ได้พบกับ ดร.โสภณ ขำทัพ อาจารย์สอนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สนทนากันถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดร.โสภณบอกว่ามีสรุปงานวิจัยที่เคยเสนอที่มหาวิทยาลัยหนานฮวา ประเทศไต้หวัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการประชุมสัมมนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหนานฮวา ที่ประเทศไต้หวัน ได้เขียนไว้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย อ่านแล้วเห็นว่ามีสาระน่าจะเป็นปประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังสนใจศึกษาในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีชีวิตแบบพุทธ จึงขออนุญาตนำเผยแผ่ เชิญอ่านและศึกษาได้ตามสะดวก
เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ดร. โสภณ ขำทัพ
นับตั้งแต่ประเทศไทยประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของชาวไทยทุกหมู่เหล่า จนมาถึงทุกวันนี้ ปรากฏว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่าง กว้างขวางผ่านการทดสอบมาแล้วว่าได้ผลดี ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ และเพื่อให้ชาวไทยทุกหมู่ทุกเหล่าได้รู้ และเข้าใจในปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างถ่องแท้ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องกับหน้าที่และบทบาทของแต่ละบุคคล ฉะนั้นในโอกาสนี้จึงขอกล่าวถึง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อท่านทั้งหลายได้นำไปประยุกต์ใช้กันอย่างถูกต้องและเหมาะสมสืบไป
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานมาจากเศรษฐกิจแนวพุทธ ซึ่งเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรม และมีกระบวนการของไตรสิกขาอยู่ในฐานะที่เป็นปทัสถานให้เกิดดุลยภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคม และกายกับจิต อันเป็นบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พออยู่ พอกินและพอใช้ โดยยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทาในการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ และดำเนินชีวิตแบบสัมมาอาชีวะก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงพัฒนาชีวิตและสังคมไปสู่ความยั่งยืนด้วยการรู้จักตัวเองด้วยการพึ่งตนเอง มีความพอประมาณ ไม่โลภ มีเหตุผลในการดำเนินชีวิต และสร้างภูมิคุ้มกันในตนด้วยความไม่ประมาทตามหลักธรรมที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก
โดยเฉพาะหลักธรรมคำสอนตามทางสายกลางของพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความพอดีและพอเพียงในเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งแนวคิดนี้ยังนำไปสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาต่าง ๆ ของสังคมได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดด้วยการให้ความเข้าใจต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยต้องเริ่มทีใจศรัทธาหรือมีสัมมาทิฐิก่อนจากนั้นจึงนำไปสู่การปฏิบัติบนหลักการของความพอประมาณ มีเหตุผล และพึ่งตนเองได้ ซึ่งทุกคนสามารถทำตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกร
ดังนั้นรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกอันเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะเป็นผลมาจากความศรัทธาที่เป็นกำลังในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา โดยเริ่มจากสัมมาทิฐิซึ่งประกอบด้วยเหตุผล และทำให้เกิดปัญญานำไปสู่สัมมาอาชีวะได้นั้น เพราะมีหลักพุทธธรรมที่สนับสนุนอยู่ ๓ ประการ คือ
๑) ศีล เป็นวิธีการพัฒนาที่สมดุล เป็นการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางกาย ในเรื่องความความพอประมาณด้วยสันโดษ
๒) สมาธิ เป็นวิธีการกำกับที่ยั่งยืน เป็นการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางใจ ในเรื่องความมีเหตุผลด้วยโยนิโสมนสิการ
๓) ปัญญา เป็นวิธีการสนับสนุนที่มั่นคง เป็นการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางปัญญา ในเรื่องการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนด้วยอัปปมาทธรรม
จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ในการจัดการการศึกษา และเห็นด้วยกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าสามารถนำไปสู่การพัฒนาคน สังคม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง เพราะเป็นการพึ่งพาตนเอง และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งผู้บริหารและสมาชิกเห็นว่าควรนำหลักธรรมในเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการศึกษา เพื่อเป็นการเสริมสร้างพื้นฐาน
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน
แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติตนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องรู้จักคำว่า “พอ” หมายถึงต้องสร้างความพอใจที่สมเหตุสมผลให้กับตัวเองให้ได้ และหลังจากนั้นจึงจะได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง เพราะว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือพระราชดำรัสที่แนะนำให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ และมีใจตนเป็นสำคัญ ให้รู้จักคำว่า “ พอ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก” นั่นเอง
ส่วนองค์ความรู้ตามหลักพุทธธรรมที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ผู้วิจัยพบว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักพุทธธรรมมีความสอดคล้องกันในหลายแง่มุม โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมสำคัญ ๔ ประการทางเศรษฐกิจ นั่นคือ การผลิต การบริโภค การซื้อขายและการจัดสรรผลผลิต โดยทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจแนวพุทธต่างมีแนวคิด หลักการ รวมทั้งโครงสร้างและกระบวนการที่สอดคล้องประสานกัน คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นต้องตั้งอยู่บนบนความถูกต้อง สุจริต ยุติธรรม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการหรือกระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์จากที่เห็นอยู่ผิด มาเป็นเห็นถูก แล้วจึงดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นๆ ไปอย่างต่อเนื่อง มีสติปัญญา เพื่อความพออยู่ พอกิน พอเพียง หรือพอประมาณในเรื่องของปัจจัยสี่เป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงมุ่งสู่ความอยู่ดีกินดี บนพื้นฐานของการใช้สติปัญญาในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การผลิต การบริโภค การซื้อขายแลกเปลี่ยน และการจัดสรรผลผลิตเป็นลำดับต่อไป
โดยเฉพาะการรับรู้ ความเข้าใจ และการนำไปใช้เพื่อพัฒนาตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นกระบวนที่ต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเริ่มต้นมาจากจิตที่พอใจในการรับรู้ความรู้ด้วยศรัทธาความเชื่อตามบริบทวิถีชีวิตของตนเอง จากนั้นศรัทธาจึงสร้างความเข้าใจอันเป็นเหตุเป็นผลสู่การรับรู้ ซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้ที่เป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ เป็นความจริงที่เป็นไปเพื่อความอยู่รอด และพัฒนาไปเป็นปัญญาความสามารถในการนำไปใช้ ฉะนั้นการรับรู้จึงเป็นไปเพื่อการค้นหาความจริงนั่นเอง เพราะเหตุมาจากตัวมนุษย์ได้กำหนดความต้องการ วางแผน ดำเนินกิจกรรมตามความต้องการ และเกิดผลสำเร็จตามความต้องการ ทำให้เกิดวัฏจักรของความต้องการสิ่งใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และในขณะเดียวกันที่บุคคลมีการรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีตามธรรมชาติ อันเป็นส่วนสำคัญของการเกิดปํญญา ที่ทำให้มนุษย์มีการนำไปใช้เพื่อดำเนินชีวิตและพัฒนาในทุกๆ ด้านได้พร้อมกันและเกิดการรับรู้ใหม่ขึ้นได้ในขณะเดียวกัน ผู้วิจัยจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าการรับรู้เป็นการบันทึกและเก็บรวบรวมข้อมูล ความเข้าใจเป็นกระบวนการสะสมความรู้ให้เท่าทันสถาวะธรรมชาติ และการนำไปใช้เป็นกระบวนการทางปัญญาซึ่งเกิดจากการคิดโดยการใช้เหตุผลตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ โดยอาศัยกระบวนการรับรู้และมีความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นผลที่เกิดมาจากการรับรู้และความเข้าใจ อีกทั้งยังเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการคิดต่อไปอีกอย่างไม่สิ้นสุด
จากวัฏจักรที่แสดงนี้จะเห็นได้ว่าเป็นวิธีการแห่งปัญญา เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญา โดยมีศรัทธาหรือความเชื่อซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้นศรัทธาจึงเป็นวิธีการของปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง เพื่อที่มนุษย์จะได้อาศัยพลังความเชื่อนั้นเป็นหนทางในการเพิ่มพูนปัญญา ทำให้เกิดการคิดมากขึ้น ซึ่งเมื่อจิตมีกระบวนการคิดย่อยๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความคล่องแคล่วและมีพัฒนาการมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ที่ทำให้บุคคลเกิดความคิดที่เป็นระบบ มีระเบียบ เหตุผล วิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องตามสัมมาปฏิบัติ ทำให้มีสติและสัมปชัญญะที่สามารถควบคุมตนเองได้ตลอดเวลา จึงกล่าวได้ว่าเป็นความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดยมีรากฐานสำคัญที่รองรับให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนทางปัญญานี้คือ หลักไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา เนื่องเพราะพระพุทธศาสนายึดหลักไตรสิกขาเป็นหลักการที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ และไม่ตกอยู่ในความประมาท แต่มนุษย์จะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่มีความรู้ อะไรที่จะเป็นตัวนำพาพฤติกรรม
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์มีตา หู ลิ้น กาย ที่เรียกว่า อายตนะหรืออินทรีย์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวนำทางชีวิตมนุษย์ อายตนะเหล่านี้เป็นทางรับรู้ของประสบการณ์ หรือเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลของวิถีชีวิตและความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลที่มองประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์แต่ในแง่ของความรู้สึก ย่อมจะใช้ในการเสพรส เป็นเครื่องมือหาเสพสิ่งต่างๆ หรือสิ่งบำเรอเพื่อมาสนองตัณหาของตนอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการให้ตัณหามาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของตน และถ้ามนุษย์มีการรับรู้พร้อมกับรู้ว่าต้องการอะไร ระดับไหน สิ่งใดเป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิตของตนแล้ว และทำตามความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น นั่นหมายถึงการที่บุคคลใช้ความรู้มาเป็นตัวนำพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารไม่ใช่เอาแต่ความอร่อยของรสชาดที่เป็นสุขเวทนา แต่ต้องบริโภคอาหารนั้นด้วยความรู้ในคุณค่าของอาหารนั้นๆ ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้ามาสู่การพัฒนามนุษย์ เพราะเมื่อมีปัญญาทำให้รู้ถึงคุณค่าที่แท้จริง ที่ต้องการ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งซึ่งคู่กับปัญญา เป็นความอยากที่อาศัยความรู้คือปัญญาเป็นฐาน และเป็นกุศลเกื้อกูลต่อชีวิต เรียกว่า “ฉันทะ” คือความพอใจ
แนวทางในการพัฒนามนุษย์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธนั้นเป็นแนวทางตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อบุคคลรู้จักคิด บุคคลนั้นย่อมเริ่มมีการศึกษา และเมื่อนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น อันเป็นตัวแกนของการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลาย และรู้ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร พร้อมกับที่ปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นก็มีการปรับตัวเกิดขึ้นด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพครบทั่วแบบองค์รวม คือไม่ใช่จะพัฒนาแต่เพียงปัญญาเท่านั้น ตัวพฤติกรรม (ศีล) จะถูกพัฒนาไปด้วย ส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป และจิตใจก็ถูกพัฒนาให้ถึงพร้อมในขณะเดียวกันด้วย เป็นวัฏจักรเช่นนี้พร้อมกับเกิดกระบวนการรับรู้ในความรู้ขึ้นใหม่ขึ้นอีกแบบต่อเนื่องด้วยความพอใจและกำลังศรัทธาในสัมมาทิฏฐิตลอดไป
รูปแบบกระบวนการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดยมีหลักไตรสิกขาเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์เป็นกระบวนการที่ทำให้บุคคลพัฒนาชีวิตอย่างมีบูรณาการ และเป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ ซึ่งหลักการที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนประกอบของชีวิตที่ดีงาม บุคคลต้องฝึกให้เจริญงอกงามในองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อนำชีวิตไปสู่การเข้าถึงอิสระภาพและสันติสุขที่แท้จริงได้ในที่สุด โดยตัวการฝึกที่จะให้มีชีวิตที่ดีงามเป็นสิกขา ตัวสิกขาที่เกิดจากการฝึกนั้นก็เป็นมรรค ในกระบวนการพัฒนาของไตรสิกขานั้น องค์ทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา จะทำงานประสานกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การนำไปใช้จึงต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาตนทั้ง ๓ ด้าน ที่ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และถึงผลต่อกันอย่างเป็นระบบ ในด้านพฤติกรรม (ศีล) ซึ่งต้องอาศัยจิตใจ (สมาธิ) และจิตใจย่อมต้องอาศัยปัญญา
ฉะนั้นหลักคำสอนว่าด้วยไตรสิกขาในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นหลักธรรมที่เป็นตัวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักการแห่งฝึกฝนพัฒนาตนพัฒนาชีวิตมนุษย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีความสุขเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องอย่างบูรณาการตลอดเวลา ทั้ง ๓ ด้าน คือ
๑) ด้านศีล เป็นการปฏิบัติตนทางด้านกายวาจา หรือพฤติกรรมอันดีที่แสดงออก เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยมีศรัทธาเป็นหลักยึดช่วยคุ้มศีลไว้ให้ตั้งมั่นอยู่ในตนได้ โดยเหนี่ยวรั้งจากความชั่วและทำให้มั่นคงในสุจริต ในการปฏิบัติตนที่แสดงออกทางกายด้วยความพอประมาณตามหลักทางสายกลางด้วยความสันโดษ จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สมดุลตามเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
๒) ด้านสมาธิ เป็นเรื่องของจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่มีอยู่ภายใน เป็นการปฏิบัติตนทางใจอันเป็นวิถีชีวิตและความเชื่อซึ่งประกอบด้วยความมีเหตุผล รวมทั้งคุณธรรมในตนเองทางด้านต่างๆ ดังเช่น ความซื่อสัตย์ ความอดทน และความเพียร โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิและความตั้งมั่นอยู่ในตนได้ ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดปีติสุขแล้วทำให้จิตใจสงบมั่นคง และในแง่ที่ทำให้เกิดความเพียรพยายาม แกล้วกล้า ไม่หวั่นกลัว จิตใจเกิดความเข้มแข็ง มั่นคงแน่วแน่ และค้นหาเหตุผลด้วยหลักโยนิโสมนสิการ จึงถือว่าเป็นการกำกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
๓) ด้านปัญญา คือความรู้ ความเข้าใจ ในการนำไปใช้ แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง และพัฒนาตนด้วยความไม่ประมาท อันเป็นภูมิคุ้มกัน โดยมีศรัทธาเป็นพลังช่วยให้เกิดปัญญาเบื้องต้นที่เป็นโลกียสัมมาทิฏฐิ และถูกพัฒนาเหนือขึ้นไปให้เชื่อมต่อกับโยนิโสมนสิการ โดยศรัทธาในระดับนี้เป็นศรัทธาที่มีการใช้ปัญญา และเป็นศรัทธาที่ปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปัญญาจะสนับสนุนให้ศีลและสมาธิในที่นี้เกิดความตั้งมั่นแน่วแน่มากยิ่งขึ้น จึงถือว่ามีปัญญาเป็นเครื่องสนับสนุนที่มั่นคงตามเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ผู้วิจัยจึงขอกล่าวว่ารูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกอันเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เป็นคำสอนในเรื่องไตรสิกขาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนต่อพุทธบริษัททั้งหลายมาตลอดการปฏิบัติพุทธกิจของพระองค์นานถึง ๔๕ พรรษา อีกทั้งหลักธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงมาล้วนแต่สรุปลงในหลักไตรสิกขา โดยเฉพาะในเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น เป็นหลักของไตรสิกขาอย่างแท้จริง โดยมีศรัทธาเป็นองค์ธรรมที่สำคัญและสู่กระบวนการขับเคลื่อนตามหลักไตรสิกขาให้เห็นผลประจักษ์จริงแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่ปัญญาได้ในที่สุดเช่นกัน เพราะเมื่อบุคคลได้เสวนากับสัตบุรุษจนเกิดศรัทธาที่ถูกต้องและใช้ได้ถูกทาง ย่อมเชื่อมต่อเข้ากับโยนิโสมนสิการ และนำให้เกิดปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นเครื่องอำนวยให้เกิดพฤติกรรมในการพัฒนา ซึ่งมีปรากฏเป็นหลักฐานและรายละเอียดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตลอดการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนี้
ดร. โสภณ ขำทัพ
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
หมายเหตุ:บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญของงานวิจัย “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทวิถีชีวิตแบบพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก” ที่เสนอต่อคณาจารย์และนักวิชาการในต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยหนานฮวา (ไต้หวัน) เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย