ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             หนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนามีทั้งหมดสิบสองบท ได้นำเสนอมาติดต่อกันมาหลายเดือนแล้วโดยสลับกับเรื่องอื่นๆ เพราะหากนำเสนอทุกวันก็จะทำให้ผู้ที่ไม่ต้องการอ่านเนื้อหาทางวิชาการที่หนักอึ้งจนเกินไปไม่อยากอ่าน ครั้นจะเขียนเองทุกเรื่องก็ติดขัดด้วยกาลเวลา บางครั้งไม่มีเวลาคิดและเขียนจึงต้องหาเรื่องอื่นมานำเสนอแทนแต่พยายามนำเสนอทุกวัน มีคนบางคนบอกว่าอยากศึกษาพระพุทธศาสนาแต่ไม่ต้องการฟังพระเทศน์ เพราะไม่สะดวกในการไปฟังที่วัด พระพุทธศาสนานั้นหากจับหลักการสำคัญได้ก็สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการไปตามสภาพแวดล้อมได้ วันนี้อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้สรุปข้อความสั้นๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ ค่อยๆอ่านๆ เพราะทั้งหมดนี้คือสรุปหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา

บทสรุปคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา
ข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา


             ข้อความที่กล่าวมาแต่ต้น ถึงคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยหรือสังเขป ถ้าจะกล่าวกันอย่างละเอียดพิสดารก็ควรจะเป็นหนังสือชุดเล่มโต ๆ หลายเล่ม อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านอ่านมาจนถึงบทสุดท้าย ท่านก็คงได้รู้สึกบ้าง ไม่มากก็น้อย ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ถ้าจะนับถือกันแล้ว ก็นับถือได้อย่างมีเหตุผลชวนให้นับถือ ทั้งเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงว่าคนเราเริ่มต้นด้วยไม่มีอะไร แต่ถ้ามีความพากเพียรประกอบคุณงามความดีอยู่เสมอแล้วก็อาจเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี
             นอกจากนั้นศาสดาจารย์ผู้สอนศาสนาคงจะมีน้อยท่านที่กล้าเล่าประวัติส่วนตนของท่านว่าเคยเป็นคนไม่ดีอะไรมาแล้วในอดีต แต่พระพุทธเจ้าของเราทรงรับว่าพระองค์ได้เคยทำอะไรต่ออะไรที่ไม่ดีมาในอดีตมากหลาย เคยตกนรกมาแล้ว ขึ้นสวรรค์มาแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์จึงมีพระเมตตากรุณาต่อบุคคลทุกประเภท ไม่ใช่มานั่งตั้งหน้าด่าคนไม่ดี หากเห็นอกเห็นใจและพยายามอย่างยิ่งที่จะจูงคนไม่ดีให้สูงขึ้นกลายเป็นคนดีต่อไป
             พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ดูหมิ่นตน หรือทอดทิ้งตน ให้พยายามก่อร่างสร้างตน ทั้งทางเศรษฐกิจและทางศีลธรรม เพื่อเจริญควบคู่กันไปแม้ในการสอนเศรษฐกิจก็ยังมีคำสอนเศรษฐกิจชั้นในหรือชั้นสูง คือให้มีคุณธรรมเป็นทรัพย์ที่เรียกว่า อริยทรัพย์ หรือทรัพย์ประเสริฐ
             อนึ่งคุณลักษณะพิเศษที่นำมากล่าวในหนังสือเล่มนี้ ได้เลือกที่ดีเด่นและไม่ซ้ำกับศาสนาอื่นโดยมาก เพราะฉะนั้น หนังสือนี้ จึงมิได้แสดงหลักธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์โดยตรง ยังมีอยู่อีกหลายข้อหลายประการที่มิได้อธิบายไว้
ผู้เขียนได้เคยรวบรวมหลักพระพุทธศาสนาไว้ย่อ ๆ 20 ข้อ พิมพ์ขึ้นแพร่หลายมาแล้วเรื่องหนึ่ง ในโอกาสต่อไปอาจจะรวบรวมเพิ่มขึ้นและอธิบายโดยละเอียดอีกต่างหาก ในบทสรุปนี้ใคร่เสนอคำสั้น ๆ พรรณาว่าพระพุทธศาสนาสอนอย่างไรหรือสอนอะไรไว้ เพื่อเป็นคติเตือนใจ เป็นการจบลงด้วยการประมวลข้อธรรมทางพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้ :-
             (1) พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตัวเอง ไม่ให้มัวคิดแต่จะพึ่งผู้อื่น
             (2) พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำด้วยความโลภ คืออยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลง คือไม่รู้ความจริงบางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นทำชั่ว
             (3) พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ต้องมีความขยันหมั่นเพียรเป็นข้อแรก
             4) พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นให้เอาใจเขามาใส่ใจเราให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
             (5) พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพ ทั้งภายนอกและภายใน อิสรภาพภายใน คือไม่เป็นทาสของกิเลส หรือถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
             (6) พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกัน ก็ให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
             (7) พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ใช่ให้คิดได้ดีอย่างลอย ๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตา หรืออำนาจลึกลับใด ๆ
             (8) พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทนต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอ พอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้
             (9) พระพุทธศาสนาสอนมิให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับความเชื่ออยู่เสมอ นอกจากนั้นยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติ และการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
             (10) พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาล และรัฐบาล คือเทศบาลปกครองท้องถิ่น รัฐบาลปกครองประเทศ โดยสอนให้มีโลกบาล คือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต
             (11) พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติกับปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาด ไม่ใช่เฉลียวอย่างเดียว หรือฉลาดอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติกับสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก
             (12) พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น ที่สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดีและสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้า
             (13) พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งทางวัตถุและทางน้ำใจเพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกร่วมกันในสังคม
             (14) พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขวาง
             (15) พระพุทธศาสนาสอนมิให้ใช้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผลแต่สอนให้ลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นให้ถูกทาง
             (16) พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลกโดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือ จะได้มีความปลอดโปร่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้โดยง่าย
             (17) พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรม คือความถูกความตรงเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่ หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมหรือความถูกตรงเป็นสำคัญ
             (18) พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่าง ๆ เช่น ลาภยศเป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องกับสังคม ก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติ ทางกายและวาจาตามสมควร เช่นเมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้าได้กับประชุมชนนั้น ๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่เมื่อถือว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากับใครไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติ ก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็ให้สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
             (19) พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำ จนถึงธรรมชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริตอัธยาศัย และความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโตตามความเหมาะสมฉะนั้น
             (20) พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิตที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่าปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญา คือการคิด การศึกษาสดับตรับฟัง และการลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา
             (21) พระพุทธศาสนาสอนหนักเน้นในเรื่อง ความเป็นผู้กตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่าใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดีและประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
             (22) พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยรู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุ และการดับความทุกข์ได้แก่ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผลซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
             (23) พระพุทธศาสนามิได้สอนให้ย่ำยี หรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้วควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยทรงเล่าเรื่องความผิดของพระองค์ในสมัยยังทรงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบแล้วจะต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นเสมอ
             (24) พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น จะเพราะชาติสกุล เพราะทรัพย์ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
             (25) พระพุทธศาสนาสอนว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว หว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น จึงเท่ากับสอนให้หว่านแต่พืชที่ดี คือพยายามทำแต่กรรมดี พยายามละเว้นความชั่วทั้งหลาย
             (26) พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักละอายใจตนเอง และเกรงกลัวต่อความชั่วช้าทุจริต โดยถือว่าคุณธรรมทั้ง 2 นี้ มีอยู่ในที่ใดย่อมคุ้มครองได้ตลอดทั่วทั้งโลก และจัดเป็นคุณธรรมของเทวดาด้วย
             (27) พระพุทธศาสนาสอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ให้ระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ ใหม่ ๆ อาจทำได้ยากแต่ถ้าลองฝึกหัดทำดูบ้าง จะได้รับความเย็นใจ สงบร้อน หมดเวรหมดภัย
             (28) พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นตัวพรหมจรรย์โดยสมบูรณ์ทีเดียว แสดงว่าทรงยกย่องกัลยาณมิตรมาก
             (29) พระพุทธศาสนาสอนให้รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฐิ คือความเห็นมิให้ผิดให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติตามลำดับต่ำสูงทางพระพุทธศาสนาด้วยปัญญา บุคคลอาจแก้ทุกข์ได้ ด้วยปัญญาบุคคลย่อมมีแสงสว่างส่องทางชีวิตให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น ด้วยปัญญาบุคคลย่อมไม่ทำอะไรที่ผิดพลาด ปัญญาจึงเป็นที่มาแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย
             (30) พระพุทธศาสนาสอนให้ผ่อนคลายความยึดมั่น ความถือตัวถือตนให้เหลือน้อยเท่าที่จะทำได้ คนยิ่งมีความยึดถือหรือถือตัวถือตนมากเพียงใด ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนมากเพียงนั้น
             (31) พระพุทธศาสนาสอนให้รู้สภาพธรรมดา 3 ประการของสิ่งทั้งหลาย และให้พิจารณาด้วยปัญญาอยู่เสมอนั้น คือความไม่เที่ยงถาวร (อนิจจตา) ความทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขตา) และความเป็นของมิใช่ตัวตน (อนัตตตา) เพื่อเป็นทางปิดกั้นความกลัดกลุ้มเดือดร้อนทั้งปวง
             (32) พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่น ๆ ไปในตัว
             (33) พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อน กับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนทางสายกลางระหว่างความเห็นที่ว่าเที่ยงกับความเห็นที่ว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน อะไรก็ตามมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ย่อมไม่ดี
             (34) พระพุทธศาสนาสอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยากคนที่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
             (35) พระพุทธศาสนาสอนเป็นวิภัชชวาทะ กล่าวคือ จำแนกตามเหตุผลที่แท้จริง เช่นเมื่อมีปัญหาว่า ชื่อว่าความจริงแล้ว ควรจะพูดเรื่อยไปโดยไม่มีขอบเขตหรือ พระพุทธศาสนาสอนว่าความจริงที่จะพูดนั้นควรมีประโยชน์ด้วย เป็นธรรมด้วย จึงค่อยพูด และก็ควรรู้จักกาลเวลาที่จะพูดด้วย ไม่ใช่พูดพร่ำเพรื่อไป
             (36) พระพุทธศาสนาสอนว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง บัณฑิตมีการเพ่งโทษตัวเองเป็นกำลัง จึงแสดงว่าไม่ควรวุ่นวายแต่จะแก้ความไม่ดีของคนอื่นให้มากนัก ดูแลตัวเองให้ดีก่อนแล้วจึงค่อยคิดแก้คนอื่นในภายหลัง
             (37) พระพุทธศาสนาเป็นที่มาแห่งวัฒนธรรมและสมบัติผู้ดี ที่ละเอียดอ่อนและประณีตของโลก
             (38) พระพุทธศาสนาสอนให้สงบระงับไม่วุ่นวาย และสอนให้เห็นว่าลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ถ้าไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักพิจารณาก็กลายเป็นของร้ายกาจหรือเป็นพิษได้
             (39) พระพุทธศาสนาสอนให้พิจารณาให้รู้เท่าทันเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทำให้ชอบใจในครั้งแรกแล้วก่อทุกข์เดือดร้อนให้ในภายหลัง รูปพระพุทธเจ้าตอนผจญมารนั้นเป็นคติสอนใจดีมาก อาวุธของพญามารกลายเป็นดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธเจ้า นี้แสดงว่าสิ่งที่เป็นพิษสำหรับผู้อื่น แต่เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว ก็อาจเป็นดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าไม่มีความเกิด ความแก่ ความตาย พระองค์ก็คงมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แสดงว่าเรื่องที่คนทั้งหลายเห็นเป็นของธรรมดาก็ตาม เป็นของน่าเกลียดน่ากลัวก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงนำมาเป็นคติ หรือหาประโยชน์ได้จากสิ่งเหล่านั้น จึงมีคำกล่าวว่า ผู้มีความรู้มองทุกอย่างเป็นธรรม เหมือนหมอผู้สามารถมองต้นไม้ทุกอย่างเป็นยารักษาโรคได้ทั้งสิ้นฉะนั้น 
             (40) พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้น ๆ ให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เป็นการสอนให้ยกจิตใจให้สูงขึ้นในที่สุด 
             (41) พระพุทธศาสนาสอนให้ยอมเสียน้อย เพื่อไม่เสียมาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น อันจะต้องเสียสละบ้างก็ควรพิจารณา ถ้าควรยอมเสียน้อยได้ก็จะเป็นการตัดต้นเหตุที่ให้เสียมากเป็นอย่างดี เพียงการทนเหตุการณ์เล็กน้อยกับทนไม่ได้แล้วก่อเรื่องขึ้น ก็จะเป็นตัวอย่างอันดีที่ให้วินิจฉัยเรื่องนี้ได้
             (42) พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีล คือรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยได้ ย่อมเป็นอุปการะให้สมาธิเกิดได้เร็ว สมาธิคือการที่ใจตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
             (43) พระพุทธศาสนาสอนว่า ทุกคนที่เกิดมามีขวานเกิดมาในปากคนละเล่ม เป็นขวานที่ถ้าไม่รู้จักวิธีใช้ ก็จะฟันตนเองให้พินาศไปได้
             (44) พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ สอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตน หรือขาดความระมัดระวัง ท่านถือว่าความประมาทเป็นทางแห่งความตาย และความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน
             (45) พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติเพื่อจะได้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเองไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง



อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ เขียน
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน  รวบรวม
07/01/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก