ช่วงนี้หน้าฝนจึงมีฝนตกแทบทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาหากหน้าฝนแล้วฝนไม่ตกนั่นจึงจะถือว่าผิดธรรมชาติ กำลังพิมพ์งานอยู่ชิ้นหนึ่งในห้องทำงานที่มหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย ศาลายา บังเอิญไฟฟ้าในอาคารเกิดดับวูบมาในบัดดล ยังไม่ได้บันทึกข้อมูลที่กำลังทำคงหายไปกับไฟฟ้าดับแล้ว ห้องที่กำลังเย็นสบายต่อมาไม่นานก็กลับร้อนระอุขึ้น พำนักอยู่ในห้องไม่ได้แล้ว จึงเดินเล่นตามอาณาบริเวณมหาวิทยาลัย ฝนที่กำลังพรำ ฟ้าครึ้ม จึงนั่งหลบฝนใต้อาคารฟังเสียงฝนและลมพริ้วอย่างสบายใจ
มองเห็นกสิกะ ชินากรณ์ เดินฝ่าไอฝนมาแต่ไกล เมื่อเข้ามาใกล้จึงเอ่ยทักทายตามธรรมเนียมคนคุ้นเคยว่า “ยังสบายดีอยู่หรือ”
กสิกะเอ่ยตอบว่า “ยังพออดพอทนได้อยู่ครับ หลวงตา”
จึงบอกว่า “โอ..ทักทายเป็นภาษาพระเลยนะ เหมือนกับคนเคยบวชเรียนมาก่อน”
เมื่อกสิกะ เดินหลบฝนมายังอาคารบัณฑิตวิทยาลัย จึงได้นั่งสนทนากัน กสิกะจึงเอ่ยขึ้นว่า “คำนี้ผมก็จำมาจากพระภิกษุรูปหนึ่งนะครับ ได้ยินมานานแล้ว ความหมายชัดเจนดีครับ มนุษย์เราต่างก็มีความทุกข์เพราะวิ่งตามความอยากของตนเอง เมื่อได้ในสิ่งที่พอใจก็จะมีความอยากใหม่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด การที่มนุษย์ยังอยู่ได้เพราะยังพออดพอทนได้ คำนี้มีที่มาอย่างไรบ้างครับ หลวงตา”
เมื่อถูกยกให้เป็นผู้รู้ “หลวงตา” เลยจำเป็นต้องอรรถาธิบายโดยสังเขปดังนี้ คำนี้มาจากการที่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลทักทายกันตามธรรมเนียมว่า “ขมนียํ ยาปนียํ อาวุโส” อีกรูปหนึ่งหากมีอายุพรรษาน้อยกว่าจะตอบว่า “ขมนียํ ยาปนียํ ภฺนเต” แปลใจความได้ง่ายๆว่า “ยังพออดพอทนได้ครับ ท่านผู้เจริญ”
คำว่า “อาวุโส” เป็นคำที่พระภิกษุผู้มีอายุพรรษามากกว่า ทักทายพระภิกษุผู้มีอายุพรรษาน้อยกว่า เป็นคำอาลปนะคำร้องเรียกในภาษาบาลี แปลว่า “แนะ ดูกร ข้าแต่” ดังนั้นอาวุโสจึงแปลว่า “แนะ ผู้มีอายุ” “ดูกรผู้มีอายุ” “ข้าแต่ผู้มีอายุ” คำว่า “แนะ” ใช้เรียกผู้ที่มีอายุน้อยกว่า “ดูกร” ใช้เรียกผู้มีอายุใกล้เคียงกัน ส่วนคำว่า “ข้าแต่” สำหรับเรียกพระภิกษุผู้มีอายุมากกว่า พระภิกษุสงฆ์นับถือเคารพกันที่อายุพรรษา ไม่ใช่อายุตามปฏิทิน แม้จะมีอายุมากกว่า แต่บวชทีหลังก็ต้องถือว่ามีอายุพรรษาน้อยกว่า
ส่วนคำว่า “ภันเต” เป็นคำที่ผู้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเรียกพระภิกษุที่มีอายุพรรษามากกว่า เช่นปุญญมโนภิกขุ อายุ 30 ปี อุปสมบทมาแล้ว 10 พรรษา และกสิโกภิกขุ อายุ 60 ปี อุปสมบทมาแล้ว 5 พรรษา ปุญญมโนภิกขุก็จะเรียกสิโกภิกขุว่า “อาวุโส กสิกะ” ส่วนกสิกะก็จะเรียกปุญญมโนว่า “ภันเต ปุญญมโน” เป็นต้น ดังนั้นแม้จะแปลได้ถึงสามความหมายแต่ก็ให้เลือกคำแปลที่เหมาะสมมาหนึ่งคำ คำว่า “ภันเต” ในภาษาไทยจึงแปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” สำนวนไทยแปลง่ายๆว่า “ผู้เจริญ”
ปัจจุบันคำนี้มักจะมีแทรกอยู่ในคำถวายสังฆทาน คำถวายอาหารแด่พระภิกษุเช่น คำถวายภัตตาหารว่า “อิมานิ มยัง ภันเต ภัตตานิ สปริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชยามิ ฯลฯ ” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายภัตตาหารพร้อมทั้งเครื่องบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์” คนอินเดียในสมัยปัจจุบันมักนิยมเรียกพระภิกษุในพระพุทธศาสนาว่า "ภันเต" ส่วนนักบวชในศาสนาอื่นนิยมเรียกว่า "สาธุ"
ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต แต่ความหมายยังเป็นไปในทำนองเดียวกัน มีผู้บอกว่าภาษาสันกฤตมีความสละสลวยไพเราะกว่าภาษาบาลี สมัยพุทธกาลภาษบาลีเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวมคธ สมัยนั้นมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ พระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคแรกที่แคว้นมคธ จึงใช้ภาษาของชาวมคธในการแสดงธรรม จึงมีผู้นิยมเรียกภาษาบาลีว่า “ภาษามคธ” ปัจจุบัน “แคว้นมคธ” คือดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐพิหาร เรียกว่าเมืองราชคฤห์หรือ ราชเกียร์
เมื่อตั้งหลักได้หลวงตาตามที่กสิกะเรียกจึงย้อนถามว่า “เมื่อกี้ได้ยินว่ากสิกะว่าอะไรนะ มนุษย์มีความอยากไม่สิ้นสุด ตามความเข้าใจของกสิกะหมายถึงอะไร”
กสิกะจึงบอกว่า “ผมเป็นคนนอกวัดเวลาจะอธิบายก็ขออนุญาตอธิบายอย่างคนนอกวัดนะครับ ผมพึ่งอ่านทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์หรือทฤษฎีแรงจูงใจของมาสโลว์ ซึ่งเขาเสนอแนวคิดว่าด้วย “ความต้องการของมนุษย์” มีตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นสูงสุด
“น่าสนใจหากไม่รบกวนเวลาขอให้ช่วยอธิบายขยายความได้ไหม”
กสิกะ ชินากรณ์ จึงเริ่มต้นสาธยายสรุปความว่า “มาสโลว์มีชื่อเต็มว่า “อับราฮัม มาสโลว์ Abraham Maslow” เป็นชาวอังกฤษ มีอายุอยู่ในช่วง 1 เมษายน พ.ศ. 2451 – 8 มิถุนายน พ.ศ. 2513 เป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแบรนดิส เป็นผู้คิดค้น ทฤษฎีจิตวิทยามานุษยนิยมและทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งประกอบด้วยความต้องการตามลำดับจากเบื้องต้นไปจนถึงสูงสุดดังนี้
1. ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น ต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การท่องเที่ยว การพักผ่อน เป็นต้น
2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (Security or Safety Needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน เป็นต้น
3. ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ เป็นความต้องการทางสังคม (Affiliation or Acceptance Needs) เป็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความต้องการได้รับการยอมรับ การต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น
4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem Needs) หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ และสถานภาพจากสังคม เช่น ความต้องการได้รับความเคารพนับถือ ความต้องการมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากคนอื่น เป็นต้น
5. ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-Actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น
ความต้องการของมนุษย์นั้นทำเป็นแผนภูมิให้ดูได้ดังนี้ เรียงจากขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูงสุด
ปัจจุบันได้มีผู้นำเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการบริหารองค์กรต่างๆมากมาย โดยประยุกต์ใช้เหมาะกับความต้องการมนุษย์ ซึ่งความต้องการด้านร่างกายคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ ซึ่งความต้องการคงไม่เท่ากันจึงต้องทำงานหนักหรือเบาต่างกัน แต่ละคนมีความต้องการทางด้านร่างกายในปริมาณไม่เท่ากัน แต่ในด้านคุณภาพน่าจะไม่แตกต่างกัน กินก็แค่อิ่ม นอนก็แค่หลับ มีบ้านพอได้คุ้มแดดฝน เป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน หากเขาได้รับการสนองตอบความอยากขึ้นพื้นฐานอย่างพอเพียงก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นเมื่อความอยากเบื้องต้นได้รับการตอบสนองก็จะมีความอยากใหม่แทรกเข้ามาอีก มนุษย์ก็ต้องหาทางสนองตอบความอยากของตนเอง บางคนสมหวัง บางคนก็อาจจะทำได้เพียงบางส่วน หากเข้าใจมนุษย์ก็สามารถอยู่กับมนุษย์คนอื่นๆได้อย่างมีความสุข
กสิกะ ชินากรณ์นำเสนอทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ได้อย่างน่าสนใจ จากนั้นก็หันมาถามว่าพระพุทธศาสนาได้อธิบายความต้องการของมนุษย์ไว้อย่างไรบ้างครับ หลวงตาช่วยอธิบายให้ฟังด้วยครับ
กำลังคิดตามทฤษฎีของมาสโลว์ก็ต้องสะดุ้ง พบหน้ากับกสิกะเมื่อไหร่มักจะหนีไม่พ้นคำถามที่ยากๆทุกที จึงบอกว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่บทหนึ่งในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/ 28/39) ความว่า “นัตถิ ตณหา สมา นที” แปลว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” คำว่า “ตัณหา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) แปลว่า “ความอยาก ความกระหาย ความดิ้นรน และยังเป็นเรียกชื่อของธิดามารคนหนึ่งด้วย ธิดามีสามคนคือ “นางราคะ นางตัณาหา นางอรตี” ธิดาของพระยามารที่อาสาบิดามายั่วยวนเจ้าชายสิทธัตถะในขณะที่กำลังบำเพ็ญเพื่อจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ภายใต้ควงต้นมหาโพธิ์ แต่เจ้าชายสิทธัตถะสามารถเอาชนะธิดามารทั้งสามนั้นได้และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นนั่นเอง
โลกเป็นไปตามอำนาจของตัณหาดังที่พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของเทวดาปรากฎในตัณหาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/182-183/53) ครั้งหนึ่งเทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไปโลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือตัณหา”
ความจำเป็นพื้นฐานของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ปัจจัยสี่” ได้แก่ “อาหารเครื่องห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค” เพียงเท่านี้ก็สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้แล้ว ส่วนความต้องการอื่นๆ ถึงไม่มีก็ไม่ทำให้ชีวิตอยู่ไม่ได้
แต่ทว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพียงเพราะมีชีวิตแล้วก็ตายเท่านั้น ยังสามารถพัฒนาตนให้ พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น จนจิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพภายในที่ไม่แตกต่างกัน สามารถพัฒนาได้ แต่การสนองตอบตัณหานั้นตามทัศนะของมาสโลว์ต้องเติมเต็มความอยาก จนถึงที่สุด เมื่อความอยากหนึ่งหมดไปความอยากใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ต้องหาทางบริหารความต้องการจนกว่าจะพอใจ แต่ความพอของมนุษย์นั้นอยู่ที่ใด เมื่อไหร่จึงจะรู้สึกว่าพอ เมื่อไหร่ความต้องการจึงจะหมดไป
มนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตที่เป็นไปตามอำนาจของความอยาก การที่จะเติมเต็มความอยากให้พอจึงมิใช่เรื่องง่าย ความอยากจึงเป็นเหมือนเครื่องผูกที่ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรน ถ้าเมื่อใดตัดเครื่องผูกได้จึงจะอยู่ในโลกอย่างมีความสุข เพราะเมื่อจิตไม่มีเครื่องผูกก็หลุดพ้น ดังที่แสดงไว้ในอิจฉาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/194-195/95) ความว่า “เทวดาทูลถามว่า “โลกอันอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด”
ตามทัศนะของมาสโลว์ความต้องการสี่ประการเบื้องต้นคือ “ความต้องการทางด้านร่างกาย ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง” คงพอจะอนุมานได้ว่าเป็นเรื่องของปุถุชนคนธรรมดาสามัญที่มีความต้องการตามธรรมชาติ สุดแท้แต่ว่าใครจะเติมเต็มความต้องการของตนได้เมื่อใด บางทีอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิต
ส่วนความต้องการขั้นสุดท้ายคือ “ ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง” นั้นเข้าใจอย่างไร เข้าใจอะไร และเมื่อเข้าใจแล้วจะแสดงออกอย่างไร คงต้องหาคำอธิบายของมาสโลว์มาอ่านอีกที
กสิกะ ชินากรณ์แหงนมองดูฟ้าที่ฝนเริ่มหยุดเม็ดแล้ว แต่ทว่าไฟฟ้าที่ตัวอาคารก็ดับสนิทเหมือนเดิม ก่อนจะหันมาบอกว่า “ผมเห็นทีจะต้องขอลานะครับ วันนี้ได้ฟังเรื่องของความอยากจนเริ่มรู้สึกว่า ในจิตใจของผมก็มีตัณหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่รู้ว่าในชั่วชีวิตนี้จะวิ่งตามความอยากทันไหม และจะเติมเต็มความต้องการได้เมื่อไหร่ มาสโลว์แสดงลำดับขั้น “ความต้องการของมนุษย์” จากระดับต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด เมื่อวิเคราะห์แล้วยังเป็นเรื่องของคนที่ยังมีกิเลสนะครับ”
โลกนี้ยังต้องการความเพลิดเพลินผูกไว้ มนุษย์ทั้งหลายจึงท่องเที่ยวไปด้วยจิตใจแห่งความวิตกกังวล หากไม่มีตัณหาหรือความอยากในจิตใจแล้วก็เข้าถึงวิมุตติสุข ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ในสัญโยชน์สูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/184/54) ความว่า “โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน”
ฝนที่ตกมาตั้งแต่บ่ายหยุดแล้ว แต่ฟ้าก็ยังสลัวด้วยไอฝน วันนี้ไฟฟ้าที่ศาลายา นครปฐมคงดับไปอีกนาน แต่ก็ไม่เป็นไรแต่ก็ไม่เป็นไร ชีวิตไม่ได้ผูกพันธุ์อยู่กับการมีไฟฟ้าหรือไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อมีก็ใช้ เมื่อไม่มีก็ไม่ใช้ เพราะยังมีลมหายใจยังมีความคิดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งภายนอกใด หากมนุษย์ยังมีลมหายใจมีความรู้สึกนึกคิดก็สามารถทำงานได้แล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/06/57