ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ประเทศไทยช่วงนี้ข่าวสารบ้านเมืองกำลังร้อน เพราะเต็มไปด้วยคำถามว่าใครผิดใครถูก การเลือกตั้งจะมีหรือไม่ กรุงเทพจะถูกปิดอีกเมื่อไหร่ คนพวกนี้จะเดินไปทางไหน  ในอนาคตบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ หากใครที่ติดตามข่าวสารการเมืองโดยพยายามทำใจให้เป็นกลาง บางทีก็ร้อนรุ่ม เพราะผู้คนที่อยู่ใกล้บางคนถือนกหวีด แต่บางคนนิยมสีแดง ในแต่ละวันไม่รู้ว่าจะต้องพบปะกับคนประเภทใดพวกเสื้อแดงหรือพวกถือนกหวีด ประเทศไทยกำลังเรียกร้องหาประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยในเส้นขนานที่ต่างความเห็นเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจจะมาบรรจบพบกันได้
               กสิกะ ชินากรณ์ เดินฝ่าลมหนาวมาแต่ไกล หลวงตาไซเบอร์ฯจึงเอ่ยทักขึ้นว่า “อาจารย์ไม่ไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์กับเขาหรือ คนมีความรู้น่าจะทำงานเพื่อประชาชน”
             “ไม่ดีกว่าครับ ปล่อยให้พวกนักการเมืองเขาแข่งขันกันเองดีกว่า  ไม่ใช่ไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่อยากลงเลือกตั้ง แต่ถึงลงสมัครก็คงแพ้ ฐานเสียงไม่มีเลย เงินก็ไม่ค่อยมี จะเอาแต่ความอยากอย่างเดียวไม่ได้   ประชาชนคงไม่เลือกนักการเมืองที่เขาไม่รู้จักหรอกครับ สู้สอนหนังสือสบายใจกว่าเยอะเลยครับ แม้จะได้เงินน้อย แต่มีความสุขครับ ความรู้ทางการเมืองมีน้อยมากเลยครับ”
            หลวงตาไซเบอร์ฯจึงถามว่า “ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นๆเหมือนกันหรือต่างกัน ทำไมบ้านอื่นเมืองอื่นเขาสงบร่มเย็น แต่เมืองไทยมีปัญหาวุ่นวายไม่สิ้นสุดสักที ประเดี๋ยวสงครามสี ประเดี๋ยวอำมาตยาธิปไตย ประเดี๋ยวทักษิณาธิปไตย ต่อไปคงมีระบอบอื่นๆอีกมาก มันยังไงกันแน่”
     กสิกะจึงตอบว่า “ระบอบประชาธิปไตยจริงๆต้องว่าตามคำพูดของ อับราฮัม  ลินคอล์น  ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการปกครองระบออบประชาธิปไตยไว้ว่า “ประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน หลักของประชาธิปไตย คือให้อำนาจแก่ประชาชน ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และด้านพิจารณาอรรถคดี ที่เรียกว่า ตุลาการ” ผมก็จำเขามาอีกทีหนึ่งนะครับ แต่ว่าโดยหลักการคือเสียงส่วนมาก ในพระพุทธศาสนามีหลักของการปกครองอย่างไรบ้างครับ
           กสิกะถามเหมือนกำลังหาทางออก หลวงตาฯจึงกล่าวว่า “หลักอธิปไตยที่แปลว่าความเป็นใหญ่ ภาวะที่เอาเป็นใหญ่ ซึ่งแสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (20/ 476/186) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย สามอย่างนี้คือ อัตตาธิปไตย  โลกาธิปไตย  ธรรมาธิปไตย”
            อัตตาธิปไตย  หมายถึงความมีตนเป็นใหญ่ ถือตนเป็นใหญ่ การกระทำด้วยปรารภตนเป็นประมาณ คำอธิบายในพระไตรปิฎกว่า “เธอทำตนเองแลให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย”
            โลกาธิปไตย  หมายถึงความมีโลกเป็นใหญ่ ถือโลกเป็นใหญ่ การกระทำด้วยปรารภนิยมของโลกเป็นประมาณ คำอธิบายในพระไตรปิฎกว่า “เธอทำโลกให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโลกาธิปไตย
            ธรรมาธิปไตย หมายถึงความมีธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นใหญ่ การกระทำด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรมเป็นประมาณคำอธิบายในพระไตรปิฎกว่า “เธอทำธรรมนั่นแหละให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย”
            โลกาธิปไตยน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “ประชาธิปไตย” มากที่สุดเพราะถือปฏิบัติตามเสียงของชาวโลก ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ บางทีพวกมากก็ลากกันไปก็มี 
            แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ได้กล่าวถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยตรง แต่กล่าวไว้โดยอ้อม หากจะเทียบเคียงกับระบอบประชาธิปไตย ก็พอจะเทียบเคียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยได้วางกฎเกณฑ์สำหรับพุทธบริษัท โดยเฉพาะองค์กรสงฆ์ ซึ่งมาจากพื้นฐานอาชีพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในสมัยที่ยังยึดถือในระบบชนชั้นวรรณะ ซึ่งคนที่มีวรรณะต่ำกว่าไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนวรรณะที่สูงกว่า  อินเดียโบราณแบ่งคนตามวรรณะสี่ประเภทคือ “กษัตริย์  พราหมณ์ แพศย์ ศูทร”  หากแต่งานนอกวรรณะมีลูกเกิดขึ้น ก็จะเรียกว่า “จัณฑาล” แต่สำหรับสังคมสงฆ์ได้ยกเลิกระบบวรรณะ ใครจะมาจากวรรณะไหนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ยึดถือและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเหมือนกัน 
       “ธรรมวินัย” จึงเปรียบเหมือนธรรมนูญของพระพุทธศาสนา   ในการบัญญัติ “ธรรมวินัย” พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์ของความเป็นพระพุทธเจ้าบัญญัติเอง แต่มีขั้นตอนในการบัญญัติพระวินัย
โดยเรียกคณะสงฆ์มาประชุมร่วมกัน จากนั้นสอบถามว่าทำผิดจริงหรือไม่ พระสงฆ์สมัยนั้นจะพูดตามความเป็นจริงคือถ้าทำก็บอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำก็จะปฏิเสธ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วผู้ทำผิดรับสารภาพแล้ว จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเหตุที่บัญญัติพระวินัย ดังข้อความที่แสดงไว้ในวินัยปิฏก มหาวิภังค์ (1/20/26) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการคือ (1)เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (4) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (6) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต (7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (10) เพื่อถือตามพระวินัย 
            จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทหรือจะเทียบเคียงกับมาตราในรัฐธรรมนูญก็น่าจะได้ สิกขาบทนั้นพระภิกษุต้องปฏิบัติตาม เหมือนกับประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
            หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นก็จะมีวิธีในการแก้ปัญหาที่เรียกว่า “อธิกรณสมถะ” หมายถึงการระงับข้อพิพาท ซึ่งแสดงไว้ในวินัยปิฏก  มหาวิภังค์ภาค 2 (2/880/834) ความว่า “ท่านทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์เจ็ดประการเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ คือ(1) พึงให้ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า (2) พึงให้ระเบียบที่ยกสติขึ้นเป็นหลัก (3)พึงให้ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว (4) ทำตามสารภาพ (5) วินิจฉัยอาศัยความเห็นข้างมาก (6) กิริยาที่ลงโทษแก่ผู้ผิด (7) ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า เพื่อสงบระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นๆ แล้ว”
            หากจะเขียนเป็นภาษาภาบลีก็จะเป็นดังนี้ “อิเม โข ปนายสฺมนฺโต สตฺต อธิกรณสมถา ธมฺมา อุทฺเทสํ อาคจฺฉนฺติ ฯ อุปฺปนฺนุปฺปนฺนานํ อธิกรณานํ สมถาย วูปสมาย สมฺมุขาวินโย ทาตพฺโพ สติวินโย ทาตพฺโพ อมุฬหวินโย ทาตพฺโพ ปฏิญฺยาย กาเรตพฺโพ เยภุยฺยสิกา ตสฺสปาปิยสิกา ติณวตฺถารโกติ” 
            ภาษาบาลีเหล่านี้พระภิกษุใช้สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน  หากจะนำมาจำแนกก็จะเป็นวิธีระงับข้อพิพาทได้เจ็ดประการดังนี้
            1. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
            2. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
            3. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
            4. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
            5. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา
            6. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
            7. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
            ทั้งอธิกรณ์(ข้อพิพาท)และการระงับข้อพิพาทจะต้องทำเป็นการทำของสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ เหมือนการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีมและในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิยับยั้งได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟัง  ใช้เสียงข้างมากแต่ก็ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย
            หลวงตาฯอรรถาธิบายจบ ก่อนจะหันมาถามกสิกะ ชินากรณ์ว่า “หลักการของระบอบประชาธิไตยสากลแสดงไว้อย่างไร” 
            กสิกะ ชินากรณ์ ได้โอกาสจึงบอกว่า  “หลวงตาพูดเหมือนการเมืองเลยนะครับ แต่ฟังไปเหมือนคนที่กำลังกดดันอะไรบางอย่าง การเมืองมีอิทธิพลถึงศาสนจักรเลยนะครับ” ก่อนจะวกเข้าสู่ประเด็นว่า    “เท่าที่ผมได้ศึกษามา หลักการของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลจะต้องมีหลักการสรุปได้ 5 ประการตามที่ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สรุปไว้คือ
            1. หลักเสรีภาพ (Liberty) ซึ่งต้องประกอบด้วย สิทธิ หน้าที่ อิสรภาพ และสมภาพ จะต้องอยู่ร่วมกัน
            2. หลักความเสมอภาค (Equality) คือความเท่าเทียมกัน ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ
            3. หลักเหตุผล (Rationality) การตัดสินความขัดแย้งด้วยเหตุผล
            4. การตัดสินโดยเสียงข้างมาก (Majority) เสียงข้างน้อย ได้รับการคุ้มครอง (Majority rule, and minority right) 
            5. การผลัดเปลี่ยนกันหมุนเวียนดำรงตำแหน่ง (Rotation) ไม่ผูกขาดแต่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพียงผู้เดียว (ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง: แนวความคิดและการพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ 15, สำนักพิมพ์ เสมาธรรม, กรุงเทพฯ: หน้า 249 – 258)
            หลวงตาไซเบอร์ฯจึงบอกว่า “หากจะเทียบเคียงกับระบอบประชาธิปไตยก็จะเป็นประเภท “เยภุยยสิกา การระงับข้อพิพาทโดยการใช้เสียงข้างมาก” เสียงส่วนมากในที่นี้ในสมัยนั้นส่วนหนึ่งเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่มีความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดตามหลักอคติคือความไม่เที่ยงธรรม ดังที่แสดงไว้ในอคติสูตร จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย (21/17/23) ความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติสี่ประการนี้ คือ (1) บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ (2) ย่อมถึงโทสาคติ (3) ย่อมถึงโมหาคติ (4) ย่อมถึงภยาคติ  
            ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลงความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น”
            การพิจารณาตัดสินคดีความจึงมีหลักการที่สำคัญคือ “การไม่มีอคติ” ดังที่แสดงไว้ในสูตรเดียวกันมีข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติสี่ประการนี้คือ(1) บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ (2)ย่อมไม่ถึงโทสาคติ (2) ย่อมไม่ถึงโมหาคติ (4) ย่อมไม่ถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติสี่ประการนี้แล”
            ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชังความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น”
            การใช้หลัก “เยภุยยสิกา คือการใช้เสียงข้างมาก” ต้องยึดถือตามหลักการคือไม่เอนเอียง ต้องเที่ยงธรรม จึงจะใช้ได้ หากเสียงข้างมากแต่ทว่าเต็มไปด้วย “อคติ ความลำเอียง” ก็มักจะตัดสินเข้าข้างตัวเองและพวกพร้อง 
 
 
            กสิกะ ชินากรณ์ถอนหายใจก่อนจะบอกว่า “ผมก็นึกว่าเสียงข้างมากอย่างเดียวจะใช้ได้เลย นานๆจะได้ฟังหลวงตาฯเทศนากัณฑ์การเมืองสักที แต่ว่าใครคือเสียงส่วนมากหรือเสียงส่วนน้อยระหว่างมวลมหาประชาชนที่ราชดำเนิน กับประชาชนที่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย”
            หลวงตาฯ “เรื่องมันจะยาวต่อไปอีกนะ ถ้าไปนับจำนวนคน เอาเป็นว่าอย่าพยายามดึงหลวงตาฯไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย ขอเป็นกลางไว้สักคนเถอะ เพราะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการลงคะแนนเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”
            กสิกะ ชินากรณ์ เดินลับหายไปกับสายลมหนาวที่กรรโชกแรง กรุงเทพมหานครปีนี้หนาวนานกว่าทุกปี ประชาชนจำนวนหนึ่งกำลังป่วยเป็นโรคภูมิแพ้  เป็นภูมิแพ้กรุงเทพมหานคร ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แต่เป็นประชาธิปไตยในเส้นขนานที่ยังหาจุดนัดพบไม่ได้
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
24/12/56
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก