ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             แสงแดดยามเช้าสดใสเมื่อเดินทางไปถึงวิหารฮัรมันดิร ซาฮิบ เมืองอัมริตสาร์ หรืออมฤตสาร์ หรือที่คนส่วนมากนิยมเรียกติดปากว่า “วิหารทองคำ” หรือ “สุวรรณวิหาร” ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดในศาสนาซิกข์ เนื่องจากยังเช้าอยู่แต่ทว่าวันนั้นกลับมีผู้คนจากแทบทุกศาสนาเดินเบียดเสียดกันเพื่อที่จะเข้าไปยังวิหารทองคำ เมื่อผ่านประตูด้านหน้าเข้าไปจะมองเห็นวิหารทองคำโดดเด่นเป็นสง่า อยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ มองไกลๆเหมือนเรือลำใหญ่ที่กำลังล่องลอยอยู่กลางกระแสน้ำ

             เมืองอัมริตสาร์เป็นเมืองหลวงของรัฐปัญจาป เป็นเมืองที่สำคัญของศาสนาซิกซ์ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรที่นับถือศาสนาซิกซ์ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นฮินดูอีก  25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นเป็นมุสลิมและชาวพุทธ ดังนั้นศาสนาซิกซ์จึงเป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเมืองนี้
             พระวิหารฮัรมันดิร ซาฮิบได้รับความเสียหายครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2527 เมื่อรัฐบาลอินเดียในขณะนั้นซึ่งมีนางอินทิรา คานธีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ส่งกองทหารเข้ามาทำการกวาดล้างชาวซิกข์หัวรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอาคารพระวิหารหลายแห่ง แต่ต่อมาชาวซิกข์ศาสนิกชนก็ได้ร่วมมือกันซ่อมแซม พระวิหารให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวซิกข์ศาสนิกชนทั้งหลายจนแล้วเสร็จ กลับมาเป็นพระวิหารที่สวยสดงดงามและเด่นตระหง่านเช่นเดิม ดังที่เห็นในปัจจุบัน

             พระศาสนวิหารแห่งนี้เปรียบเสมือนกับสัญลักษณ์อันสำคัญของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวซิกข์ตลอดช่วงศตวรรษที่สิบแปด ซึ่งในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบนั้น ชาวซิกข์ทั้งหลายยังได้ใช้ศาสนสถานพระสุวรรณวิหารแห่งนี้เป็นป้อมปราการในการต่อสู้อีกด้วย
             พระวิหารทองคำมีทั้งเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของความรัก ความสุข และเรื่องโศกเศร้าต่างๆ มากมาย ซึ่งได้กลายมาเป็นนิทานและวรรณคดีพื้นบ้านที่เล่าต่อๆ กันมา จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของศาสนาซิกข์และฝังอยู่ในความทรงจำของชาวซิกข์ทั้งหลายตลอดมา
             ในวันที่เดินเข้าไปยังวัดวิหารทองคำนั้น ผู้สมัครจากพรรคประชาชนภารติยะ ชะนะตะ หรือพรรค BJP ซึ่งมีนานนาเรนทรา โมดี เป็นหัวหน้า เขาแจกแผ่นโฆษณาหาเสียงและผ้าโพกศีรษะให้กับซิกขศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปยังวิหารทองคำ ผู้เขียนได้รับแจกผ้าโพกศีรษะและแผ่นหาเสียงมาแผ่นหนึ่งแต่อ่านไม่ออก เห็นแต่ภาพของมูดี้กำลังแย้มยิ้มที่ริมฝีปาก พลางโบกมือให้กับใครบางคนอย่างตั้งใจ

             อินเดียเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า 800 ล้านคน ในช่วงที่อินเดียกำลังมีการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งใช้เวลาในการเลือกตั้งยาวนานประมาณหนึ่งเดือน พรรคการเมืองที่กำลังต่อสู้กันแย่งชิงกันมีหลายพรรค แต่ที่สำคัญมีสามพรรคคือพรรรคกรองเกรส (Congress Party) โดยมีราหุล คานธี อายุ 44 ปี  เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีนางโซเนีย คานธีเป็นประธานพรรคครองเกรส
             พรรคประชาชนภารติยะ ชะนะตะ (Bharatiya Janata Party - BJP) นำโดยนายนาเรนทรา โมดี (Narendra Modi) อายุ 64 ปี อดีตมุขมนตรีหรือผู้ว่าการรัฐอันเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐกุจจาราต สร้างชื่อเสียงมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐกุจจาราต
             พรรคสามัญชน (Aam Aadmi Party) มีนายอารวินด์ เขตริวาล (Arvind Kejriwal) อายุ 46 ปี เป็นหัวหน้า เป็นพรรคการเมืองเกิดใหม่ มีนโยบายเน้นที่การต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งพรรคเมื่อปี 2012 และชนะเลือกตั้งได้ปกครองเขตนครหลวงเดห์ลี หัวหน้าพรรคได้รับรางวัลแม็กไซไซจากฟิลิปปินส์ในฐานะผู้นำที่กำลังเกิดและเติบโตในยุคใหม่

             ทั้งสามพรรคมีสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด เท่าที่อยู่ในอินเดียเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนรู้สึกว่าโมดีจะหาเสียงอย่างหนัก ทุกเมืองที่เดินทางไปจะเห็นภาพแผ่นโฆษณาหาเสียงของพรรคประชาชนภารติยะ ชะนะตะ นานๆจึงจะได้เห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองอื่น โมดีน่าจะมีคะแนนนำพรรคอื่นๆ แต่อย่าได้ประมาทพรรคการเมืองอีกสองพรรค การเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะอาจจะมีประเด็นที่อาจจะทำให้เกิดการพลิกผัน จนเป็นเหตุทำให้อีกสองพรรคชนะการเลือกตั้งก็ได้
             ถามคนอินเดียหลายคนเขาบอกว่าผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งหากไม่ใช่พรรคครองเกรสของราหุล ก็คงจะเป็นพรรคประชาชนภารติยะ ขะนะตที่โมดีเป็นผู้นำ  แต่ช่วงนี้โมดีมาแรงกว่า ส่วนพรรคสามัญชนที่มีเขตรวาลเป้นผู้นำคงชนะเฉพาะในเดห์ลี คะแนนเสียงจากรัฐอื่นๆยังไม่แรงพอ แต่เมื่อขอให้ชี้ชัดลงไปเลยว่าใครจะได้รับชัยชนะ เขาบอกว่า “โมดี” จะชนะการเลือกตั้ง จริงหรือเท็จก็ต้องรอดูผลการเลือกตั้งในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ซึ่งจะมีการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ    อินเดียใช้เวลาเลือกตั้งยาวนานหนึ่งเดือนจากวันที่ 12 เมษายน ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557

             เดินทางไปวิหารทองคำแท้ๆแต่กลับวกเข้าหาการเมือง เพียงเพราะผ้าโพกศีรษะที่ได้รับแจกมาผืนเดียว แต่ทว่าวันนั้นก็ไม่ได้ใช้ เพราะใช้หมวกไหมพรมแทน ก่อนจะเดินทางเข้าไปยังวิหารต้องถอดรองเท้าฝากไว้ที่ทางเข้า และจะต้องล้างเท้าก่อนจะเดินผ่านประตูเข้าไป ที่สำคัญจะต้องโพกผ้าหรือใส่หมวก จะเปลือยศีรษะโชว์เกศาเข้าไปไม่ได้ หากใครที่ยังไม่โพกผ้าก็จะมีใครบางคนหาผ้ามาโพกให้ ผู้เขียนใส่หมวกไหมพรมกันหนาวไว้บนศีรษะก็เป็นอันใช้ได้
             ครั้งหนึ่งต้องการถ่ายภาพโดยถอดหมวกยืนอยู่ในกลุ่มของฝูงชน ก็จะมีผู้มาชี้ให้ใส่หมวกหรือโพกผ้า ต้องรีบใส่ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ทว่าก็ไม่ควรทำผิดไปจากวัฒนธรรมของผู้คนในถิ่นนั้นๆ ต้องเคารพวัฒนธรรมของคนอื่นด้วย จึงจะทำให้อยู่ในกลุ่มของมวลชนนั้นได้ แม้จะแตกต่างกันทางวัฒนธรรมแต่หากยอมรับความแตกต่างก็ทำให้เกิดมิตรภาพขึ้นระหว่างคนต่างวัฒนธรรมกันได้

             ในช่วงเวลาที่อยู่ท่ามกลางชาวซิกข์สัมผัสและรับรู้ได้ถึงความเป็นมิตรภาพ แม้จะมีเครื่องแบบที่แตกต่างกัน นับถือศาสนาต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน แต่ทว่าในท่ามกลางแห่งความแตกต่างนั้นก็ยังมีความเป็นเพื่อนต่างศาสนา ทุกคนที่ได้พบหน้ามักจะมีหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เวลาที่ขอถ่ายภาพร่วมเป็นที่ระลึกก็จะยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในทำนองเดียวกันแม้ในห้วงยามนั้นเมื่อมีผู้ขอถ่ายภาพร่วมเราก็ยินดีให้ความร่วมมือด้วยมิตรภาพ ดังนั้นคงมีภาพอีกหลายอริยาบถในกล้องของใครบางคนในบางห้วงเวลา เหมือนกับที่เราก็มีภาพของใครบางคนในบางห้วงยามเหมือนกัน
             ในแต่ละวันจะมีชาวซิกข์เดินทางมาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์และอาบน้ำที่สระรอบๆวิหาร เขาอาบน้ำกันด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อาบน้ำไปก็ไหว้วิหารทองคำและสวดมนต์พรำพรำไป  เหมือนดังกับชาวฮินดูอาบน้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ดุจเดียวกัน แต่ละศาสนามักจะมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาสนา ความเชื่อของแต่ละศาสนาย่อมเป็นสิทธิ์ของแต่ละศาสนาว่ากันไม่ได้ แม้หากไม่เชื่อก็อย่างได้ดูหมิ่นหรือทำลายความเชื่อนั้น

             เวลายิ่งสายผู้คนกลับยิ่งมีปริมาณที่มากขึ้น ต่างก็หลั่งไหลมายังวิหารทองคำไม่ขาดสาย น้ำในสระสะอาดผ่านการฆ่าเชื้อและรักษาความสะอาดอย่างดี แม้จะมีผู้คนลงอาบน้ำชำระกายไม่ขาดแต่ก็ไม่ได้ทำให้น้ำเปลี่ยนสี พลังแห่งความเชื่อและความศรัทธาของมนุษย์นั้นไม่อาจจะมีพรมแดนใดมาขวางกั้นได้
            ในช่วงที่เดินทางกลับเวลาใกล้เที่ยงแล้ว ผู้คนก็ยิ่งมากวันนั้นนักการเมืองจากพรรคประชาชน ชะนะตะมาเปิดเวทีปราศรัยที่ใกล้ๆบริเวณทางเข้าวิหารทอง จึงทำให้ผู้คนแออัดเต็มไปทั่วอาณาบริเวณ เสียงนักการเมืองหาเสียง พร้อมทั้งแจกผ้าโผกศีรษะสีเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพในศาสนา หันกลับไปยังวิหารทองคำก่อนอำลาตั้งจิตอธิษฐานภายในใจขอให้สันติสุขจงบังเกิดมีแก่ชาวโลกด้วยเถิด มนุษย์เราอยู่กันอย่างสันติได้ แม้จะนับถือศาสนาต่างกันก็ตามทีเถิด

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
06/05/57
   

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก