หาดทรายริมชายหาดในเกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งแต่ละหาดมีเจ้าของจับจองสร้างที่พักไว้สำหรับให้บริการกับนักท่องเที่ยว จะหาชายหาดที่เป็นอิสระหรือไม่มีเจ้าของจับจองแทบจะไม่มี แต่ละแห่งจะมีกำแพงกั้นไว้ด้านหน้า หากใครอยากจะเข้าไปเดินเล่นบนชายหาดก็ต้องผ่านประตูรั้วของผู้มีสิทธิ์ครอบครองเข้าไป ทะเล พื้นที่ในทะเลบางแห่งมีบ้านเรือน ที่พักยื่นไปในทะเล ในทะเลก็ยังมีเรือของชาวประมงจอดเรียงรายในท้องทะเล ทะเลกว้างใหญ่ไพศาลนั้นดูเหมือนกับว่าจะมีเจ้าของจับจองไว้แล้ว เหมือนดั่งทะเลมีเจ้าของ ไม่ใช่ทะเลที่เป็นสาธารณะอีกต่อไป
สาเหตุที่ต้องเดินทางมายังเกาะช้างนั้น เนื่องเพราะบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้จัดโครงการกิจกรรมเชิงวิชาการการเตรียมความพร้อมหัวข้อและโครงร่างวิทยานิพนธ์ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 4 ขึ้นที่คลองพร้าวรีสอร์ท เกาะช้าง จังหวัดตราด
ถามผู้ดำเนินการว่าทำไมต้องไปจัดงานไกลถึงเกาะช้าง เหมือนกับถูกปล่อยเกาะอย่างนี้ ก็ได้รับคำตอบว่านักศึกษาจะได้มีเวลาทำงานได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับงานประจำ เพราะนักศึกษาส่วนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพและนครปฐม หากจัดสัมมนาในกรุงเทพมักจะมีผู้หนีการสัมมนาเป็นประจำ เริ่มต้นเปิดงานมีคนเข้าร่วมเต็มห้องประชุม แต่เวลาปิดงานจะเหลือเพียงไม่กี่คน ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมจึงต้องจัดในสถานที่ที่ไกลจากที่ทำงานมากที่สุด เพราะจะได้ไม่มีปัญหาของการหนีการสัมมนา
หลักสูตรการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต สิ่งหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตรคือการเขียนวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งจะต้องเสนอโครงร่างว่าจะเขียนเรื่องอะไร เขียนแบบไหนเป็นเชิงปริมาณหรือคุณภาพ หรือจะนำทั้งสองอย่างมารวมกัน งานในระดับดุษฎีจะต้องมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ทว่าการเขียนงานวิจัยเล่มหนึ่งในช่วงเวลาที่จำกัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก บางคนเรียนจบภาคทฤษฎีแต่ไม่เขียนงานวิทยานิพนธ์ก็ไม่สามารถจบตามหลักสูตรได้
บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว แต่ละคนทยอยกันจบตามขั้นตอน มีส่วนหนึ่งที่หายไป มีอีกส่วนหนึ่งที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ มีอีกบางท่านที่กำลังรอสอบเพื่อจบตามหลักสูตร และยังมีนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งกำลังเรียนภาคทฤษฎี กระบวนการศึกษาจึงเป็นไปในทำนองเรียนภาคทฤษฎีหนึ่งปี่ครึ่ง จากนั้นเสนอสอบโครงร่างเพื่อจะเขียนวิทยานิพนธ์ โดยมีคณะกรรมการประจำหลักสูตร กรรมการผู้ดูแลหลักสูตรและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิคอยให้คำปรึกษา
ส่วนที่สำคัญที่สุดของกระบวนการศึกษาจึงอยู่ที่ “วิทยานิพนธ์” นักศึกษาต้องเขียนเอง ภายใต้การคอยให้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา ปัญหาที่นักศึกษาวิตกกังวลมากที่สุดคือจะเขียนเรื่องอะไร จะเขียนอย่างไร จะมีวิธีดำเนินการในการวิจัยอย่างไร จึงจะได้งานวิจัยที่สมบูรณ์
แม้จะมาสัมมนาไกลถึงเกาะช้าง แต่ผู้เขียนอยู่ในห้องประชุมทั้งวันแทบจะไม่ได้ไปไหนเลย วันนั้นเสร็จงานในหน้าที่แล้ว เดินออกนอกห้องประชุมก็มีเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าผมกำลังจะไปหาดทรายริมทะเล จึงขอติดรถเขาไปด้วย
เกาะช้างเป็นเกาะที่โผล่ขึ้นมาในทะเลจึงมีทะเลล้อมรอบ แต่ทว่าบริเวณเกาะปัจจุบันได้รับการพัฒนาเหมือนแผ่นดินใหญ่คือมีทุกอย่างที่ผืนแผ่นดินจะพึงมี มีอาณาบริเวณไม่กว้างใหญ่นักมีทะเลล้อมรอบ ต้องนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งไปยังเกาะ สามารถนำรถขึ้นเรือไปได้ ดังนั้นจึงนั่งรถชมเมืองได้อย่างสะดวก แต่เส้นทางลัดเลาะตามภูเขาลำบากมาก หากคนขับไม่ชำนาญเส้นทางอาจเผลอหล่นลงข้างทางได้ง่ายๆ
รอบๆเกาะจึงมองเห็นแต่ทะเลที่กว้างสุดสายตา แม้จะมีเรือของชาวประมงลอยคออยู่ตามริมฝั่ง แต่ถ้าหากคิดจะข้าทะเลไปยังอีกฝั่งก็ต้องนั่งเรือไป หากใครที่คิดจะว่ายน้ำฝ่ากระแสคลื่นในทะเลไปก็ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง ทะเลหรืออีกคำหนึ่งที่มักจะนิยมเรียกคือ “สมุทร” สมุทรใหญ่เรียกว่า “มหาสมุทร” มีภยันตรายรอบด้าน แต่ยังมีสมุทรอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ภายในมนุษย์คือ “สมุทรใจ” ผู้ที่ข้ามสมุทรใจได้ จึงจะเป็นผู้ที่ยอดเยี่ยม ควรได้รับการยกย่อง ดังที่แสดงไว้ในสมุททสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค(18/ 285/196) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทรๆดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่า เป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นเรียกว่า เป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลายจักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นเกิดจากรูป บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทรคือจักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่นมีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นเกิดจากธรรมารมณ์ บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธรรมารมณ์นั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ข้ามสมุทรคือใจได้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า “บุคคลใดข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ น่าหวาดกลัว ข้ามได้แสนยาก ได้ แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่า เป็นผู้เรียนจบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว
ในอรรถกถาปฐมสมุททสูตร(เล่มที่ 28 หน้า 339) ได้อธิบายคำว่า “คลื่น น้ำวน สัตว์ร้าย ผีเสื้อน้ำ”ไว้ว่า คำว่า “คลื่น” หมายถึง คลื่นคือกิเลส มีคลื่นก็โดยอำนาจความโกรธและความคับแค้น คำว่า “น้ำวน” หมายถึงวังวนคือกิเลสได้แก่กามคุณห้า คำว่า “สัตว์ร้าย” หมายถึงผู้จับคือกิเลสได้แก่ด้วยอำนาจแห่งมาตุคาม(สตรี) คำว่า “ผีร้าย ผีเสื้อน้ำ” หมายถึงมาตุคาม(สตรี)ซึ่งเปรียบเหมือนผีเสื้อสมุทรสำหรับภิกษุ
กำลังยืนมองมหาสมุทรก็มีใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่า “พระอภัยมณีช่างเจ้าชู้นักรักแม้กระทั่งนางเงือกและผีเสื้อสมุทร” ตอนนั้นพลันนึกถึงโคลงบทหนึ่งในโลกนิติว่า
พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง ฯ
มหาสมุทรแม้จะลึกเพียงใดมนุษย์ก็ยังคิดเครื่องมือในการวัดได้ ภูเขาสูงแค่ไหนก็ยังวัดได้ แต่จิตมนุษย์ที่แฝงอยู่ในร่างกายกว้างหนึ่งคืบ ยาวหนึ่งวา หนาหนึ่งศอก (คืบใครคืบมัน) ก็ยังไม่มีใครสามารถผลิตเครื่องวัดจิตใจของมนุษย์ได้ แต่หากจะรู้ก็รับรู้ได้เพียงตนเองเท่านั้น ใครเลยจะไปสัมผัสรู้จิตใจของคนอื่นได้ สุนทรภู่ประพันธ์พระอภัยมณีให้มีภรรยาหลายคนก็ยังไม่เพียงพอกับความอยากที่เจือด้วยกิเลสตัณหา อยู่ในทะเลนานๆ คงเห็นเงือกเห็นผีเสื้อสมุทรสวยงามไปจริงๆ จินตนาการช่างลึกซึ้งสุดหยั่งคาดจริงๆ
หาดทรายริมชายหาดแทบทุกแห่งมีเจ้าของจับจองเกือบหมดแล้ว จะหาชายหาดสาธารณะจริงๆแทบจะไม่มี การเดินทางไปเกาะช้างครั้งนี้จึงแทบจะไม่ได้สัมผัสกับน้ำทะเลเลย เพราะเป็นช่วงที่มีลมพายุ มีฝนตกตลอดทั้งวัน สิ่งที่ทำได้จึงเพียงแค่ถ่ายภาพชายหาดบางแห่งเท่านั้น ดูด้วยสายตาและบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก เพราะทะเลแห่งนี้เหมือนมีเจ้าของจับจองไว้หมดแล้ว แต่ทว่า “สมุทรใจ” ยังอยู่ในตัวเราเอง ไม่มีใครมาจับจองเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้ หากใครข้ามสมุทรใจนี้ไปได้ ในโลกนี้ก็ไม่มีมหาสมุทรใดจะกว้างใหญ่เกินกว่ามหาสมุทรใจไปได้ ที่แท้เราเองก็มีมหาสมุทรที่มีสิทธิ์เป็นเจ้าอยู่แล้ว ทะเลอาจจะมีเจ้าของหลายคน แต่ทะเลใจหรือสมุทรคือจิตใจของแต่ละคนนั้น มีตัวเราเองเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/06/57