มีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์อย่างหนึ่งในเทศกาลเข้าพรรษา ที่พระสงฆ์จะไปถวายสักการะขอขมาแด่พระสังฆเถระ ซึ่งอาจจะล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจต่อพระเถระในรอบปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นได้ทุกเวลาหากมีความประมาท ก่อนอธิษฐานเข้าพรรษาจึงธรรมเนียมปฏิบัติคือการขอขมาต่อพระรัตนตรัย จากนั้นขอขมาต่อพระเถระในอารามที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษา หลังเข้าพรรษาก็จะนิยมไปถวายสักการะและขอขมาต่อพระเถระตามวัดต่างๆ ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ หลังวันเข้าพรรษาตามอารามต่างที่มีพระเถระผู้มีตำแหน่งในการผู้ปกครองคณะสงฆ์จึงมีพระภิกษุจากวัดต่างๆเดินทางมาถวายสักการะและขอขมาต่อพระสังฆเถระ ณ อารามทั้งหลาย
คำขอขมานิยมกล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “เถเร ปมาเทน ทวารตฺตเยน กตํ สพฺพํ อปราธํ ขมตุ โน ภนฺเต” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวงที่พวกข้าเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ ด้วยไตรทวาร” พระเถระก็จะบอกว่า “อหํ ขมามิ ตุมฺเหหิปิ เม ขมิตพฺพํ “ ข้าพเจ้ายกโทษให้ และขอให้พวกท่านพึงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”
ในท้ายที่สุดพระเถระก็จะให้พรในทำนองว่าสิ่งที่ทำผิดมาแล้วก็ขอให้แล้วไป ให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่เริ่มต้นกันใหม่ ภาษิตที่นิยมนำมาแสดงมาจากอังคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/534/396) ความว่า “ครั้งหนึ่งพระพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข ได้เปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมา
ยสฺส ปาปํ กตํ กมฺมํ กุสเลน ปหียติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมา ฯ
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ ก็ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ”
พระองคุลิมาลคืออดีตมหาโจรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคำบรรยายในพระสูตรว่า “โจรองคุลิมาลเป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในกาฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เขาเข่นฆ่ามนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้”
พระพุทธเจ้าเสด็จเดินผ่านทางที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ องคุลิมาลก็ถือดาบผูกสอดแล่งธนูเดินตามหลังพระพุทธเจ้าไปด้วยเจตนาจะปล้นและฆ่า แต่เดินอย่างไรก็ไม่ทัน แม้จะวิ่งก็ยังตามไม่ทัน เพราะพระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธาภิสังขารที่แม้องคุลิมาลจะวิ่งเต็มกำลังก็ไม่อาจจะตามทันพระพุทธเจ้าผู้เสด็จไปตามปรกติได้ องคุลิมาลวิ่งจนเหนื่อยจึงกล่าวขึ้นว่า “จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ” พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด”
คำว่า “หยุด” ในอังคุลิมาลสูตร(13/525/391) พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ว่า “ดูกร องคุลิมาล เราวางอาชญาในสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่าหยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด”
ภายหลังองคุลิมาลได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนบรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์ จึงนิยมเรียกกันว่าโจรกลับใจ จากผู้ร้ายกลายเป็นพระอรหันต์ในการถวายสักการะขอมาพระสังฆเถระจึงนิยมนำคำอุทานที่พระองคุลิมาลแสดงไว้มาเป็นอุทาหรณ์ว่าแม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าทำผิดมามาก แต่ภายหลังก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้
วันนั้นไปถวายสักการะและขอขมาแด่พระสังฆเถระสามวัดคือสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิตร สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส เจ้าประคุณสมเด็จทั้งสามรูปได้ให้โอวาทในการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่การปฏิบัติเพื่อฝึกอบรมตนในเทศกาลเข้าพรรษา
คนเราอาจจะพลั้งเผลอด้วยความประมาทจนทำผิด พูดผิด คิดผิด บางครั้งอาจจะแอบนินทาว่าร้ายต่อพระเถรานุเถระทั้งหลาย เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาในแต่ละปีจึงต้องขอขมาต่อพระเถระเหล่านั้น ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ไม่เอาผิดไม่ถือโทษโกรธเคือง ปุถุชนผิดพลาดกันได้ แต่ทำผิดแล้วยอมรับผิดและพร้อมที่จะแก้ไขก็มีแนวโน้มจะเป็นคนดีได้ อีกอย่างหนึ่งพระผู้น้อยก็มีโอกาสได้เข้ากราบถวายเครื่องสักการะแด่พระมหาเถระอันแสดงออกถึงความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนเคารพรักนับถือกันตามสมควรแก่ฐานะและอายุพรรษา ใครอุปสมบทก่อนพรรษามากกว่า พระผู้อุปสมบททีหลังก็ต้องให้ความเคารพกันตามธรรมเนียมปฏิบัติ พระสงฆ์ไม่ได้นับเคารพกันที่อายุขัยแต่เคารพนับถือกันที่อายุพรรษา ใครอุปสมบทก่อนแม้อายุจะน้อยกว่าก็ต้องกราบไหว้ นี่เป็นธรรมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/08/55
ขอขอบคุณ www.mbu.ac.th ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่าย