ไปร่วมงานวันอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ในงานมีการบรรยายภายใต้หัวข้อ”การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งกำหนดไว้ในปีพุทธศักราช 2558 เหลืออีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็จะเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกับประเทศในแถบเอเชียอีกสิบประเทศ แต่ละประเทศมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ศาสนา ลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกัน ในส่วนของคณะสงฆ์ไทยจะเข้าร่วมอย่างไร จะเตรียมความพร้อมในด้านใดบ้าง
ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น 3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก คือ
1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมีเอกลักษณ์คือการศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนาและปรัชญา แต่ปัจจุบันกลับปรากฏว่าผู้ที่ศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนามีจำนวนลดน้อยลง นักศึกษารุ่นใหม่ไม่ค่อยสมัครเรียนในสาขาวิชาพุทธศาสน์และปรัชญา แต่กลับไปให้ความสนใจทางด้านรัฐศาสตร์ ด้านการศึกษา จนบางสาขาวิชามีนักศึกษาจำนวนมาก
ปัจจุบันมหามกุฏราชวิทยาลัยเปิดเรียนสี่คณะ ในระดับปริญญาตรี มี 11 วิชาเอกคือพุทธศาสตร์ ศาสนาและปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ รัฐศาสตร์การปกครอง สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลีสันสกฤต การสอนภาษาอังกฤษ การสอนภาษาไทย การสอนพระพุทธศาสนา การบริหารกิจการพระพุทธศาสนา
ในระดับปริญญาโทเปิดสอน 5 สาขาวิชาคือพุทธศาสน์ศึกษา พุทธศาสนาและปรัชญา รัฐศาสตร์การปกครอง สังคมวิทยา การบริหารการศึกษา
ในระดับปริญญาเอกเปิดสอน 3 สาขาวิชาคือพุทธศาสน์ศึกษา พุทธศาสนาและปรัชญา การบริหารการศึกษา
การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำอย่างไร วิทยากรแต่ละท่านก็ได้แสดงทัศนะแตกต่างกันไป บางคนบอกว่าต้องเน้นที่เอกลักษณ์ของเรา พยายามเปิดสอนในสาขาวิชาที่กลุ่มประชาคมอาเซียนต้องการจะเข้ามาศึกษา ที่สำคัญต้องมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะจะทำให้สามารถรับนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาได้
เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาศึกษาอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก มีผู้ที่สามารถเรียนจบไม่มาก เพราะติดขัดด้านภาษาและการสื่อสาร นักศึกษาบางประเทศไม่สามารถเขียนข้อสอบเป็นภาษาไทยได้ อีกทั้งภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เก่ง ส่วนหนึ่งที่เข้ามาศึกษาจึงเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อขอหนังสือเดินทางและพร้อมที่จะเดินทางไปยังประเทศอื่น ที่ตั้งใจมาศึกษาจริงๆจึงมีเพียงบางส่วนเท่านั้น
จากประสบการณ์จริงที่เคยสอนนักศึกษาต่างชาติมานานหลายปี ถ้านักศึกษาตั้งใจเรียนจริงๆก็สามารถจบตามกำหนดเวลาได้ ปีแรกให้เรียนภาษาไทย ปีต่อไปจึงพอจะอ่านออกเขียนได้ พอขึ้นปีที่สามก็สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ อาจจะใช้เวลาเรียนห้าปีหรือหกปี หากตั้งใจจริงก็สามารถเรียนจบได้ และยังมีนักศึกษาบางท่านสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกได้ โดยใช้ภาษาไทย
จากการฟังบรรยายสองวันพอสรุปได้ว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนสรุปได้สามประการที่จะต้องรู้คือ “ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสารสนเทศ และวัฒนธรรมระหว่างชาติ”
