กฐินและประเพณีวันลอยกระทงพึ่งผ่านพ้นไป ตามสายน้ำคราคร่ำไปด้วยกระทงที่ล่องลอยตามกระแสน้ำ ส่วนบนท้องฟ้าคราคร่ำไปด้วยกระทงลอยฟ้า ที่มีแสงไฟสว่างไสวเหมือนกำลังประดับให้ท้องฟ้าให้สง่างาม สายน้ำและท้องฟ้าในคืนวันลอยกระทงงดงามอย่างยิ่ง สายน้ำแต่ละแห่งถูกแสงไฟจากกระทงแต่งแต้มตกแต่งสีสรรค์ ส่วนฟากฟ้าก็ถูกแสงไฟจากโคมไฟวาดภาพตามจินตนาการ กลายเป็นความงดงามจากวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวไทยสืบสานมายาวนาน
แม้ในวันลอยกระทงแต่ทว่าในห้วงคำนึงกลับย้อนกลับไปที่งานกฐินที่วัดอัมพวัน จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นั่นยังรักษาความเป็นธรรมชาติ แห่งท้องทุ่งและสายน้ำไว้อย่างดี ข้าวในนากำลังออกรวงเหลืองอร่าม น้ำในแม่น้ำยังสะอาดบริสุทธิ์ดื่มกินได้ ผักผลไม้ก็ปลูกกินเองตามมีตามได้ นาข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่ามประหนึ่งทุ่งรวงทองมองดูสุดสายตา ข้าวกำลังสุกเหลืองพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ผลิตผลของชาวนาปีนี้คงพอยิ้มได้บ้าง อย่างน้อยในน้ำยังมีปลา ในนายังข้าว
กฐินปีนี้มีจุดหมายปลายทาง คือจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านพี่สาวของคุณตา(พ่อของแม่) ที่แม้จะเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่ลูกหลานยังสืบสานสายสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จนนับญาติกันลำบาก แต่ความเป็นญาตินั้นนับกันไม่ยาก นั่งคุยกับคุณยาย(ลูกสาวของพี่สาวคุณตา ปัจจุบันอายุแปดสิบปีแล้ว)ไม่นาน ก็กลายเป็นญาติที่คุ้นเคย จากนั้นก็มีเหล่าลูกหลานของคุณยายเข้ามาทักทาย แต่ละคนก็บอกสถานะว่าตนเองเป็นใครสืบสายใยมาจากไหน เป็นญาติฝ่ายไหน ไม่นานก็กลายเป็นญาติเกือบทั้งหมู่บ้าน ปีนี้มีญาติเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้วที่จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อไปกราบหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อายุแปดสิบปี ท่านก็เริ่มเรียงญาติ แต่จำได้เพียงแต่ว่าเป็นญาติฝ่ายพ่อย้ายมาจากยโสธร เคยพบเคยเห็นกับคุณพ่อของผู้เขียนมาก่อน มีอายุไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ได้พบกันนานแล้ว เพราะต่างก็โยกย้ายถิ่นฐานไปคนละทิศละทาง
คืนนั้นจึงได้หลับสนิทบนศาลาการเปรียญ แม้ช่วงหัวค่ำจะมีเสียงเพลงของชาวบ้านที่สมโภชกฐินกันเอง นักร้องก็ใช้คนในหมู่บ้านผลัดเปลี่ยนกันร้อง โดยใช้ดนตรีจากแผ่นซีดี เสียงเพลงนั้นแม้จะฟังแล้วไม่ค่อยเสนาะหู บางคนร้องเหมือนอ่านหนังสือ แต่ก็ฟังเพลิดเพลินไปอีกแบบ ชาวบ้านใช้วิธีฉลองกฐินเท่าที่จะหาได้ เรียบง่ายแต่งดงาม
ตกดึกอากาศเริ่มหนาว เสียงแมลงกลางคืนแข่งกันร้องระงม จนฟังไม่ออกบอกไม่ได้ว่าเสียงแมลงชนิดไหนบ้าง เสียงร้องแบบไม่มีการเรียบเรียงเสียงประสาน ต่างฝ่ายต่างร้องไร้ท่วงทำนอง แต่ทว่ากลับกลมกลืนสอดคล้องกลายเป็นเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติที่เพราะพริ้งเพลิดเพลินฟังแล้วสบายใจ ธรรมชาติเป็นไปอย่างง่ายๆแต่งดงาม
ตอนเช้าตื่นขึ้นมาในอารามชนบท ที่อยู่ท่ามกลางทุ่งนาที่ข้าวกำลังออกรวง ตะวันกำลังโผล่พ้นขอบทุ่งแดดแยามเช้าสัมผัสกับหมอกที่ยังเกาะอยู่ตามรวงข้าว เป็นความงามตามธรรมชาติที่เรียบง่าย งดงามอย่างประหลาด
กำลังถ่ายภาพนาข้าวที่สะท้อนกับแสงตะวัน มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเดินเข้ามาหา ถามว่ากำลังทำอะไร จึงบอกว่ากำลังถ่ายภาพความงามของทุ่งนา มีช่วหนึ่งที่หลุดปากออกไปว่า “ธรรมชาติงดงามนะครับ”
ภิกษุหนุ่มรูปนั้นตอบว่า “ก็งั้นๆแหละครับ แห้งแล้ง เปล่าเปลี่ยว ไม่เห็นจะงามตรงไหน งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่พระ ละอยู่ที่จริงครับ” เล่นตอบแบบไม่ไว้หน้าอย่างนี้ ผู้ถามเลยต้องเงียบ ภิกษุรูปนั้นเดินจากไปแล้วเห็นเพียงเงาหลังที่โดดเดี่ยว มีมุมมองความงามไปอีกอย่าง
ตอนนั้นก็พลันเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ความงามอยู่ตรงไหน อยู่ที่ตัววัตถุ หรือว่าอยู่ที่คนมอง “ คิดถึงคำตอบตามหลักวิชาสุนทรียศาสตร์ที่เคยเรียนมานานแล้ว ความทรงจำก็ย้อนกลับมา กลายเป็นคำตอบตามหลักวิชาสุนทรียศาสตร์วิชาที่ว่าด้วยความงาม
ตามแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์บอกว่า “เกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรงามหรือไม่งามนั้น โดยสรุปมีสามประการ คือความงามอยู่ที่ตัววัตถุ ความงามอยู่ที่ตัวคนมอง และความงามอยู่ที่สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งสรุปได้ดังนี้
กลุ่มที่ใช้ตนเองเป็นตัวตัดสิน ความงามอยู่ที่คนมอง
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ จิตพิสัยหรืออัตวิสัย ” ( Subjectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความรู้ ความจริงและความดีงามทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีความจริงในตัวเอง หากแต่เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ในทางความรู้ ความจริงและความดีงามนี้จึงไม่มีอยู่จริง มนุษย์เท่านั้นที่มีอยู่จริงและจะเป็นตัวตัดสิน พร้อมทั้งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา มนุษย์แต่ละคนต่างมีมาตรวัดความจริงต่างกันออกไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด เกณฑ์การตัดสินแบบนี้สามารถทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองได้ แต่หากความรู้สึกเชื่อมั่นนี้มีมากจนเกินไปอาจจะส่งผลทำให้เราเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลต่อไปคือ ทำให้เรามีโลกทัศน์ที่แคบ และเดียวดายในโลกกว้างนี้
อะไรจะงามหรือไม่งามจึงอยู่ที่คนมอง ในกรณีที่มองสิ่งเดียวกันเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ทว่าจิตสัมผัสการรับรู้ต่างกัน ย่อมมองเห็นสิ่งที่ถูกมองต่างกัน ผู้เขียนมองความเป็นธรรมดาของธรรมชาติว่าเป็นความงาม แต่ทว่าภิกษุหนุ่มรูปนั้นอยู่ที่นี่มานานจนเกิดความชาชินจึงมองเห็นสิ่งต่างๆเป็นธรรมดา
กลุ่มที่เชื่อว่า มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวที่จะใช้ตัดสินได้ คงามงามอยู่ที่วัตถุ
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ วัตถุพิสัยหรือปรวิสัย ” ( Objectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า มีเกณฑ์มาตรฐานตายตัวแน่นอนในทางศิลปะ ซึ่งสามารถนำไปตัดสินผลงานได้ในทุกสมัย เกณฑ์มาตรฐานนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกใครหรือศิลปินคนไหน กลุ่มนี้มีความเชื่ออีกว่า สุนทรียธาตุมีอยู่จริง แม้ว่าเราจะเข้าถึงมันไม่ได้ก็ตาม แต่มันก็มีอยู่จริง และด้วยเหตุผลนี้ การที่เราตัดสินศิลปะออกมาไม่เหมือนกันก็เพราะเราแต่ละคนไม่สามารถเข้าถึงสุนทรียธาตที่แท้จริงได้หรือตัวจริงมาตรฐานนั่นเอง การที่เราจะเข้าถึงเกณฑ์มาตรฐานนี้ได้นั้น เราจำเป็นต้องฝึกพัฒนาจิตให้สมบูรณ์จนสามารถเห็นความงามมาตรฐานได้ บางคนอาจทำสมาธิ บางคนอาจฝึกฝนทางศิลปะจนชำนาญ
ความงามมีอยู่จริงใครมองก็ต้องบอกว่างาม มีศิลปะบางอย่างที่คนส่วนมากบอกว่างาม ทั้งๆบางคนไม่ได้มีความรู้ทางศิลปะเลย แต่เมื่อมองด้วยผัสสะทางตาก็สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งนั้นงาม แต่สิ่งที่เป็นความงามสากลอยู่ตรงไหนกัน ในโลกนี้มีอยู่จริงหรือไม่
กลุ่มที่เชื่อว่า หลักเกณฑ์ในการตัดสินสุนทรียศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ สัมพัทธพิสัย ” ( Relativism ) เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกับกลุ่มจิตพิสัย แต่ต่างกันตรงที่กลุ่มสัมพัทธพิสัยนั้นมีความเชื่อว่า กฎเกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น หรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ตลอดจนดิน ฟ้า อากาศของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์ เพราะผู้วิจารณ์จะต้องวางตัวเป็นกลางและต้องสำนึกอยู่ในใจเสมอว่า ตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม ดังนี้แล้ว เกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมบ้าง ตามสภาพของภูมิอากาศ ภูมิประเทศนั้น ๆ บ้าง แล้วแต่สภาวะแวดล้อมจะพาไป นั่นเอง
กลุ่มนี้ออกมากลางๆเพราะยังยอมรับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีทัศนะไม่เหมือนกัน ความงามของภูมิภาคแห่งหนึ่งอาจจะกลายเป็นความไม่งามของอีกแห่งหนึ่งก็ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมแตกต่างกันนั่นเอง มีตัวอย่างให้เห็นมากมายเช่นกระเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮ่องสอน คนถิ่นนั้นบอกว่าคือความงาม แต่สำหรับคนอีกบางกลุ่มอาจจะมองว่านั่นคือความทุกข์ทรมานที่จะต้องแบกห่วงทองเหลืองไว้จนคอยืดยาว ทั้งน่าเกลียดและน่าเป็นห่วง เป็นต้น
ทอดกฐินเสร็จ เห็นหลวงพี่รูปนั้นเดินเข้ามาหา จึงมีโอกาสได้สนทนา “หลวงพี่ครับ ช่วยขยายความให้ฟังหน่อยที่บอกว่า “งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่พระ ละอยู่ที่จริง” มันคืออะไร
หลวงพี่ยิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนจะสาธยายว่า “ผีหมายถึงคนตาย ทุกคนต้องตายเหมือนกัน หากพิจารณาความเป็นไปของชีวิต สุดท้ายก็ต้องตายกันทุกคน นั่นคืองามที่แท้จริง วันเวลามีความยุติธรรมเคลื่นอตัวไปไม่หยุดนิ่ง กลืนกินทุกสรรพสิ่งพร้อมทั้งตัวมันเอง มีภิษิตบทหนึ่งว่า “กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง” ผมจำไม่ได้ว่ามาจากไหน
คาถานี้มาจากมูลปริยายชาดก ขุททกนิกาย (27/340/91) ความว่า “กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว”
แปลมาจากภาษาบาลี (27/340/95) ว่า
“กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา
โย จ กาลฆโส ภูโต ส ภูตปจนี ปจิ ฯ”
ฉบับภาษาไทย หน้า 91 ส่วนฉบับภาษาบาลี หน้า 95
“ดีอยู่ที่พระ” ข้อนี้ชัดเจน พระมีทั้งพระพุทธรูปและพระสงฆ์ พระพุทธรูปนั้นมีความงดงามด้วยสัดส่วนและความดี จากนั้นจึงชั้ไปที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่กำลังสร้าง พระพุทธรูปองค์นั้นงามจริงๆทั้งสัดส่วนทั้งบรรยากาศ พระพุทธรูปยังงดงามด้วยพุทธคุณอีกด้วย ส่วนพระสงฆ์คือตัวแทนของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถ้าพระปฏิบัติไม่ผิดเพี้ยนจากธรรมวินัยย่อมมีผลกระทบต่อสังคมมากว่าชาวบ้านธรรมดา มีข่าวให้เห็นตามสื่อมากมาย
“ละอยู่ที่จริง” หมายถึงการปล่อยวาง การละ ลด เลิก ต้องกระทำด้วยความตั้งใจจริง ไม่ใช่ทำเล่นๆ เมื่อทำจริงก็ย่อมจะได้รับผลจริงๆตามสมควรแก่การกระทำ
“ผมจำมาอย่างนี้ ส่วนใครจะอธิบายอย่างอื่นนั้น ผมมีความรู้ไม่ถึง ท่านอาจารย์มีความรู้มากกว่าผมอธิบายเองก็แล้วกัน”
อันที่จริงเคยได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่ฟังจากคำอธิบายของหลวงพี่รูปนั้นแล้ว รู้สึกดี เรียบง่ายแต่ได้สาระ นำไปปฏิบัติได้ทันที
กฐินและลอยกระทงผ่านไปอีกปีแล้ว หากใครจะจัดงานก็ต้องรอปีหน้า เพราะกฐินและลอยกระทงมีปีละครั้งเท่านั้น คืนวันลอยกระทงได้ยินเสียงเพลงลอยกระทงแทรกผ่านมาจากศาลาหน้าวัด ผู้คนหลั่งไหลกันมาร่วมประเพณีลอยกระทงจนดึก กระทงล่องลอยตามสายน้ำมีแสงเทียนสาดส่องประดับคุ้งน้ำอย่างงดงาม และกลิ่นธูปลอยคลุ้งขึ้นสู่นภากาศ แต่ว่าความงามอยู่ที่คนมอง อยู่ที่กระทง หรือว่าอยู่ที่วัฒนธรรมกันเล่า วันนี้ได้คำอธิบายใหม่ จากหลวงพี่วัดอัมพวัน บุรีรัมย์ว่า “ความงามอยู่ที่ผี ความดีอยู่ที่พระ ละอยู่ที่จริง”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/11/56