ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 20/2557     มีกำหนดการเดินทางไปฝึกอบรมภาคจิตภาวนา ณ สังเวชนียสถานสี่ตำบลคือลุมพินี สถานที่ประสูติ ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศอินเดีย ระหว่างช่วงวันที่ 21 มีนาคม 2557 – วันที่ 4 เมษายน 2557 ออกเดินทางคืนวันที่ 20 มีนาคม 2557 ไปฝึกอบรมเพื่อศึกษาค้นคว้าจากสถานที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและจะได้ซึมซับรับอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวโลกในโอกาสต่อไป

           ในการศึกษาพุทธศาสนาและพุทธประวัติหากยังไม่ได้เดินทางไปชมสถานที่จริงแล้ว แม้จะอ่านจะศึกษาอย่างไรก็จะนึกภาพไม่ออก เพราะไม่เคยเห็นสถานที่จริงมาก่อน บางครั้งอาจจะเกิดคำถามว่าสถานที่แห่งนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงตำนานที่โบราณาจารย์ได้เล่าขานไว้เพื่อปลูกศรัทธาน่าเลื่อมใสเท่านั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาจากสังเวชนียสถานที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อได้เห็นสถานที่จริงก็จะได้ย้อนกลับไปยังอดีต ศึกษาเรียนรู้อดีตจากพุทธสถานในปัจจุบัน
           พุทธศาสนิกชนหากจะการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างแท้จริง หากเป็นไปได้มีโอกาส มีเวลา มีงบประมาณ ก็ควรเดินทางเพื่อไปชมและนมัสการสังเวชนียสถานสี่ตำบลคือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพานให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

           สำหรับสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้านั้น เมื่อไปเยือนยังสถานที่จริงเหมือนได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ประหนึ่งได้ฟังพระดำรัสจากโอษฐ์ของพระพุทธองค์เอง  
           ในช่วงวันเวลาก่อนที่พระพุทธองค์ใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ได้แสดงความอาลัยต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่าเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วจะไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า จากนั้นก็ทำหน้าเศร้าประหนึ่งจะหลั่งน้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ในอนาคตกาลภายภาคหน้าพุทธศาสนิกชนจะทำประการใด  ดังข้อความที่ปรากฎในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/131/113) ความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลายย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ ก็โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ”
           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้แสดงสังเวชนียสถานสี่ตำบลที่หากพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสได้ไปนมัสการจะได้ไปสวรรค์ดังข้อความว่า “ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถานสี่แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา สังเวชนียสถานสี่แห่งคือ

           1. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้
           2. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้    
            3. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้
           4. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ 
           สังเวชนียสถานสี่แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่าพระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
           นั่นเป็นข้อความที่ปรากฎในมหาปรินิพพานสูตร คำว่า “สถานที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา” ในอดีตกับสภาพที่ปรากฎในปัจจุบันมีอยู่จริง แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ยังเป็นสถานที่ที่ควรไปสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิตของชาวพุทธ หรือหากจะเดินทางไปหลายครั้งก็ไม่เป็นไรยิ่งไปยิ่งมีความรู้สึกว่าได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้าทุกครั้ง

           เมื่อไปลุมพินี เนปาลได้เห็นสถานที่ประสูติขององค์ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ที่ถือกำเนิดมาเพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ได้ถวายสักการะด้วยความเลื่อมใสเป็นปฏิรูปเทศโดยแท้ เมื่อครั้งที่ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้แสดง “อาสภิวาจา” ซึ่ง มาจากคำว่า “อาสภี” เป็นคำคุณนามแปลว่าเข้มแข็ง ประเสริฐ กล้าหาญ เหมือนวัวตัวผู้ ส่วนคำว่า “อาสภ” เป็นคำคุณนามและเป็นคำนามแปลว่าเหมือนวัวตัวผู้ วีรบุรุษ ผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้น “อาสภิวาจา” จึงแปลว่า วาจาอาจหาญ วาจาของผู้ยิ่งใหญ่  กล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส  เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส  เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส  อยมนฺติมา  เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ  อยเมตฺถ ธมฺมตา”  แปลเป็นภาษาไทยความว่า “เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มีดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้”
           ข้อความดังกล่าวมีแสดงไว้ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย  มหาวรรค (10/26/14)  ความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้วได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้านทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว และเมื่อฝูงเทพดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่ ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลกเราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้”  ความเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ยากที่ปัญญาของคนธรรมดาจะเข้าใจได้

           พุทธคยาสถานที่ตรัสรู้เล่า ได้เห็นโพธิพฤกษ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะนั่งขัดสมาธิต่อสู้กับหมู่มาร จนชนะมารและได้กลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระสัทธรรมสั่งสอนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารอันยุ่งเหยิง เข้าสู่วิมุติสุขตลอดชั่วกาลนาน  ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะที่ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ เจ้าชายสิทธัตถะนักบวชหนุ่มในวัย 35 ปี ได้ตัดสินเด็ดเดี่ยวยอมพลีตนเพื่อการบรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณดังที่แสดงไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ (20/251/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายได้ยินว่า เราเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่าจะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปก็ตามเถิด หากยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย”

           สารนาถ เมืองพาราณสี ในอดีตคือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา หากพระพุทธองค์เสวยนิพพานสุขแต่เพียงผู้เดียวไม่ประกาศให้โลกรู้ ก็ไม่มีใครได้รับรสแห่งสันติ นี่เพราะพระพุทธองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณล้นพ้นปรารถนาให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากความทุกข์จึงได้ประกาศหลักอริยสัจสี่และแนวดำเนินไปสู่สันติสุข ปฐมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงครั้งแรกมีปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตร(10/13/16) มีข้อความเริ่มต้นว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ (1) การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน  เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  (2) การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน  
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน  
           ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์แปดนี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ   ความดำริชอบ  เจรจาชอบ  การงานชอบ  เลี้ยงชีวิตชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ   ตั้งจิตชอบ   
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

           กุสินารา สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาของสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เฉกเช่นเดียวกันไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่พุทธองค์ผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ก็ต้องจากไปเหมือนคนอื่นๆ เมื่อเกิดมาในโลกนี้จะมัวช้าอยู่ไย เพราะเราไม่อาจจะล่วงรู้ได้ว่าพระยามัจจุราชจะมาพรากชีวิตของเราไปเมื่อใด ในมหาปรินิพพานสูตร (10/146-147/127) ได้แสดงถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าปรินิพานและเทพยดาได้แสดงธรรมสังเวชไว้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น     
           เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถานี้ ความว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะเปรียบเทียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธเจ้าทรงมีพระกำลังยังเสด็จปรินิพพาน”  แปลมาจากภาษาบาลีว่า “สพฺเพ ว นิกฺขิปิสฺสนฺติ  ภูตา โลเก สมุสฺสยํ  ยตฺถ เอตาทิโส สตฺถา โลเก อปฺปฏิปุคฺคโล  ตถาคโต พลปฺปตฺโต  สมฺพุทฺโธ ปรินิพฺพุโตติ” 

           เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสพระคาถานี้ความว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขาร เหล่านั้นเป็นสุข” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโขติ” คาถานี้พระภิกษุในสมัยปัจจุบันนำมาใช้ในการพิจารณาผ้าบังสุกุลจากซากศพของผู้ที่สิ้นชีวิต 
           สรุปว่าสถานที่ทั้งสี่แห่งคือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนาและสถานที่ปรินิพพาน ทุกแห่งมีอยู่จริงและมีอนุสรณ์สถานให้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดาและเหล่าพุทธสาวกที่เคยลำบากมาก่อนกว่าที่จะประกาศพระพุทธศาสนาให้โลกได้รับรู้
           สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ก็ไม่เป็นไรเพราะเรามีสิ่งที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธศาสนาอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้วสรุปได้สั้นๆว่า “พุทธรูปา โพธิรุกขา เจติยา สถูปา ธัมมขันธา” เรามีพระพุทธรูปอันเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าอยู่ในวัดวาอารามทั่วประเทศ มีต้นโพธิ์ที่เป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้อยู่แทบทุกพื้นที่ มีเจดีย์และสถูปอยู่ทั่วประเทศ และมีพระไตรปิฎกและหนังสือธรรมะต่างๆมากมายให้ได้ศึกษา

           หากมีจิตเลื่อมใสมีใจศรัทธาได้เดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานด้วยความเคารพแล้วก็จะเป็นผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็น“สถานที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงรองรับกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน มิใช่เรื่องเล่าขานเพียงตำนานของโบราณาจารย์แต่ประการใด สถานที่เหล่านั้นมีปรากฏอยู่จริง ยังคงหลงเหลือไว้ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งตำนานของพระพุทธศาสนา
           พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 20/2557 จะได้เดินทางไปฝึกอบรมในสังเวชนียสถานสี่สำตำบลเป็นระยะเวลา 15 วัน ก่อนที่จะออกไปทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตเพื่อปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ไปเยี่ยมมาตุภูมิของพระพุทธศาสนาเพื่อจะได้ซึมซับรับเอาอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่มั่นคง ดำเนินตามแนวทางขององค์ศาสนาและดำเนินตามปฏิปทาของบุรพาจารย์เหล่าอรหันตสาวกที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ชาวโลกได้พบกับความสันติสุข
 


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
20/03/57

หมายเหตุ: เว็บมาสเตอร์ไชเบอร์วนาราม ร่วมเดินทางไปพร้อมกับพระธรรมทูตในครั้งนี้ด้วย

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก