มีหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย เชิญให้เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษานานาชาติ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรสำหรับชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้ทำการยกร่างมาหลายรอบแล้ว ได้ผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยวิพากษ์ช่วยแก้ไขเพื่อให้มีความเหมาะสมกับความเจริญของเทคโนโลยี แม้หลักคำสอนจะคงเดิม แต่วิธีการในการศึกษาควรจะต้องปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย
คิดถึงตำราเรียนนักธรรมที่ใช้สอนกันอยู่ในปัจจุบันของการศึกษาคณะสงฆ์ น่าจะทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรบ้าง เพราะหลักสูตรเดิมใช้มานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรส ได้สร้างหลักสูตรนักธรรมขึ้นมาเพื่อใช้สอนให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียน ตามลำดับขั้นความรู้คือนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรควรจะต้องปรับปรุงใหม่ รวมถึงหลักสูตรบาลีสนามหลวงด้วยนั่นก็ใช้มานานไม่แพ้หลักสูตรนักธรรม
ในขณะที่กำลังคิดอะไรเพลินๆอยู่นั้นสามเณรแดง(นามสมมุติ)กำลังเรียนนักธรรมชั้นตรีก็เดินเข้ามาหา และเอ่ยถามว่า “อาจารย์ใหญ่ครับคนที่หาได้ยากในโลกนี้มีกี่อย่างครับ”
จึงบอกว่า “คนที่หาได้ยากมีสองจำพวกคือคนที่พอใจและคนที่อิ่มหนำ”
สามเณรแดงทำหน้างงๆ คงไม่ตรงกับที่เคยเรียนมา และคงเกิดสงสัยว่าอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนนักธรรมบาลีที่สามเณรอุตส่าห์มาถามนั้นเอาอะไรมาตอบ จากนั้นก็เดินจากไป ไม่ถึงสิบนาทีสามเณรแดงก็กลับมาใหม่ พร้อมทั้งนำหนังสือนวโกวาทหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีฉบับมาตรฐาน ของคณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเซียงมาด้วย และเปิดหนังสือบอกว่า “นี่ไงครับบุคคลที่หาได้ยากมีสองอย่างคือบุพพการีบุคคล และกตัญญูกตเวทีบุคคล” ซึ่งคำอธิบายว่า “บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว”
จากนั้นก็ถือโอกาสอ่านจากหนังสือเล่มนั้นว่า “บุคคลผู้เป็นบุพพการีหนึ่ง บุคคลผู้กตัญญูกตเวทีหนึ่ง เป็นบุคคลที่จะทำหน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ได้ยากเพราะต่างฝ่ายยังมีตัณหาครอบงำจิตใจอยู่ ผู้เป็นบุพพการีอาจจะทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน และผู้ที่มีหน้าที่กตัญญูกตเวทิตา ก็อาจทำหน้าที่ไม่สม่ำเสมอ” สามเณรแดงอ่านให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ ที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับที่อาจารย์ใหญ่บอกในครั้งแรก
จึงบอกสามเณรแดงไปว่า “นั่นเป็นบุคคลที่หาได้ยากประเภทหนึ่ง ส่วนในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกันนั้น หน้าเดียวกันด้วย ได้แสดงบุคคลที่หาได้ยากไว้อีกสองประเภท เอาไว้สามเณรแดงอ่านพระไตรปิฎกได้จะเปิดให้ดู”
สามเณรแดงเดินเข้าห้องเรียนไปนั่งเรียนนักธรรมต่อ แต่ก็คงงงกับคำยืนยันของอาจารย์ใหญ่ ครั้นจะเชื่อทันใดก็ไม่เคยเห็น ครั้นจะไม่เชื่อก็เป็นอาจารย์ใหญ่คงมีความรู้จริงๆ คงไม่โกหกหลอกลวง จากสีหน้าท่าทางอ่านออกมาได้ประมาณนั้น
หนังสือนวโกวาท ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประพันธ์ไว้นั้น ได้เลือกสรรข้อธรรมที่พระองค์ทรงคิดว่ามีประโยชน์ที่สุด นำมาสอนพระภิกษุบวชใหม่ ไม่ได้นำข้อธรรมมาทุกข้อ จึงตั้งชื่อหนังสือว่า “นวโกวาท” มาจากภาษาบาลีว่า “นว แปลว่า ใหม่ หรือ เก้า กับคำว่า “โอวาท” แปลว่าคำสอน ดังนั้น “นวโกวาท” คำสอนสำหรับพระบวชใหม่ และยังมุ่งสอนพระบวชใหม่ซึ่งส่วนมากจะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสจึงเลือกธรรมที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตของฆราวาสเรียกว่า “คิหิปฏิบัติ” มีแม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้เป็นตำราเรียนสำหรับนักธรรมชั้นตรี
ส่วนนักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอกก็ให้ใช้ตำราที่มีบทธรรมมากขึ้น ยากขึ้น ผู้ที่เรียนจนสามารถสอบผ่านได้จึงเป็นผู้ที่มีความรู้พอสมควร
ในตติยปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย ทุกกนิบาต (20/364/108)ได้แสดงบุคคลที่หาได้ยากไว้สองกลุ่มความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้หาได้ยากในโลก สองจำพวกเป็นไฉน คือ บุพพการีบุคคล กตัญญูกตเวทีบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสองจำพวกนี้แลหาได้ยากในโลก”
ในข้อต่อไปยังแสดงไว้อีกต่อไปว่า (20/365/108) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้หาได้ยากในโลก สองจำพวกเป็นไฉน คือ คนที่พอใจ คนที่อิ่มหนำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้แลหาได้ยากในโลก”
ภาษาบาลีใช้คำว่า "ติตฺโต เป็นกิริยากิตต์ แปลว่า อิ่มแล้ว พอใจแล้ว หรือหากเป็นคำนามจะแปลว่า รสขม ขม ความแหลม และคำว่า "ตปฺเปตา" แปลว่าอิ่มใจ พอใจ ชอบใจ
ในพระไตรปิฎกยังมีสิ่งที่หาได้ยากอีกมากมายหลายประการ สามเณรแดงเป็นสามเณรที่ใคร่ในการศึกษา หากสงสัยก็มักจะเดินมาถาม บางครั้งได้คำตอบที่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ แต่บางครั้งก็ได้คำตอบไม่ตรงกับความรู้ที่มีอยู่
โลกนี้คนที่พอใจในสิ่งที่มีอยู่นับว่าหาได้ยาก เพราะส่วนมากมักจะไม่พอใจในสิ่งที่มี ไม่ยินดีในสิ่งที่ได้ มักจะแสวงหาจนเกินความต้องการที่แท้จริง คนที่กล้าบอกว่าตนเองมีความพอใจตามมีตามได้แล้วจึงเป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก และคนที่พอจริงๆยิ่งหายาก
อีกประเภทหนึ่งคือคนที่อิ่มหนำนั้นก็เป็นผู้หาได้ยากเหมือนกัน เพราะร่างกายของมนุษย์เติมไม่เต็ม เช้ารับประทานอิ่มแล้ว กลางวันก็ยังหิว ถึงตอนเย็นยังต้องหาอะไรใส่ท้องให้ร่างกายหายหิว ในส่วนของจิตใจก็คล้ายกัน จิตใจของมนุษย์ยากที่จะถมให้เต็มได้ จึงมักจะมีคำสอนของคนโบราณว่า “ได้คืบจะเอาศอก” และ “จิตมนุษย์นี่ไซร้ลึกแท้หยั่งถึง” สิ่งที่ทำให้คนไม่รู้สึกพอใจ และไม่รู้สึกอิ่มคือกิเลส หากว่าโดยสรุปคือโลภ โกรธ หลง นั่นแล
สามเณรแดงยังคงจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกนาน ยังคงต้องเรียนตามหลักสูตรเดิมไปก่อน แต่อีกสักพักคงสามารถศึกษาด้วยตนเองได้จากพระไตรปิฎกซึ่งมีสิ่งที่น่าศึกษาอีกมากมาย หนังสือเชิญฉบับนั้นยังอยู่ในมือยังพอมีเวลาคิดอีกหลายวัน แต่หันไปมองดูนาฬิกาเวลาห้าโมงเช้า รู้สึกหิวขึ้นมา ท้องเริ่มร้องทุกข์ ได้เวลาบริหารท้องเพื่อขจัดความไม่อิ่มของร่างกายอีกมื้อหนึ่งแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/08/57