ช่วงนี้ในวงการพระสงฆ์มีข่าวโด่งดังหลายเรื่องเริ่มตั้งแต่เหตุเกิดที่ภูเขาทอง เรื่องสมณศักดิ์ แต่คงไม่มีข่าวไหนดังเกินกว่าข่าวพระครูเวฬุวันจันทรังษี หรือ หลวงพ่อพิมพ์ เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน หมู่ 4 บ้านท่าเริงรมย์ ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เข้าไปนอนในโรงศพพร้อมทั้งสั่งญาติโยมว่าจะละสังขาร กำหนดวันเวลาไว้ชัดเจน แต่เมื่อข่าวแพร่หลายออกไป ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องเข้าไปตรวจสอบ ในที่สุดหลวงพ่อก็ไม่ได้ละสังขารตามที่มีข่าวออกไป หลวงพ่อพิมพ์ยังมีลมหายใจ ยังจะต้องมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้อีกต่อไป โบราณว่า “อยู่ก็วุ่นวาย ครั้นจะตายก็ยุ่งยาก”
อันที่จริงการปฏิบัติโดยการเข้าไปนอนในโลงศพของหลวงพ่อพิมพ์นั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับคนอื่นเลย บางกระแสบอกว่าหลวงพ่อเพียงแต่ต้องการรักษาโรคด้วยวิธีพิเศษ หลวงพ่อจะอยู่หรือจะไปนั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถ้าหลวงพ่อกระทำเพียงคนเดียวก็ไม่เกี่ยวกับใคร แต่หากว่ามีการประกาศออกไปให้สาธารณชนได้รับรู้ เรื่องส่วนบุคคลก็กลายเป็นเรื่องของส่วนรวมทันที เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะชอบเรื่องที่แปลกประหลาด คนที่กระทำไม่เหมือนคนอื่นจึงโด่งดังเร็วกว่าการกระทำตามปกติ หากหลวงพ่อไม่ตกเป็นข่าว ป่านนี้คงได้เดินทางไปปรโลกตามปรารถนาแล้ว
วันนี้ในอดีตยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 คือการก่อวินาศกรรมเครื่องบินพุ่งชนตึกที่อเมริกา มีคนเสียชีวิตเกือบ 3000 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นั้นมีผลกระทบก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่คนทั้งโลก ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยกับการกระทำของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำไมมนุษย์ต้องทำร้ายกันเองด้วยเล่า แม้ไม่มีใครมาทำลายสักวันหนึ่งก็ต้องตายอยู่แล้ว ขอไว้อาลัยในเหตุการณ์ครั้งนั้นและขออย่าให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย
การฆ่าสัตว์เป็นข้อห้ามสำคัญข้อหนึ่งสำหรับพระพุทธศาสนา เป็นศีลข้อแรกในศีลห้าข้อ เป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ หากใครขืนกระทำต้องมีโทษตามสมควร หากเป็นพระสงฆ์ฆ่าสัตว์มีบัญญัติไว้ดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (2/633/634) ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งพรากสัตว์จากชีวิต เป็นปาจิตตีย์” และมีข้อยกเว้นไม่เป็นอาบัติแก่พระภิกษุดังต่อไปนี้ (2/634/634) คือ “ภิกษุไม่แกล้งพราก ภิกษุพรากด้วยไม่มีสติ ภิกษุไม่รู้ ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ภิกษุวิกลจริต ภิกษุอาทิกัมมิกะ(ผู้เป็นต้นบัญญัติ)ไม่ต้องอาบัติแล”
ส่วนการฆ่ามนุษย์หากเป็นคนธรรมดาย่อมจะได้รับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นพระภิกษุนอกจากจะต้องรับโทษตามกฎหมายแล้ว ยังจะต้องได้รับโทษตามพระวินัยถึงขั้นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที
มูลเหตุของการบัญญัตสิกสิกขาบทข้อนี้ มาจากในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุฆ่าตัวตายเองบ้าง จ้างคนอื่นให้ฆ่าบ้าง เพราะตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าไปอีกอย่าง คำสอนนั้นมีเนื้อปรากฎในพระวินัยปิฎกมหาวิภังค์ (1/176/288) ความว่า “โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐานทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว”
เมื่อได้คำสอนปรารภอสุภกถาจากพระพุทธเจ้าแล้ว ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยอเนกปริยายดังนี้ แล้วพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายกระบวนอยู่ ภิกษุเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ดุจสตรีรุ่นสาวหรือบุรุษรุ่นหนุ่ม พอใจในการตกแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้า มีซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์มาคล้องอยู่ที่คอ พึงอึดอัด สะอิดสะเอียน เกลียดชัง ฉะนั้น จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อคุณ ขอท่านได้ปลงชีวิตพวกฉันที บาตรจีวรนี้จักเป็นของท่าน ครั้งนั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ อันภิกษุทั้งหลายจ้างด้วยบาตรจีวร จึงปลงชีวิตภิกษุเป็นอันมากแล้ว ถือดาบเปื้อนเลือดเดินไปทางแม่น้ำวัคคุมุทา
ขณะเมื่อมิคลัณฑิกสมณกุตตต์ กำลังล้างดาบที่เปื้อนเลือดนั้นอยู่ได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เราสร้างบาปไว้มากจริงหนอ เพราะเราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ขณะนั้นเทพดาตนหนึ่งผู้นับเนื่องในหมู่มาร เดินมาบนน้ำมิได้แตกได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะท่านได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้
