ข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเดินทางไปต่างประเทศ มีกระเป๋าเดินทางถึง 15 ใบ คงมีสัมภาระมากและคงเดินทางไปหลายประเทศ หลังจากที่ว่างจากการดำรงตำแหน่ง ซึ่งก็ไม่รู้อีกนานเท่าใดประเทศไทยจึงจะมีนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า คสช. จะคืนความสุขให้ประชาชนอีกนานเท่าใด การเดินทางไปต่างประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ดูไม่คล้ายการเดินทางท่องเที่ยว แต่เหมือนกับการย้ายบ้าน ดังจะบอกเป็นนัยว่าอีกนานกว่าจะได้กลับประเทศไทย
หากจะต้องเดินทางไปที่ไหนสักแห่งโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำกระเป๋าเดินทางติดตัวได้เพียงหนึ่งใบ น้ำหนักไม่จำกัดจะต้องแบกกระเป๋าเอง โดยไม่มีผู้ช่วย เพราะทุกคนที่เดินทางต่างก็มีภาระในการแบกกระเป๋าของตัวเองเหมือนกัน เราจะใส่อะไรลงไปในกระเป๋าเดินทางนั้นบ้าง คำตอบของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน เพราะคำจำเป็นของแต่ละคนแตกต่างกัน
มีกระเป๋าหนึ่งใบในกระเป๋ามีโน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง วางแผนว่าเช้าไปเย็นกลับ เดินไปร่วมงานโครงการฝึกอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อเสนอของบประมาณประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดขึ้น ที่นนทบุรี โดยมีนักวิจัยทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเสนอหัวข้อที่คิดว่าจะทำวิจัยต่อคณะกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยให้ช่วยพิจารณาขัดเกลาแก้ไข ก่อนที่จะเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอีกครั้ง งานนี้หนักเอาการเพราะต้องคิดหลายตลบว่าจะเขียนเรื่องอะไร เขียนอย่างไรให้เป็นปัญหา ตั้งวัตถุประสงค์สอดคล้องกับชื่อเรื่องหรือไม่ ทำแล้วจะได้อะไร
หากเป็นงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืองานด้านการพาณิชย์ ด้านการเกษตรคงไม่เท่าไหร่ เพราะผลจากการวิจัยอาจจะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้ คือวิจัยแล้วได้ผลผลิตที่ขายได้
ส่วนงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และด้านศาสนาปรัชญา เมื่อทำการวิจัยเสร็จแล้วก็มักจะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ เมื่องานขายไม่ได้ผู้ที่ให้ทุนจึงต้องพิจารณาคัดสรรเรื่องที่คิดว่าดีที่สุด มีประโยชน์ต่อชุมมากที่สุด การแข่งขันจึงสูงมาก บางปีมีผู้ขอทำการวิจัยหลายพันเรื่อง แต่ผ่านการพิจารณาเพียงร้อยเรื่อง ผู้ที่ได้คัดเลือกให้ทำการวิจัยจึงต้องมีความพร้อม หากได้รับงานไปแล้วไม่ทำก็จะถูกตัดสิทธิ์ในปีต่อๆไป
ผู้เขียนเคยเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีก่อน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา โดยไม่ทราบเหตุผล แต่ก็ไม่ได้ติดใจอะไร ไม่ให้ก็ไม่ทำ ไม่ได้ก็ขอใหม่ ไม่หมดความพยายาม ในเมื่อเขาให้โอกาสและเราก็ได้รับโอกาสก็ต้องพยายามต่อไป
การฝึกอบรมเขียนการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อเสนอของบประมาณนั้น ต้องบอกว่าเข้มงวด เรื่องนั้นก็ไม่ดี เรื่องนี้ก็ไม่ได้ ต้องคิดเรื่องใหม่เพื่อจะได้โดนใจกรรมการ ผู้เขียนอยู่แต่ในวัดจึงคิดแต่เรื่องวัดๆ คิดแบบชาวบ้านไม่เป็น งานวิจัยจึงไปในเชิงของวัด ผู้วิจารณ์บอกว่า เขียนอย่างนี้ คิดอย่างนี้อีกสิบปีก็ไม่ได้ ฟังแล้วสะดุ้ง จากนั้นผู้วิจารณ์ก็บอกว่า “ต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาของชุมชน ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ได้ผลผลิตที่เป็นรูปธรรม อาจจะเป็นการนำเอาหลักธรรมไปใช้แก้ปัญหาของสังคมก็ได้”
งานนี้สมัครใจไปเอง ไม่มีใครบังคับ เพียงแต่ส่งหัวข้อวิจัยที่คิดว่าจะทำการวิจัยพร้อมทั้งโครงสร้างที่ครบถ้วนตามแบบของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ก็ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้ ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก จะผ่านหรือไม่ผ่านไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งที่อยากได้คือความรู้ในการทำการวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้ความรู้ อย่างน้อยก็จะได้ทำการวิจัยตนเองได้
เคยดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ปรับโครงสร้างองค์กร หรือหากจะเรียกด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆคือ “อาชีพไล่คนงานออก” บางบริษัทมีคนงานมากเกินไป มีขั้นตอนมากเกินไป ทำให้การทำงานล่าช้าไม่ทันการ จึงต้องปรับโครงสร้างขององค์กรให้ทำงานสะดวกขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือการปลดพนักงานบางคนออก แต่ใครคือคนที่สมควรจะได้รับเกียรติให้ออกบ้าง นั่นคือปัญหา บริษัทไม่อาจจะทำโดยพลการได้ จึงต้องมีนักวิจัยเพื่อจะได้เป็นข้ออ้างว่า ที่ปลดออกนะปลดตามคำแนะนำของนักวิจัย มิใช่บริษัทกระทำเอง
อาชีพนี้ต้องเข้าไปในองค์กร และทำการสำรวจสภาพพื้นที่ จากนั้นก็ตั้งคำถามให้พนักงานตอบว่า “ถ้าชีวิตคุณคือเป้สะพายหลังหนึ่งใบ คุณจะใส่อะไรไว้ในนั้นบ้าง” พนักงานทุกคนจะต้องตอบคำถามนี้ จากนั้นก็มีคำถามต่อไปว่า “ถ้าชีวิตคุณคือเป้สะพายหลังหนึ่งใบ คุณจะเอาอะไรออกจากเป้นั้นบ้าง” คำถามฟังดูไม่ยาก แต่หากชีวิตคือการเดินทางคุณจะนำอะไรไปบ้าง
ผู้เขียนจำได้ว่าในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกกระเป๋าเดินทางใบใหญ่มาก มากจนน้ำหนักเกิน ไม่รู้นำอะไรใส่ลงไปบ้าง อันนั้นก็ดี อันนี้ก็จำเป็น จึงต้องนำไปให้มากที่สุด แต่พอเดินทางหลายครั้งเข้า กระเป๋าเดินทางก็จะเหลือแค่เป้หนึ่งใบ ย่ามอีกหนึ่งใบ บางครั้งไม่ต้องมีกระเป๋าใบใหญ่โหลดลงเครื่องด้วยซ้ำ เดินทางสะดวกไปง่ายมาง่าย
งานวิจัยแม้จะมีโครงสร้างง่ายๆว่า “ทำไมจึงทำวิจัยเรื่องนี้ ทำเพื่ออะไร ทำอย่างไร จะทำนานเท่าใด ทำแล้วได้อะไร” ต้องตอบคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรมีรูปแบบเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงทั้งรูปแบบและเนื้อหา งบประมาณ คณะผู้ทำการวิจัย และองค์ประกอบอีกหลายอย่าง
เสร็จสิ้นจากการฝึกอบรมฯ ก็มาพิจารณาว่า หากชีวิตเราคือเป้หนึ่งใบเราะจะใส่อะไรเข้าไป และ หากเราจะนำสิ่งของออกจากเป้นั้นเราจะนำอะไรออกบ้าง ช่วงนี้อยู่ในพรรษาไม่สะดวกในการเดินทาง จึงได้แต่มองกระเป๋าเดินทางที่ว่างเปล่ายังไม่ได้ใส่อะไรลงไป เพราะภาระที่แบกอยู่ในปัจจุบันก็หนักหนาอยู่แล้ว นั่นคือขันธ์ห้าเป็นภาระที่ต้องแบกดังที่แสดงไว้ในภารสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/49/29) ความว่า “ขันธ์ห้าคือภาระ” ภาษาบาลีว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกข์โศกนั้นโบราณว่า “ทุกข์เพราะแบกโลก โศกเพราะแบกรัก หนักเพราะแบกขันธ์” บางคนกำลังแบกแต่ไม่รู้ว่าหนัก ยังหาภาระอื่นๆเข้ามาให้เพิ่มความหนักเข้าไปอีก
กระเป๋าที่ถือไปร่วมงานการฝึกอบรมฯวางนิ่งอย่างเดียวดายอยู่ที่มุมห้อง ตั้งแต่กลับมายังไม่ได้เปิดกระเป๋า ยังไม่ได้แตะต้องกระเป๋านั้นอีกเลย ไปอย่างไรกลับมาอย่างนั้น เป็นกระเป๋าที่ว่างเปล่าหนึ่งใบ หันไปมองกระเป๋าเดินทางที่นอนสงบนิ่งอยู่ริมห้อง วันนี้กระเป๋ายังว่างเปล่า ไม่ได้ใส่อะไรลงไป จึงไม่มีอะไรที่จะต้องนำออก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/07/57