ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ช่วงนี้อากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงบ่อย บางครั้งลมกรรโชกแรงนำเอาฝุ่นละอองปลิวว่อนไปทั่วอาณาบริเวณ อากาศก็หนาวแบบไม่เคยปรากฏ ในทุกปีที่ผ่านมากรุงเทพอากาศจะหนาวไม่นานบางปีเพียงสองสามวันก็เข้าสู่อากาศอีกแล้ว แต่ปีนี้ทุกอย่างเปลี่ยนกรุงเทพหนาวมาเป็นเดือนแล้ว ยังมีทีท่าว่าจะคงหนาวต่อไปอีก มีหลายคนอ้างเอาความหนาวมาเป็นเหตุ ไม่ให้ทำการงานคือ "หนาวนักยังเช้าอยู่" ยังไม่อยากทำงาน

            วันก่อนไปร่วมประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดการฝึกอบรมภาคศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาในประเทศอินเดีย-เนปาลของคณะกรรมการ เจ้าหน้าสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) ซึ่งมีกำหนดการในการฝึกอบรมที่ประเทศอินเดีย ฝึกจากสถานที่ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จะได้เพิ่มศึกษาและปฏิบัติเพื่อเพิ่มจิตวิญญาณของความเป็นพระธรรมทูต ก่อนที่จะสำเร็จการฝึกอบรมไปเป็นพระธรรมทูตเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ

            ารฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 20 การฝึกอบรมในปีก่อนๆจะฝึกอบรมทั้งสามภาคคือภาควิชาการ ภาคจิตภาวนา และภาคนวกรรม ทั้งสามภาคจะฝึกเฉพาะในประเทศไทย แต่รุ่นที่ผ่านมาคือรุ่นที่ 19 คณะกรรมการได้เสนอให้เพิ่มการปฏิบัติภาคศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดียเข้ามา และได้ดำเนินการจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แม้จะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ผ่านพ้นมาได้    ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 20 ประจำปีพุทธศักราช 2557 คณะกรรมการยังถือปฏิบัติตามนโยบายเดิมคือจะต้องเดินทางไปศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาที่ประเทศอินเดีย-เนปาล ปีนี้กำหนดให้เป็นสังเวชนียสถานสี่ตำบล ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก คิดได้วางแผนได้ แต่จะหางบประมาณมาจากไหน
            พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ปรารภในที่ประชุมว่า  “ง่ายเมื่อคิด แต่ติดเมื่อทำ”    เพราะงบประมาณที่สำนักงานพระพุทธศาสนาให้การอุดหนุนมานั้น ให้มาเฉพาะในการฝึกอบรมในประเทศ แต่งบประมาณในการเดินทางไปศึกษาดูงานที่อินเดียไม่มีให้ ดังนั้นคณะกรรมการซึ่งมีพระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์เป็นประธานกรรมการและพระครูปลัดวิริยวัฒน์(อารยวํโส)กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายจัดการฝึกอบรมภาคศึกษาดูงานและปฏิบัติจิตภาวนาในประเทศอินเดีย-เนปาล ต้องหางบประมาณมาดำเนินการเอง นโยบายวางไว้ดี คิดได้แต่พอจะดำเนินการมักจะติดขัดเรื่องงบประมาณทุกที  แม้จะลำบากอย่างไรเมื่อได้รับมอบหมายมาแล้วก็ต้องหาทางดำเนินการให้ได้ ไม่ใช่ง่ายเพียงแค่คิด แต่ต้องไม่ติดที่การกระทำด้วย

            ความคิดของมนุษย์นั้นบางอย่างเปลี่ยนเป็นการกระทำไม่ได้ เพราะคิดการใหญ่เกินไป มีแต่ความคิดเหมือนวาดวิมานในอากาศ แต่นำไปสู่การปฏิบัติจริงไม่ได้  ส่วนงานบางอย่างแม้จะไม่ได้วางแผนใหญ่โตอะไรมากนักแต่นำไปสู่การปฏิบัติได้
            หากเป็นคนที่ยังมีลมหายใจจึงต้องทำงาน เพราะงานนำมาซึ่งความสุข ในที่ใดที่คนไม่ทำงานแต่มีความสุขได้ แม้แต่ท้าวสักกะเทวราชก็ยังบอกให้สุสิมะพาไปดู
            คนที่ทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้นมักจะไม่ได้คำนึงถึงอุปสรรคปัญหาใด เพราะการทำงานต้องมีอุปสรรค งานที่ทำได้ยาก แม้ลำบากก็ไม่หวั่นไหว แต่คนที่ไม่อยากทำงานมักจะอ้างเหตุในการไม่ทำงานจนทำให้เกิดความเกียจคร้าน สาเหตุที่คนไม่ทำงานเพราะความเกียจคร้านซึ่งมักจะมีข้ออ้างไม่อยากทำงานมีหลายประการ
            พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุแห่งความเกียจคร้านไว้ในกุสีตวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย อัฎฐกนิบาต (23/185/267) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุสีตวัตถุแปดประการนี้คือ

            (1)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องทำการงาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่าเราจักต้องทำการงาน ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจะนอนเธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่หนึ่ง
            (2)  อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำการงานแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราแลทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุเพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้งนี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่สอง
            (3)  อีกประการหนึ่ง ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายจักลำบาก ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่สาม
            (4) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ กายลำบากแล้ว ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงทางที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุทางที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งทางที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่สี่

            (5)  อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวเดินบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั้นลำบากแล้ว ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้น เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่ห้า
            (6) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก ไม่ควรแก่การงาน เหมือนถั่วชุ่มด้วยน้ำผิฉะนั้นเราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่หก
            (7) อีกประการหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดแก่เราแล้ว มีข้ออ้างเพื่อจะนอน ผิฉะนั้นเราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่เจ็ด
            (8) อีกประการหนึ่ง ภิกษุหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน กายของเรายังอ่อนเพลีย ไม่ควรแก่การงาน ผิฉะนั้นเราจักนอนเสียก่อน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงการงานที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุการงานที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งการงานที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นกุสีตวัตถุประการที่แปด

            สรุปว่าคนเกียจคร้านนั้นมีสาเหตุมาจาก “กลัวลำบาก(ก่อนทำงานและหลังทำงานเสร็จ)  กลัวการเดินทาง(ในขณะทำงานและหลังทำงาน) กลัวอด(ขณะทำงานและหลังทำงาน) กลัวเจ็บป่วย(ในขณะทำงานและหลังทำงาน” จึงรวมเป็นสาเหตุแห่งความเกียจคร้านได้แปดประการ 
            การที่จะไม่ทำการงานสำหรับคนเกียจคร้านแล้วย่อมมีข้ออ้างได้เสมอ ส่วนผู้ที่พร้อมจะทำการงานแม้จะลำบากก็ต้องทำเพื่อให้การงานนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ส่วนผู้ที่จะไม่ทำงานมักจะมีข้ออ้างได้เสมอจนในที่สุดก็ไม่ได้ทำงาน พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของความเกียจคร้านไว้ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค (10 /184/141) ความว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้านหกประการเหล่านี้ คือ(1) มักให้อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน (2) มักให้อ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน (3) มักให้อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน (4) มักให้อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน (5) มักให้อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน (6) มักให้อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน   เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้นไป ดูกรคฤหบดีบุตร โทษหกประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้านเหล่านี้แล”

            คนขี้เกียจมักจะมีข้ออ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานเสมอ แต่คนที่ไม่ขยันไม่หมั่น ไม่พยายามจะหาความสุขได้จากที่ใด ความสุขส่วนหนึ่งของมวลมนุษย์มาจากการทำงาน  ดังที่ท้าวสักกะเทวราชได้แสดงแก่สุสิมเทพบุตร ในสุวีรสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/857/303) ความว่า “บุคคลไม่หมั่น ไม่พยายาม แต่ประสบความสุขได้ ณ ที่ใด  ดูกรสุสิมะเจ้าจงไป ณ ที่นั้น และจงพาเราไปให้ถึง ณ ที่นั้นด้วยเถิด”

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
25/01/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก