ระยะทางจากเมืองปาหัลคาม แคชเมียร์มายังเมืองจัมมูนั้นมีทิวทัศน์ที่งดงามน่าทัศนาการ ป่าสนสูง ภูเขาชัน มีธารน้ำใสไหลผ่านเป็นระยะๆ สองข้างทางมีชาวบ้านเลี้ยงม้าเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะขับขานบทเพลงชาวบ้านอย่างเพลิดเพลิน หากไม่คิดอะไรมาก ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับคนอื่น ปล่อยชีวิตให้ผ่านมาและผ่านไปด้วยการประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์และเสพความงามของธรรมชาติในภูเขาสูง ลำธารใส ป่าไม้สดสวย ฝูงนกถลาปีกร่อนบินว่อนฟ้า ส่งเสียงร้องขับขานบทเพลงแห่งธรรมชาติ ชีวิตน่าจะสุขสันต์เพียงพอกับการมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แล้ว
เพื่อนร่วมเดินทางท่านหนึ่งหันมาถามว่า “อาจารย์หากให้มาอยู่ในภูเขาสูง ลำธารน้ำใสอย่างนี้จะเอาไหม” กำลังมองความงามของธรรมชาติพร้อมด้วยถ่ายภาพทิวทัศน์สองข้างทาง จึงหันมาบอกว่า “ขอคิดดูก่อน ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ง่ายที่คิด แต่ว่ามันติดที่จะทำ”
บางครั้งความคิดมักจะเดินล่วงหน้าด้วยจินตนาการที่งดงาม มองดูป่าไม้ที่ยังสมบูรณ์ ภูเขาสูงชันมีหิมะปกคลุมบนยอดเขาขาวโพลนอยู่เบื้องหน้า เบื้องล่างเล่าเมื่อหิมะละลายก็กลายเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านลำธาร ฟังเสียงน้ำไหลผสานกับสายลมพัดในราวป่าเหมือนเสียงดนตรีขับขานบทเพลงที่ไร้ท่วงทำนอง แต่ทว่ากลับไพเราะ บางครั้งรุนแรงเหมือนเพลงร็อค บางครั้งอ่อนสร้อยเศร้าซึมเหมือนเพลงบลู บางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นเพลงอะไร
หลายครั้งที่รถหยุดเพื่อทำภารกิจส่วนตัวข้างทาง ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีปั๊มน้ำมัน มีแต่หิมะที่ฉาบไล้ผิวพื้นปฐพีกำลังละลากลายเป็นสายน้ำ ผสานกับความหนาวเย็นของบรรยากาศ แว่วเสียงเพลงคนเลี้ยงแกะขับร้องบทเพลงด้วยท่วงทำนองที่ไม่เคยได้ยิน เสียงร้องสอดประสานกับเสียงน้ำไหลกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะเพราะพริ้ง มองดูผ่านๆเหมือนกับว่าชีวิตมีเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว
คิดถึงกลอนบทหนึ่งว่า “ใต้ต้นไม้เอนกายนอนอ่านกลอนกานต์ ชีวิตก็บันดาลเป็นสุขแท้” บางทีความสุขของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาก ย้อนกลับมาดูชีวิตของเราเอง “เออ...สิมาทำอะไรในโลกนี้ ชีวีมีความหมายอะไรกัน อยู่เพื่อฝันหรือเพื่อสร้างทางสันติ” หลายครั้งที่รถลื่นถลาเพราะพื้นถนนมีน้ำนองขังเหมือนจะหล่นลงเหวลึกเบื้องล่าง หากเป็นจริงชีวิตก็ก็คงสิ้นสุดกันบนเส้นทางสายนี้ทั้งวกวน คดเคี้ยว แคบเต็มไปด้วยอันตรายทุกเสี้ยววินาที
คิดถึงคนเลี้ยงม้าที่ปาหัลคาม แคชเมียร์ที่พึ่งจากมา พวกเขาพอเห็นนักท่องเที่ยวก็จะกรูเข้ามาทักทายและเสนอขายบริการ “ขี่ม้าชมเมืองครับ ชมธรรมชาติตามผืนป่า ชมวิถีชีวิตชาวบ้านครับ” เขาเหล่านี้อยู่กับท้องที่มานานตั้งแต่เกิดได้มีโอกาสสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติ อยู่กันที่นี่จนแก่ชราและจากลาโลกนี้ไป เขาเหล่านั้นคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อสัมผัสความเป็นธรรมชาติ เมื่อหมดหน้าท่องเที่ยวก็จะเลี้ยงม้าเลี้ยงแกะทำมาหากินด้วยการปลูกพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ช่างเป็นชีวิตที่เรียบง่ายดีแท้
แต่ทว่ามนุษย์มีความคิดที่สลับซับซ้อนได้อย่างจะเอาอย่าง จะถามหาความพอยากแท้ มีแต่ยิ่งได้ยิ่งอยากมีให้มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากมนุษย์วิ่งตามความอยากชั่วชีวิตก็คงวิ่งตามความอยากไม่ทัน หากได้ทุกอย่างตามที่คิด สิ้นชีวิตจะเอาของกองที่ไหน มนุษย์จึงมีได้บ้างเสียบ้างตามธรรมดา ในพระพุทธศาสนามีคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ตัณหา” แปลว่าความทะยานอยาก เป็นสิ่งที่ควรละ มีแสดงไว้ในตัณหาสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/377/456) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหา 3 และมานะ 3 ควรละ ตัณหา 3 เป็นไฉน คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา 3 นี้ควรละ มานะ 3 เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา ความถือตัวว่าดีกว่าเขา มานะ3นี้ควรละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ตัณหา 3 และมานะ3 นี้ย่อมเป็นธรรมชาติอันภิกษุละได้แล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดทุกข์เพราะละมานะได้โดยชอบ”
ตัณหาจัดเป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจจ์ 4 เรียกว่า “ทุกขสมุทัย” หมายถึง เหตุให้เกิดทุกข์ สาเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหาสามคือกามตัณหา คือความทะยายอยากในกาม ความอยากได้กามคุณ คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า ภวตัณหา หมายถึงความทะยายอยากในภพ ความอยากในภาวะของตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป และวิภวตัณหา หมายถึงความทะยายอยากในวิภพ ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
ตัณหาทั้งสามประเภทนั้นสรุปได้สั้นๆว่า “อยากให้มา อยากให้อยู่ อยากให้ไป” อยากได้อยากมีก็เป็นทุกข์ อยากให้คงสภาพอยู่ตลอดไปนานๆก็เป็นทุกข์ อยากให้ผ่านพ้นไปก็เป็นทุกข์ ความทะยานอยากของมนุษย์แต่ละคนแม้จะไม่เหมือนกัน คืออยากคนละอย่าง แต่ก็สามารถสรุปลงได้ในความอยากทั้งสามประการนี้ ใครละได้ใจเป็นสุข ไม่ต้องทุกข์โศกเศร้าเมาตัณหา ชีวิตนี้มีน้อยคอยเวลา ไยจะมาไล่ตามความอยากไป
เมื่อตัณหาดับไปสิ้นไป ภาวะนั้นเรียกว่า “นิโรธ” แปลว่าความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น จัดเป็นหลักธรรมสำคัญในอริยสัจจ์ 4 ประการ เรียกว่า “ทุกขนิโรธ” หมายถึงความดับทุกข์ได้แก่ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำลังอวิชชาสำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกย้อม ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระคือนิพพาน แม้ว่าวันนี้จะยังไปไม่ถึงอิสรภาพที่แท้จริง แต่อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อกำลังเดินตามทางแห่งสันติ
ภูเขาสูง ธารน้ำใส ป่าไม้งาม นกถลาร่อนบินว่อนฟ้าหาอาหาร ขับขานบทเพลงบรรเลงกล่อม ตามสองข้างทางมีบ้านเรือนของชาวบ้านเรียงรายตามหุบเขา คนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบ แต่ก็แฝงไว้ภยันตรายรอบด้าน แผ่นดินอาจไหวได้ทุกนาที ภูเขาน้ำแข็งอาจถล่มลงมากลบฝังสรรพสิ่งไว้ไต้หล้าได้ทุกเวลา ลำธารน้ำใสไหลเย็นนั้นก็อาจจะเอ่อท่วมพัดพาชีวิตของมวลสรรพสัตว์ให้กลืนหายไปได้ทุกเมื่อ พวกเขาเหล่านี้มีวิถีชีวิตของพวกเขาเองที่ได้เลือกแล้ว แต่สำหรับคนผ่านทางคนหนึ่งได้แต่ซึมซับบรรยากาศแห่งความงามไว้ภายในจิตใจ และเก็บบันทึกภาพไว้ในกล้องถ่ายภาพ เมื่อรถเข้าถึงเมืองจัมมู นึกถึงคำถามที่เพื่อนร่วมเดินทางถามไว้ก่อนออกจากเมืองปาหัลคาม จึงหันมาตอบคำถามนั้นว่า “ผมขอเป็นเพียงคนผ่านทาง ยังไม่อยากพักอยู่ประจำในพื้นที่งดงามแต่แฝงไว้ด้วยอันตรายรอบด้านอย่างนี้ หากมีบุญก็มา หมดวาสนาก็จากไป”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/06/57