ครั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ได้ทราบว่าเป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว เราได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะเราได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้ ดังนี้ จึงถือดาบอันคม จากวิหารเข้าไปสู่วิหาร จากบริเวณเข้าไปสู่บริเวณ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่งให้ข้ามพ้น บรรดาภิกษุเหล่านั้นภิกษุเหล่าใด ยังไม่ปราศจากราคะ ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยอง ย่อมมีแก่ภิกษุเหล่านั้นในเวลานั้น ส่วนภิกษุเหล่าใดปราศจากราคะแล้ว ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยองย่อมไม่มีแก่ภิกษุเหล่านั้นในเวลานั้น ครั้งนั้นมิคลัณฑิกสมณกุตตก์ ปลงชีวิตภิกษุเสียวันละ 1 รูปบ้าง 2 รูปบ้าง ----50 รูปบ้าง 60 รูปบ้าง”
เมื่อพระพุทธเจ้าทราบข่าวจึงประชุมสงฆ์รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ(1) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (4) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (6) เพื่อกำจัดอาสวะจักบังเกิดในอนาคต (7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (10) เพื่อถือตามพระวินัย”
จากนั้นจึงได้บัญญัติสิกขาบทเป็นข้อห้ามไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้ (1/179/292) อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ในเวลาต่อมาได้เพิ่มอนุบัญญัติเพิ่มเติม(1/180/294) ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตายด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัยแม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”
หลวงพ่อพิมพ์ วัดเวฬุวัน จังหวัดชัยภูมิ ผ่านเวลาที่กำหนดไปแล้วแต่ก็ยังคงมีลมหายใจ ไม่ได้มรณะตามที่เป็นข่าว สาเหตุอย่างหนึ่งเพราะข่าวสารที่แพร่กระจายออกไปรวดเร็วทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าไปจัดการดูแล ไม่ให้หลวงพ่อมรณภาพ ประเด็นต่อมาที่ผู้คนในสังคมกำลังสงสัยว่าการกระทำของหลวงพ่อจะเป็นการอวดอุตรมนุสธรรมหรือไม่
คำว่า "อุตตริมนุสธรรม" หมายถึงคุณอันยิ่งยวดของมนุษย์ได้แก่ธรรมวิเศษมีการสำเร็จฌาน และมรรคเป็นต้น ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/233/336) ได้มีคำอธิบายไว้ว่า “บทว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะมรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า”
ในบทภาชนีย์(1/236/337) ได้อธิบายความหมายของอุตตริมนุสธรรมไว้ว่า “ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิตสมาธิ
ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
ที่ชื่อว่า ญาณ ได้แก่ วิชชา 3
ที่ชื่อว่า มัคคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5
พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8
ที่ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่ง
สกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิด
จิตจากโมหะ
ที่ชื่อว่า ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
ด้วยปฐมฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
ด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาน
การกระทำของหลวงพ่อพิมพ์ในครั้งนี้มีผลทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปดูที่วัด สิ่งที่ตามมาคือเงินบริจาค เพราะหากเป็นจริงตามที่กระแสข่าวประกาศออกไป หลวงพ่อพิมพ์ก็น่าจะเป็นผู้ที่ฌานขั้นใดขั้นหนึ่งจนสามารถทำนายอนาคตได้ แต่เมื่อเหตุการณ์ถูกเปลี่ยนแปลงเพราะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตอนนี้หลวงพ่อพิมพ์ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องรอฟังคำชี้แจงจากปากของท่านเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่าพึ่งด่วนตัดสินใจว่าหลวงพ่อเป็นผู้กระทำผิด บางทีอาจจะมีคำตอบที่คนทั่วไปคาดคิดไม่ถึงก็ได้
สิ่งที่หาได้ยากในโลกนี้มี 4 ประการดังที่แสดงไว้ในพุทธวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/24/33) ความว่า “การได้เฉพาะความเป็นมนุษย์ยาก ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายยาก การฟังพระสัทธรรมยาก การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายยาก”
การได้กำเนิดเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เกิดมาแล้วยังต้องดำเนินชีวิตด้วยความลำบากอีก การฟังพระสัทธรรม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ยิ่งยาก ไม่รู้ว่าหากผ่านพุทธกัปนี้ไปแล้ว อีกนานเท่าใดพระพุทธเจ้าองค์ใหม่จึงจะมาตรัสรู้อีก เมื่อชาตินี้ได้เกิดเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว ไฉนต้องทำให้ตัวเองต้องสิ้นลมหายใจก่อนเวลาอันสมควรด้วยเล่า สักวันหนึ่งชีวิตของทุกคนก็ต้องมอดม้วยดับดิ้นสิ้นชีวิตเหมือนกันทุกคน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/09/57
หมายเหตุ: การอ้างอิงในบทความนี้ มาจากพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514. (พิมพ์สำเร็จสมบูรณ์ในปี พุทธศักราช 2515.)
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,2515.