หากได้ทำงานเสร็จตามกำหนด ส่งงานได้ตามกรอบเวลา จะรู้สึกผ่อนคลาย สบายจิตเลิกคิดกังวลถึงความเหนื่อยที่ได้ทำ การทำงานแม้จะเหนื่อยล้า แต่ทว่าถ้างานนั้นสำเร็จแล้ว จิตใจจะปลอดโปร่งโล่งอกเหมือนยกภูเขาออกไปจากใจอย่างไรอย่างนั้น ส่วนงานอื่นๆพักไว้ชั่วคราวพอมีแรงก็ทำต่อไป ตราบใดที่ยังมีลมหายใจและไม่เลือกงานย่อมมีงานให้ทำได้ทุกเวลา
ผู้เขียนส่งงานวิจัยตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จ พร้อมทั้งได้บทความวิจัยอีกหนึ่งชิ้นส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการวิจัย แม้จะเป็นเพียงการส่งงานเบื้องต้นที่จะต้องมีการแก้ไขอีกหลายรอบ แต่นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ตอนนี้งานเสร็จแล้วหลังจากที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจมานานเกือบสามเดือน คิดถึงสถานที่ที่เคยไปเก็บข้อมูลในการทำวิจัย จึงตัดสินใจเดินทางไปเยือนอีกครั้ง
การเดินทางไปครั้งนี้มิใช่ไปเพื่อทำงาน แต่ต้องการไปเพื่อจะได้เห็นสภาพของชาวบ้านที่เขาเป็นอยู่จริงๆตามที่เขาเป็น สาเหตุมาจากมีโยมท่านหนึ่งต้องการทำบุญวันเกิดถามว่าอยากจะฉันอะไร ที่ไหน ขอให้บอก จึงเอ่ยถึงสถานที่ที่กำลังอยากไปออกมานั่นคือ “ดอนหอยหลอด”
ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันธรรมดามีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก บรรยากาศจึงไม่เหมือนแหล่งเที่ยว แต่เป็นบ้านของชาวบ้านจริงๆ ร้านอาหารที่ทราบมาจากการทำวิจัยในครั้งก่อนว่ามีอยู่ประมาณ 22 ร้านก็เปิดให้บริการเพียงไม่กี่ร้าน บางร้านเงียบ ไปฉันเพลที่ร้านเดิมริมดอนหอยหลอดมองทะเลที่กว้างสุดลูกตา ทำให้คิดถึงคำพูดของผู้ใหญ่โจขึ้นมา
ผู้ใหญ่โจบอกว่า “ดอนหอยหลอดมีคำเรียกติดปากว่า “อัศจอรอหันการันต์ ยอ 7 ตะวันพระจันทร์ 5” โดยไม่เปิดโอกาสให้ถาม ผู้ใหญ่โจก็สาธยายต่อไปว่า “ดอยหอยหลอดมีลักษณะพิเศษคือน้ำจะขึ้นช่วงกลางวัน 7 เดือน และขึ้นตอนกลางคืน 5 เดือน ต้องกำหนดให้ดีว่าจะมาเที่ยวดอนหอยหลอดตอนไหน บางครั้งมีแต่น้ำเพราะเป็นช่วงน้ำขึ้น บางครั้งเห็นแต่ทรายเพราะเป็นช่วงน้ำลด”
ผู้ใหญ่โจเป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ดอนหอยหลอด เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านที่ทำการฟื้นฟูดอนหอยหลอดที่กำลังจะไม่มีหอย ผู้ใหญ่โจเล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านหาหอยได้ง่ายตารางเมตรสิบยี่ตัว แต่เมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมาตาราเมตรหนึ่งจะได้สักตัวก็ยังยาก หากปล่อยไว้อย่างนี้มีหวังหอยหลอดที่ดอนหอยหลอดอันขึ้นชื่อก็จะไม่มีอะไรให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพ ไม่มีหอย ชาวบ้านในบริเวณชุมชนดอนหอยหลอดก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ผมกับชาวบ้านจึงเชิญชวนให้ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูดอยหอยหลอดให้กลับคืนมาอีกครั้ง”
เมื่อครั้งที่เดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยนั้น ได้พึ่งพาผู้ใหญ่โจและผู้ใหญ่น้อยซึ่งเป็นภรรยา บ้านหลังเดียวมีผู้ใหญ่บ้านสองคน คนหนึ่งเป็นอดีต ส่วนอีกคนหนึ่งกำลังเป็นในปัจจุบัน จึงเขียนไว้หน้าบ้านว่า “บ้านสองผู้ใหญ่”
