะมีความหวาดระแวงแฝงอยู่ในใจว่าอาจจะถูกจับได้ทุกเมื่อ แม้แต่เวลานอนก็ต้องระวังพร้อมที่จะตื่นได้ทุกเวลา และเตรียมพร้อมที่จะหลบหนีต่อไปอีก บางครั้งเพียงแค่เกิดความสงสัยว่าอาจจะมีตำรวจมาแทรกอยู่ในหมู่คนงาน ผมก็ต้องรีบหนีแล้วครับ
สำหรับผมแล้วชีวิตที่หลบหนีความผิดเป็นความทุกข์ทรมานมากที่สุด กินก็ไม่อิ่ม นอนก็ไม่ค่อยหลับ ชีวิตเหมือนมีมีดมาจ่อที่คอหอย ผมอยากจะหนีไปให้ไกลที่สุด แต่ทว่าในที่สุดผมก็หนีความจริงไปไม่พ้น จึงเข้ามอบตัวและต่อสู้คดี ศาลตัดสินจำคุกยี่สิบปีครับ แต่ผมเป็นนักโทษชั้นดีติดคุกอยู่ไม่นานก็ได้รับการอภัยโทษหลายครั้ง” หลวงตาจบการสาธยายด้วยดวงตาที่สำนึกผิด
“อันที่จริงผมก็ไม่ได้เจตนาจะฆ่าคนตายหรอกครับ แต่เป็นความบังเอิญมากกว่า ตอนนั้นความโกรธและความเมาผสมกัน คงลงมือแรงไปหน่อย ทุกวันนี้ผมอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาคนนั้นทุกวันเลยครับ ตอนนี้กินได้ นอนหลับแล้ว แต่บาปกรรมที่เคยทำยังคงฝังอยู่ในใจผมไม่เคยหายไปไหน คนที่ทำความผิด ทำชั่วแม้จะหนีไปให้ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว ก็หนีกรรมที่ตนเองทำไม่ได้หรอกครับ”
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่บทหนึ่ง กล่าวถึงคนที่ทำกรรมชั่วไว้ แม้จะหลบหนีไปในสถานที่ใดก็หนีกรรมชั่วของตนไม่พ้น ดังที่แสดงไว้ในปาปวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/19/32) ความว่า “บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทรก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอกภูเขาก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ)เขาอยู่ แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใดพึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้นหามีอยู่ไม่”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ
น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิโต มุญฺเจยฺย ปาปกมฺมา ฯ
กรรมชั่วที่ทำแล้วย่อมติดตามตนไปในที่ทุกแห่ง เพราะสิ่งที่กระทำลงไปแล้วนั้น สิ่งที่ตามมาคือความเดือดร้อนใจ เพราะกรรมดีหรือกรรมชั่วนั้นแท้จริงแล้วแฝงอยู่ในจิตใจของผู้กระทำ ทำให้จิตใจวุ่นวาย เร่าร้อน ระแวง สงสัย แม้จะหลบหนีกฎหมายบ้านเมืองไปได้ แต่หลบหนีความผิดที่ฝังอยู่ในจิตใจของตนเองไม่ได้โลกนี้ไม่มีที่หลบซ่อนของคนทำชั่ว ไม่ช้าไม่นานกรรมนั้นก็จะกลับมาสนองตอบต่อผู้กระทำจนได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/09/57