ภาษาอังกฤษต้องสามารถติดต่อสื่อสารกับคนชาติอื่นได้ ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น และต้องเข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพราะแต่ละชาติพันธุ์ย่อมมีวัฒนธรรมของตนเอง ต้องรู้จักตนเองให้แจ่มแจ้ง ต้องเข้าใจคนอื่น และต้องสานประโยชน์ได้ ต้องรู้เขารู้เราจึงจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้
ในด้านศาสนาและวัฒนธรรมกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนมีศาสนาที่สำคัญอยู่ 5 ศาสนาคืออิสลาม คริสต์ พุทธ ฮินดู ซิกส์ และมีลัทธิความเชื่ออื่นๆอีกมากมากมาย เมื่อมารวมกันแล้ว ย่อมจะกลายเป็นเรื่องของคนที่ต่างความคิด แตกต่างทางความเชื่อ จะต้องยอมรับความเชื่อของกันและกัน
เอกลักษณ์ของแต่ละชาติก็แตกต่างกัน บางประเทศชอบสนุกสนาน บางประเทศหน้าเคร่งพร้อมที่จะหาเรื่อง บางประเทศกล้าหาญจนถูกมองว่าเป็นนักเลง มีบางประเทศมีเอกลักษณ์พิเศษจนยากที่จะเข้าใจ นั่นเพราะวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนศาสนาทำให้เกิดเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ
ในด้านของคณะสงฆ์ก็ต้องวางรากฐานให้เข็มแข็งอย่างน้อยสามเรื่องคือให้บริการด้านการศึกษา ด้านการบริหารกิจการคณะสงฆ์ และด้านสงคมสงเคราะห์ เมื่อมีคนต่างศาสนาเข้ามาจะทำอย่างไรจึงจะเสนอเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏจนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความแตกต่าง เป็นเอกภาพบนความแตกต่าง
ครั้งหนึ่งเคยคุยกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านบอกว่ามีสาขาวิชาหนึ่งที่เปิดครั้งแรกไม่คิดว่าจะมีนักศึกษามาเรียน แต่พอเปิดสอนไปสักพักกลับมีจำนวนนักศึกษาที่มีความสนใจมาก จนรับไม่ไหว สาขาวิชานั้นคือ “วิชาชีวิตและความตาย” แม้จะฟังชื่อแล้วไม่น่าเรียน แต่ทว่ามีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมหามกุฏราชวิทยาลัยมีนักศึกษาจากกลุ่มประเทศในสมาคมอาเซียนมาศึกษาจำนวนหนึ่ง หลายท่านจบการศึกษาไปแล้ว แต่ทว่ากลับไม่ค่อยมีพระนักศึกษาไทยไปศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนเลย มีเพียงบางประเทศเช่นอินโดนีเชียที่มีพระธรรมทูตไทยดำเนินกิจการเป็นเจ้าของโรงเรียนที่เมืองจารการ์ต้า เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรีสอนเป็นภาษาอินโดนีเซีย
พระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอินโดนีเซียเหล่านี้พูดภาษาอินโดนีเซียได้ สอนพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธในอินโดนีเซียมานานหลายปีแล้ว บางทีการเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการเดินทางไปอยู่ในประเทศนั้นๆ เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีด้วยการอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนศาสนาวัฒนธรรมประเพณีได้ชัดเจน การได้คิด ได้ฟัง ได้ศึกษาจากสภาพที่แท้จริงจะทำให้เกิดปัญญาได้ดีที่สุด
ในพระพุทธศาสนาปัญญาเกิดขึ้นได้สามทางดังที่แสดงไว้ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/ 228/171) ปัญญาเกิดขึ้นได้สามทางคือ
1. จินตามยปัญญา หมายถึงปัญญาสำเร็จด้วยการคิด
2. สุตามยปัญญา หมายถึงปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง
3. ภาวนามยปัญญา หมายถึงปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม
การคิด การฟัง การอบรม เป็นบ่อเกิดของปัญญา การเข้าร่วมงานวันอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ได้ฟัง ได้คิดและได้ฝึกอบรมไปในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะยังมองภาพไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นคิด ฟังและอบรม เพื่อที่จะได้วางแผนในการทำงานในอนาคตต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/09/57