ชาวคณะวิจัยที่จะต้องไปทำการเก็บข้อมูลตามโครงการวิจัยเชิงคุณภาพ รู้สึกกล้าๆกลัวๆว่าจะเป็นการรบกวนความสงบสุขของชาวบ้าน แต่พอได้พบกับความเป็นกันเองของผู้ใหญ่โจก็ต้องคิดใหม่ ในวันแรกที่ได้พบ ยังไม่ได้แนะนำตัวอย่างเป็นทางการ ผู้ใหญ่โจบอกว่า “บ้านผมไม่เคยว่างจากนักวิจัย มีมาตลอดทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ นักศึกษา ทั้งมาศึกษาหาข้อมูล มาแทบทุกเพศทุกวัยแล้วครับ แต่พึ่งเคยเห็นพระภิกษุนี่แหละที่เป็นนักวิจัย มาวิจัยเรื่องหอยอีกต่างหาก” จากนั้นผู้ใหญ่โจก็หันมามองหน้า
ผู้เขียนจึงบอกว่า “ไมใช่วิจัยเรื่องหอย อย่าเข้าใจผิด มาทำการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดอนหอยหลอดต่างหาก”
“นั่นแหละครับมาดอนหอยหลอดไม่พูดถึงหอยจะให้พูดถึงอะไร” ผู้ใหญ่โจว่าเข้าไปนั่น
นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ผ่านมาสองเดือนแล้ว แต่เหมือนกับถ้อยคำของผู้ใหญ่โจยังก้องอยู่ในหู
ไปครั้งนี้ไม่ได้ไปเยี่ยม “บ้านสองผู้ใหญ่” เพราะไม่อยากไปรบกวน เพียงแต่ผ่านทางเข้าบ้านก็รู้สึกได้ถึงอารมณ์ศิลป์ของทั้งสองผู้ใหญ่ ทางเข้าบ้านพักเป็นสะพานไม้ เวลาที่น้ำขึ้นก็จะอยู่เหนือน้ำนิดหนึ่ง แต่พอเวลาน้ำลงสะพานจะสูง สองข้างทางมีต้นไม้ ผลไม้หลากหลายชนิด ต้นจาก ต้นมะพร้าว ต้นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย กุ้ง หอย ปูปลายังเดินเล่นตามป่าชายเลน ช่างเป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์ไว้ได้อย่างเยี่ยม
ผู้ใหญ่น้อยภรรยาผู้ใหญ่โจบอกว่า “ใครอยากกินอะไรก็เก็บกินได้เลย ชาวบ้านที่นี่อยู่กันง่าย น้ำขึ้นก็หาปลา พอน้ำลงก็ไปหยอดหอย เดี๋ยวนี้มีหอยให้หยอดแล้ว เพราะทุกคนช่วยกันหยอดหอยตามวิธีดั้งเดิม ไม่ใช้โซดาไฟ ซึ่งแม้จะได้หอยมาก แต่หอยก็หมดเร็ว ปัจจุบันใช้แค่ปูนขาวหยอดลงรู หอยไม่ถึงกับตาย แต่หากใช้โซดาไฟหอยจะร้อนมากตัวเล็กตัวน้อยตายเรียบ ไม่นานหอยก็คงหมดไปจากดอนหอยหลอด”
ไปครั้งก่อนมีโจทย์ในใจคืออยากเห็นสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น แต่การเดินทางไปครั้งนี้ ไปดูสิ่งที่เขาเป็น ไปวันธรรมดาไม่ใช่วันหยุด ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านธรรมดา หาหอย หาปู หาปลา ทำมาค้าขายตามที่ควรจะเป็น จึงอยู่กันอย่างเป็นสุข ได้ทำในสิ่งที่เขาเป็น ก็เป็นความสุขแล้ว
ธรรมชาติมีความเป็นไปตามที่มันเป็นเช่นที่ดอนหอยหลอดมีคำขวัญที่เกิดจากการสังเกตความเป็นไปของธรรมชาติคือน้ำทะเลขึ้นและลงในแต่ละปีมีเวลาที่แน่นอน เป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติ เพื่อให้เรียกขานง่าย คนบ้านฉู่ฉี่คนหนึ่งก็คิดคำคมขึ้นมาได้ว่า “อัดศะจอ รอหัน การัน์ ยอ 7 ตะวัน พระจันทร์ 5”
การเดินทางมาดอนหอยหลอดในครั้งนี้ เมนูอาหารยังคงเป็นหอยหลอด แต่เมื่อได้เดินลงไปดูกรรมวิธีในการหยอดหอยแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเป็นการโหดร้ายเกินไป หอยแทรกตัวอยู่ใต้พื้นทราย ยังอุตส่าห์หยอดปูนขาวลงไปในรู พอหอยรู้สึกร้อนก็ทะลึ่งพรวดขึ้นจากรู ในที่สุดก็กลายมาเป็นอาหารของมนุษย์
ฉันเพลวันนั้นไม่ได้แตะต้องอาหารเมนูหอยทั้งหลายเลย ในใจรู้สึกสงสารหอยกลืนไม่ลง จึงได้แต่นั่งมองคนอื่นๆนั่งทานอาหารเมนูหอยอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนตนเองสั่งอาหารล้วนเป็นเมนูผัก บอกกับตัวเองว่าคงต้องเลิกกินหอยไปอีกนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/07/57