คำพูดคำหนึ่งที่คนส่วนหนึ่งมักจะได้ยินอยู่เสมอว่า “ทำไมจึงไม่มีความสุข” ทั้งๆที่บางคนมีความพร้อมแทบทุกอย่าง มีเงิน มีบ้าน มีรถ ที่คนส่วนหนึ่งบอกว่าเป็นตัวแทนของคนมีความสุข แต่ก็มักจะมีข่าวที่คนรวยฆ่าตัวตายให้เห็นอยู่เสมอ สุภาษิคจีนเคยกล่าวว่า “มีเงินจ้างผีโม่แป้งได้” แต่เงินก็ซื้อได้เพียงบางอย่างเท่านั้น แต่หากใช้เงินไปในทางที่ทำร้ายคนอื่นหรือแม้แต่ทำร้ายตนเอง เงินก็อาจจะซื้อความสุขไม่ได้ เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
สมาคมคนพิการแห่งหนึ่งจัดประชุมตัวแทนคนพิการจากทั่วประเทศ ซึ่งคัดเลือกตัวแทนคนพิการจากทั่วประเทศจังหวัดละสามคน จัดประชุมกันสองวัน บังเอิญว่าห้องจัดสัมมนาอยู่ข้างๆกัน วันนั้นผู้เขียนเข้าร่วมสัมมนาฝึกอบรมพัฒนานักวิจัย หลักสูตรระยะที่สาม ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย แม้จะมีงานยุ่งมากแต่เนื่องจากอยากเป็นนักวิจัยกับเข้าบ้างจึงต้องเข้าอบรมตามกำนหนด
เวลาพักจากการสัมมนาจึงเดินเล่น เห็นคนพิการท่านหนึ่งกำลังเข็นรถผ่านมาจึงเข้าไปทักทาย “ผมมาจากจังหวัดอุบลราชธานีครับ เป็นตัวแทนคนพิการจังหวัดอุบลฯ มาด้วยกันสามคน”
“เขาอบรมเรื่องอะไร”
“มีหลายเรื่องนัยว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มศักยภาพของคนพิการครับ ให้ความรู้ตั้งแต่การดูแลรักษาตนเอง การทำใจให้เป็นสุข กฏหมายที่ควรรู้ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประคมอาเซียน ภาษาอังกฤษด้วยครับ ผมก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง” ชายบนรถเข็นสาธยายด้วยรอยยิ้มอย่าอารมณ์ดี
ในขณะที่สนทนากันนั้นมีอีกหลายคนเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย ทุกคนล้วนแต่มีร่างกายไม่สมประกอบ บางคนมีขาข้างเดียว บางคนตาบอด ฯลฯ สรุปว่าคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนพิการ แต่เมื่อสนทนาไปสักพักทุกคนก็เริ่มมีเสียงหัวเราะด้วยความเพลิดเพลิน พวกเขาพูดคุยหยอกเหย้ากันเองบ้าง ฟังคำตอบที่ กวนๆจากหลวงตาบ้าง คุยไปสักพักก็นึกว่าตัวเองก็คือคนพิการคนหนึ่ง ผู้เข้าอบรมการวิจัยหลายคนหันมามองว่าหลวงตากำลังคิดจะทำวิจัยเรื่องอะไรกันแน่ บางคนเดินเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์ สรุปว่าแม้จะอบรมการทำการวิจัยที่งานค่อนข้างจะปวดเศียร แต่ทว่าการได้พูดคุยกับเหล่าคนพิการก็เป็นความสุขประการหนึ่ง คนเหล่านั้นแม้ร่างกายจะพิการ แต่ทว่าพวกเขาก็ยอมรับความพิการและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้ ความสุขจึงไม่ได้อยู่ที่การมีพร้อมทุกอย่าง แต่อยู่ที่การยอมรับความเป็นไปของชีวิตและดำเนินชีวิตไปตามสมควรแก่สภาวะ มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ แต่ทว่าเลือกที่จะอยู่ได้ จะอยู่อย่างมีความสุขหรืออยู่อย่างมีความทุกข์นั่นก็แล้วแต่การเลือกของเราเอง
“หลวงตายังมีความสุขดีอยู่หรือครับ” ชายคนหนึ่งมีคำถามแทรกเข้ามา
จึงตอบตามความเป็นจริงว่า “ก็สุขบ้างทุกข์บ้าง สุขในบางโอกาส และทุกข์บ้างในบางครั้ง แต่ก็พออดพอทนได้ แล้วโยมเป็นอย่างไรบ้าง”
พอถูกย้อนถามชายคนนั้นมีแขนเพียงเดียวบอกว่า “ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไรดี จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่เชิง มันผสมผสานกันอยู่นะครับ ร่างกายผมพิการแต่ก็ยังทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ มองในแง่นี้ก็ดีครับ แต่หากเปรียบกับคนที่ร่างกายสมบูรณ์ผมก็รู้สึกน้อยใจในโชคชะตาเหมือนกันแหละครับ”
“ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี ก็เหมือนเป็นเหมือนเป็นเศรษฐีแล้ว แต่ถ้าไม่ยินดีในสิ่งที่ตนได้ ไม่พอในในสิ่งที่ตนมี แม่เป็นเศรษฐีก็เหมือนยาจก เพราะมีแต่ความอยากได้ไม่รู้จักพอ อยู่อย่างเพียงพอและพอเพียงชีวิตก็น่าจะมีความสุขแล้ว”
ได้ยินเสียงสาธุจากกลุ่มคนพิการหลายคนที่ร่วมวงสนทนา จากนั้นจึงแยกย้ายเข้าห้องสัมมนาทำหน้าที่ของแต่ละคนต่อไป
ความสุขของคนนั้นอาจจะมีหลายประเภท แต่ในพระพุทธศาสนาได้แสดงถึงนักปราชญ์หากต้องการความสุขสามประการต้องรักษาศีล ดังที่แสดงไว้ในสุขสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ (25/254/260) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตปรารถนาสุขสามประการนี้พึงรักษาศีล สามประการเป็นไฉนคือ(1) บัณฑิตปรารถนาอยู่ว่าขอความสรรเสริญจงมาถึงแก่เรา (2) ขอโภคสมบัติจงเกิดขึ้นแก่เรา (3) เมื่อตายไปเราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์พึงรักษาศีล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตปรารถนาสุขสามประการนี้แล พึงรักษาศีล”
คำว่า “ศีล” มาจากภาษาบาลีว่า “สีล” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่ชายไม่หญิง) แปลว่า “ศีล ปรกติ” คำที่ใกล้เคียงอีกคำหนึ่งคือ “สิลา” แปลว่า หิน อีกคำหนึ่ง “สีลน” แปลว่าการฝึกหัด การปฏิบัติ การละเว้น กล่าวโดยสรุป “ศีล” คือความเป็นปรกติ หากใครมีความเป็นปรกติทางกาย ทางวาจา เขาคนนั้นแม้จะมีร่างกายพิการแต่ทว่าใจไม่พิการก็ย่อมรักษาความเป็นปรกติของตนไว้ได้ คนที่มีความเป็นปรกติย่อมได้รับความสุขที่ตนปราถนาได้ แต่ทว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่เพียงคนเดียวในโลกต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆด้วย การคบหาสมาคมกับคนอื่นก็ต้องพิจารณาในการเลือกคบด้วย เพราะหากคบคนชั่วเป็นมิตรก็มักจะชักนำไปในทางที่ชั่ว ควรเลือกคบหากับคนที่เป็นบัณฑิต คบคนชั่วเหมือนใบหญ้าคาห่อปลาเน่า ส่วนการคบบัณฑิตเหมือนกฤษณาห่อด้วยใบไม้
ดังข้อความที่แสดงไว้ในสุขสูตรต่อไปว่า “ถ้าว่าบุคคลแม้ไม่กระทำความชั่วแต่เข้าไปเสพบุคคลผู้กระทำความชั่วอยู่ไซร้ บุคคลนั้น เป็นผู้อันบุคคลพึงรังเกียจในเพราะความชั่ว และโทษของบุคคลผู้เสพคนชั่วนี้ ย่อมงอกงาม บุคคลย่อมกระทำบุคคลเช่นใดให้เป็นมิตร และย่อมเข้าไปเสพบุคคลเช่นใดบุคคลนั้นแลเป็นผู้เช่นกับด้วยบุคคลนั้น เพราะว่าการอยู่ร่วมกันเป็นเช่นนั้น
คนชั่วส้องเสพบุคคลอื่นผู้บริสุทธิ์โดยปรกติอยู่ย่อมทำบุคคลอื่นผู้บริสุทธิ์โดยปรกติที่ส้องเสพตน ให้ติดเปื้อนด้วยความชั่ว เหมือนลูกศรที่แช่ยาพิษ ถูกยาพิษติดเปื้อนแล้ว ย่อมทำแล่งลูกศรซึ่งไม่ติดเปื้อนแล้วให้ติดเปื้อนด้วยยาพิษฉะนั้น นักปราชญ์ไม่พึงเป็นผู้มีคนชั่วเป็นเพื่อนเลย เพราะความกลัวแต่การเข้าไปติดเปื้อน คนใดห่อปลาเน่าไว้ด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาของคนนั้นย่อมมีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปการเข้าไป ส้องเสพคนพาล ย่อมเป็นเหมือนอย่างนั้น ส่วนคนใดห่อกฤษณาไว้ด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ของคนนั้นย่อมมีกลิ่นหอมฟุ้งไป การเข้าไปส้องเสพนักปราชญ์ย่อมเป็นเหมือนอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น บัณฑิตรู้ความสำเร็จผลแห่งตนดุจห่อใบไม้แล้ว ไม่พึงเข้าไปเสพอสัตบุรุษพึงเสพสัตบุรุษ เพราะว่าอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ”
งานสัมมนาของสมาคมคนพิการ และการฝึกอบรมพัฒนานักวิจัยทั้งสองงานเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนใครจะบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่นั้นเรื่องนี้ตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วงานวิจัยที่ได้มอบหมายมานั้นกำลังจะบรรลุวัตถุประสงค์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ค่อยๆคิดค่อยๆทำ แม้จะท้อก็ไม่ทิ้ง งานก็ย่อมจะเสร็จตามเป้าหมายได้ ทำงานอย่างมีความสุขแม้จะไม่ได้เงินก็ตามทีเถิด แต่อย่างน้อยก็ได้เพื่อนจากสมาคมคนพิการอีกหลายคน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
3/11/56
หมายเหตุ: ภาพประกอบ ใครบางคนที่พุทธคยา อินเดีย