วัดวาอารามในพระพุทธศาสนาเป็นศาสนสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่พักที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ศาสนพิธีที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา การที่จะเป็นวัดที่สมบูรณ์นั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้คือ “พระอุโบสถหรือสีมา” ซึ่งจะใช้ในการประกอบสังฆกรรมได้ทุกประเภท ส่วนอารามที่ยังไม่มีพระอุโบสถก็มักจะนิยมเรียกกันในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า “ที่พักสงฆ์หรือสำนักสงฆ์”
กลางกรุงเดลีเมืองหลวงของอินเดียมีวัดที่มีพระอุโบสถสมบูรณ์มีเนื้อที่มากกว่าสามสิบไร่ บรรยากาศร่มรื่นเต็มไปด้วยหมู่แมกไม้ วัดแห่งนั้นมีนามเรียกขานว่า “อโศกมิชชั่น” ด้านหน้าทางเข้าไม่มีป้ายบอกไว้มีเพียงทางเข้าเล็กๆ มีน้ำขังอยู่ตามถนน เนื่องเพราะฝนที่ตกหนักตั้งแต่คืนที่ผ่านมา แต่พอเดินเข้าไปด้านในกลับได้พบกับอาณาบริเวณอันกว้างขวาง มีชายอินเดียคนหนึ่งเดินเข้ามาหา เมื่อถามถึง “ท่านลามะลอบซัง” ลามะชาวเลห์ ลาดักส์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส หนุ่มอินเดียคนนั้นชี้ไปทางอาคารหลังหนึ่ง แต่คณะผู้เดินทางคิดตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องไปพบกับท่านลามะก็ได้ เพราะเรามาเพื่อดูสิ่งที่ต้องการที่สุดในขณะนั้นคือสีมาหรือพระอุโบสถ ที่ท่านอูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าสนับการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 น่าจะเป็นสีมาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในอินเดียยุคใหม่
เดินไปที่อาคารสีแดงก่อนถึงสีมา มีจารึกด้านบนสุดของอาคารอ่านได้ใจความว่า “สถูปสมาธิ สร้างไว้เป็นที่ระลึกแด่สมเด็จพระวีระเบลลอง ธัมมวระมหาเถระ ผู้สร้างอโศกมิชชั่น” แลพอเข้าไปด้านในอาคารก็ได้พบภาพถ่ายและแผ่นจาตรึกคำสอนแปลได้ใจความว่า “ท่านจะเป็นอย่างที่ท่านกิน อย่างที่ท่านดื่มและอย่างที่ท่านคิด” อีกด้านหนึ่งมีคำสอนบอกว่า “จงอยู่ดี มีความสุข” ช่างเป็นคำสอนที่เรียบง่ายดีแท้
ถามว่าท่านธัมมวระเป็นใคร ผู้ที่ให้คำตอบคือคุณลุงสุนทรา ทองมา อุบาสกชาวลาวผู้นำทางในวันนั้นบอกว่า “ลายแกะบนอาคารนี้ผมทำเองกับมือนะครับ” จากนั้นก็สาธยายต่อไปว่า “ธัมมวระเป็นพระภิกษุชาวกัมพูชา สร้างอารมแห่งนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2491 โดยการสนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้นคือยวาลหราล เนรูห์”
ต่อมาท่านธัมมวระได้เดินทางไปจำพรรษาที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2518 ลามะลอบซังจึงได้ดูแลวัดแห่งนี้และเป็นประธานสมาคมต่อมาจนถึงปัจจุบัน อโศกมิชชั่นมีเนื้อที่กว้างถึง 12.5 เอเคอร์ ประมาณ 31.25 ไร่ (1 เอเคอร์ประมาณ 2.5 ไร่) ตั้งอยู่กลางเมืองหลวงของอินเดีย ลามะลอบซัง เป็นชาวเมืองเลห์ ลาดัก รัฐจัมมูแคชเมียร์ เกิดปี พ.ศ. 2475 ปัจจุบันอายุ 82 ปีแล้ว ในปีพ.ศ. 2554 อโศกมิชชั่นได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำชาวพุทธโลก ในวาระครอบรอบพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในการประชุมครั้งนั้นมีผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 800 รูปคน
มีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งกับอาคารสีแดง มีคำจารึกว่า “ปลูกโดยท่านอูนุ นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ วันที่ 18 เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498)
ในช่วงขณะที่กำลังเดินไปชมสีมาหรือพระอุโบสถนั้น ประตูปิดสนิท มีหญิงสาวชาวลาดักส์คนหนึ่งขี่จักรยานเล่นใกล้ๆสีมานั้น เธอหันมาทักทายแต่ก็ยังขี่จักรยานต่อไป
จึงได้ไปนั่งด้านหลังพระอุโบสถ ข้างๆมีสถูปขนาดเล็กอันหนึ่งตัวหนังสือเลอะเลือนอ่านลำบาก แต่ก็พออ่านได้ว่า เป็นสถูปที่บรรจุอัฏฐิของของใครคนหนึ่งมีชื่อจารึกนามว่า “เย็น คำตุโสริยาธร” (ลาว) ขณะที่กำลังสนทนาอยู่นั้นก็มีชายคนหนึ่งใส่เสื้อชุดทหารเดินเข้ามาทักทาย แต่พอเห็นลุงสุนทราเท่านั้นก็เดินเข้ามาหาจับมือทักทายด้วยภาษาลาวชัดถ้อยชัดคำ “เจ้าสบายดีบ่อ้าย บ่เห็นหน้ากันโดนแล้วเน๊าะ”
เมื่อหันมาเห็นพระภิกษุสองรูปกำลังจ้องมอง ชายคนนั้นก็เข้ามากราบด้วยความนอบน้อม “สบายดีหลวงพ่อ” จากนั้นก็เรียกภรรยาให้นำน้ำดื่มมาถวาย เมื่อเพ่งมองเห็นเป็นหญิงคล้ายคนทิเบต ชายคนนั้นจึงบอกว่า “เมียผมเป็นคนลาดักส์ครับ มีเชื้อสายทิเบต มีลูกด้วยกันแล้วสามคน กำลังศึกษาอยู่ครับ”
จากนั้นก็หันกลับไปคุยกันอย่างออกรสกับลุงสุนทรา ทองมา ในเรื่องราวต่างๆ ก่อนจะหันมาตอบคำถามของหลวงพ่อทั้งสองรูป ชายคนนั้นบอกว่า "ผมชื่อจันสมุทร หันตะราช"
“ผมอายุมากกว่าสุนทราสองปีครับ แต่ผมมาทีหลัง ตอนนั้นผมไปศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศเชคโกสโววะกีย มีคำสั่งจากประเทศลาวให้นักศึกษากลับบ้าน ผมไม่ยอมกลับจึงเดินทางมาขอลี้ภัยที่อินเดีย โชคดีที่ได้ภรรยาเป็นคนอินเดีย จึงมาขอพักอาศัยที่อโศกมิชชั่นแห่งนี้แหละครับ ช่วยงานลามะลอบซังซึ่งท่านก็เมตตาให้ผมอยู่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภรรยาผมด้วยครับ”
เมื่อถามว่าอุโบสถแห่งนี้ไม่ได้ใช้งานมานานเท่าไหร่แล้ว ลุงจันสมุทรบอกว่า “จำไม่ได้แล้วครับ ตอนนี้ใช้เป็นที่พักของญาติฝ่ายภรรยาที่เดินทางมาจากเลห์ชั่วคราว”
เมื่อบอกว่าขอเข้าไปดูด้านในหน่อย ลุงจันสมุทรลังเลนิดหนึ่ง ก่อนจะเรียกหญิงสาวที่ขี่จักรยานคนนั้นมาเปิดประตูให้
ด้านในพระอุโบสถใช้เป็นที่พักจึงมีเข้าของระเกะระกะเต็มไปหมด แม้จะก้มกราบพระประธานก็ต้องคอยระวัง เพราะไม่รู้จะมีเสื้อผ้าของใครหล่นลงมา
ลุงจันสมุทรพาเดินชมทั่วบริเวณวัดและพามาส่งถึงหน้าวัด ก่อนจากจึงหันไปกระซิบถามว่า “ไม่คิดถึงบ้าน ไม่อยากกลับบ้านเกิดหรือ” ปฐมายกมือขึ้นไหว้ ก่อนจะบอกด้วยเสียงเศร้าๆว่า “คิดถึงครับแต่คงกลับไม่ได้แล้ว ผมได้สัญชาติอินเดีย เพราะมีเมียเป็นคนอินเดีย และมีลูกอีกสามคนเป็นคนอินเดีย แม้จะคิดถึงก็คงไม่กลับไปอีกแล้ว”
คนไกลบ้านคนสองคนเดินเคียงกันคุยกันอย่างสนิทสนม เหมือนกับว่าจะไม่อยากห่างจากกัน ทั้งสองต่างก็ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมาดำรงชีวิตอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง คงยากจะเข้าใจความรู้สึกภายในได้
อโศกมิชชั่นในอดีตเคยเป็นวัดของในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาก่อน มีพระอุโบสถถูกต้องพร้อมที่จะให้การอุปสมบทพระภิกษุที่ถูกต้องตามธรรมวินัยได้ แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นวัดในนิกายมหายานโดยมีลามะลอบซังผู้อยู่ในวัยชราดูแลรักษาไว้ แต่ไม่รู้ว่าท่านจะอยู่ได้อีกนานเท่าใด กี่ชีวิตกี่วิญญาณแล้วที่ทิ้งฝังอัฏฐิก่อสถูปเจดีย์ไว้ ณ สถานที่แห่งนี้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/05/57
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก http://www.asokamission.com/