ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           พระราชญาณปรีชา วัดราชาธิวาส ในฐานะเจ้าคณะแขวงวชิรพยาบาล เดินทางมาเยือนวัดมัชฌันติการามในช่วงเย็นวันเสาร์ พอรถจอดสนิทประตูรถเปิด ในรถมีเพียงเจ้าคณะแขวงพร้อมด้วยผู้ติดตามไม่กี่รูป เห็นแล้วสบายใจ ที่พระสงฆ์เจ้าคณะผู้ปกครองมาอย่างสันติ ไม่ได้มีพระวินยาธิการหรือตำรวจพระมาด้วย ท่านมาเยี่ยมจริงๆไม่ได้มาตรวจปัสสาวะของพระภิกษุสามเณร  ถึงแม้จะมาตรวจก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ไม่ปฏิเสธ ไม่โต้แย้ง ไม่คัดค้านแต่ประการใด เพราะมั่นใจได้ว่าถึงจะตรวจก็ไม่พบความผิดปรกติแต่ประการใด เพราะพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดมัชฌันติการามไม่มีรูปใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด นั่นเพราะเจ้าอาวาสคอยเอาใจใส่ดูแลพระภิกษุสามเณรอย่างดี

        พรรษากาลปีนี้ช้าไปหน่อยสำหรับการมาเยือนของเจ้าคณะแขวง ตามปรกติเจ้าคณะเขตดุสิตจะเป็นประธานพร้อมด้วยเจ้าคณะแขวงเป็นรองประธาน จะมาร่วมทำวัตรสวดมนต์เย็นกับพระภิกษุสามเณรในวัดที่อยู่ในเขตปกครอง ประมาณช่วงต้นเข้าพรรษา แต่ปีนี้พรรษากาลผ่านไปได้ครึ่งเดือน เจ้าคณะเขตไม่สบายมีอันต้องเข้านอนพักรักษาตัว จึงมอบหมายให้เจ้าคณะแขวงมาตรวจเยี่ยมและร่วมทำวัตรสวดมนต์ รับฟังปัญหาให้โอวาทในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของพระภิกษุสามเณร

           ในสมัยพุทธกาลเจ้าอาวาสได้แสดงคุณสมบัติของเจ้าอาวาสไว้หลายประการ ในอัปปิยสูตร อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต (22/232/270) แสดงคุณสมบัติของเจ้าอาวาสที่เป็นที่เคารพสรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ไว้ว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรมห้าประการย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจ ที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์ คือ(1) เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย (2) เป็นผู้พหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก จำทรงไว้ ขึ้นปาก คล่องใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง (3) เป็นผู้มีวาจาไพเราะ กระทำถ้อยคำให้ไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวยไม่มีโทษ ให้ทราบข้อความได้ชัด (4) เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก ซึ่งฌานสี่อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (5) ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่”

           ในอาวาสิกสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/231/270) แสดงถึงเจ้าอาวาสที่เป็นผู้ควรเพื่อการยกย่องไว้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อมเป็นผู้ควรยกย่อง ธรรม 5 ประการเป็นไฉน คือ(1) ภิกษุเจ้าอาวาสเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาท ถึงพร้อมด้วยวัตร (2) เป็นผู้พหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ (3) เป็นผู้ประพฤติขัดเกลา ยินดีในการหลีกออกเร้น ยินดีในกัลยาณธรรม (4) มีวาจาไพเราะกระทำถ้อยคำให้ไพเราะ (5) มีปัญญา เฉลียวฉลาด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าอาวาสประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล เป็นผู้ควรยกย่อง”

          การปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ภายในวัดหนึ่งๆจะมีเจ้าอาวาสเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหาร ดูแลความสงบเรียบร้อย เอาใจใสดูแลความเป็นอยู่ของภิกษุสามเณรตามสมควร หากใครไม่อยู่ในโอวาทก็จะว่ากล่าวตักเตือน หากไม่ยอมปรับตัว ไม่ให้ความร่วมมือก็อาจจะให้ออกจากวัดหรือให้ลาสิกขาตามสมควรแก่โทษานุโทษตามธรรมวินัยนั้น เจ้าอาวาสตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พศ. 2505 แก้ไข พ.ศ.2535 ระบุหน้าที่ของเจ้าอาวาสไว้ในมาตรา  37  ความว่า “เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี (2) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม (3) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ (4) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
           เจ้าอาวาสจึงมีทั้งหน้าที่และอำนาจในวัดทีตนเองเป็นผู้ปกครองดูแลอย่างเต็มที่ ใครจะมาใครจะไป เจ้าอาวาสต้องรับรู้
           ส่วนอำนาจของเจ้าอาวาส ระบุไว้ในมาตรา 38 ความว่า “เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้ (1) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด (2) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด (3) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิด คำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม วัดหนึ่งมีเจ้าอาวาสเพียงรูปเดียว แต่อาจจะมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสหลายรูปก็ได้
           การปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน นอกจากจะปกครองกันตามธรรมวินัยแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เพื่อจะได้ให้อำนาจและหน้าที่ของพระสงฆ์เป็นผู้ปกครองดูแลกันตามลำดับ ได้จัดการปกครองออกเป็นส่วนๆดังที่ระบุไว้ว่า มาตรา 21 ว่า  “การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองดังนี้ (1) ภาค  (2) จังหวัด (3) อำเภอ (4) ตำบล จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ในมาตรา 22 การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้ (1) เจ้าคณะภาค (2) เจ้าคณะจังหวัด (3) เจ้าคณะอำเภอ (4) เจ้าคณะตำบล เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัดรองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ ก็ได้

           เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเจ้าคณะอำเภอเรียกว่า “เจ้าคณะเขต” ส่วนเจ้าคณะตำบลเรียกว่า “เจ้าคณะแขวง” เพราะกรุงเทพมหานครไม่มีอำเภอ แต่เรียกว่า “เขต” แทน ส่วนตำบลก็เรียกว่า “แขวง” แทนเช่นเขตบางซื่อในความหมายก็คืออำเภอบางซื่อนั่นเอง เจ้าคณะแขวงก็คือเจ้าคณะตำบล วันนั้นเจ้าคณะแขวงได้ให้โอวาทสรุปความได้ว่า  “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้น หลักธรรมที่ประการหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาและใช้ในการอยู่ร่วมกันคือสาราณิยธรรม คือทำ พูด คิด ประกอบด้วยเมตตา มีอะไรก็แบ่งกันใช้  มีข้อปฏิบัติ  มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน 
           สารณิยธรรมหลักแห่งการอยู่ร่วมกันมีแสดงไว้ในสาราณิยสูตร อังคุตตรนิกาย (22/282/301) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาราณิยธรรม 6 ประการนี้ 6 ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม
           อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม
           อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม

           อีกประการหนึ่ง ภิกษุแบ่งปันลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรมได้มาโดยธรรม แม้โดยที่สุดบิณฑบาต ย่อมบริโภคร่วมกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้มีศีล แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม
           อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย  เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฐิไม่ยึดถือเป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม
           อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีทิฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก นำออกไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ข้อนี้ก็เป็นสาราณิยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาราณิยธรรม 6 ประการนี้แล
         ก่อนจบโอวาทเจ้าคณะแขวงได้หันมาถามพระนวกะ (พระบวชใหม่)รูปหนึ่งว่า “ทำไมคนโบราณจึงเชื่อกันว่าเมื่อลูกบวชพ่อแม่จะได้บุญ”

           พระนวกะที่พึ่งบวชก่อนเข้าพรรษารูปนั้นตอบว่า “เพราะว่าพ่อแม่จะได้มีโอกาสเข้าวัด ฟังธรรม ได้ทำบุญทำทานโดยการนำภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุสามเณร อย่างน้อยก็ได้ถวายแก่พระลูกชายตัวเอง ครับผม”
         ครูสอนนวกะหันมามองหน้าด้วยรอยยิ้มเหมือนกับจะบอกเป็นนัยว่า “ลูกศิษย์ผมตอบอย่างอย่างมีภูมิ” เจ้าอาวาสก็ยิ้มออก อย่างน้อยแม้ยังพอมีหลักในการตอบอยู่บ้าง

         เจ้าคณะแขวงก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะบอกว่า “ตอบอย่างนั้นก็ถูก พระลูกชายเป็นเหมือนสะพานที่ทอดยาวจากบ้านสู่วัด ทำให้พ่อแม่ได้เข้าวัด  แต่สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ได้บุญอีกอย่างหนึ่งคือการที่ลูกชายอยู่ในวัดได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่ปลอดภัย  คงไม่ได้ไปทำผิดคิดมิชอบอะไร  ผิดกับตอนที่ลูกชายไม่ได้บวชพ่อแม่ต้องคอยห่วงกังวลว่าวันนี้ลูกชายจะไปเที่ยวเมามายที่ไหน จะได้รับอุบัติเหตุหรือมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับใครหรือไม่ พ่อแม่ต้องคอยมองทางเข้าบ้านว่าเมื่อไหร่ลูกชายจะกลับบ้าน ความกังวลกลายเป็นความทุกข์ เพราะความห่วงใยในลูก พอลูกชายบวชแล้วพ่อแม่ก็เบาใจว่าอย่างน้อยลูกชายก็อยู่ใกล้พระอยู่ใกล้ความสงบ อยู่ใกล้ความดี เมื่อคิดได้อย่างนี้พ่อแม่ก็เบาใจ สบายใจ นั่นคือบุญอย่างหนึ่ง เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความสบายใจไร้กังวลนั่นเอง”
           เจ้าคณะแขวงพร้อมด้วยคณะกลับไปแล้ว วันนี้เจ้าอาวาสยิ้มอย่างอารมณ์ดี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็อารมณ์ดี พระภิกษุสามเณรที่เป็นคณะครูนักเรียนก็อารมณ์ดี เดินออกจากพระอุโบสถก็เข้าสู่กุฏิที่พักของใครของมัน วันนี้หยุดเรียนหนึ่งวัน  ในอารามแห่งนี้พระภิกษุสามเณรอยู่กันอย่างสันติ มีความสุขตามสมควรแก่ฐานานุรูป


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
08/09/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก