ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              พระพุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนมากมายหลากหลายประการ สอนคนได้ทุกระดับชั้นและให้ผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ คำสอนเบื้องต้นที่ชาวพุทธคุ้นเคยคือคำสอนที่แสดงเรื่องการทำบุญที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุสามประการคือทาน ศีล ภาวนา ใครที่มีความพร้อมในเรื่องใดก็สามารถปฏิบัติได้ จะทำบุญด้วยเรื่องใดก่อนขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และความสะดวกของผู้ปฏิบัติ ที่ชาวพุทธคุ้นเคยคือการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ หากใครที่ไม่ได้ใส่บาตรในตอนเช้าก็มักจะมาทำบุญที่วัดโดยถวายภัตตาหารกับพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง

              เวลาใกล้จะห้าโมงเช้าแล้ว หลวงตาไซเบอร์ฯ เดินผ่านกุฏีเจ้าอาวาสมีหญิงในวัยกลางคนๆหนึ่งพร้อมกับเด็กหญิงอีกคนหนึ่งในมือถือถาดอาหารพร้อมขนมมองดูน่าอร่อยและสิ่งของอื่นๆเดินผ่านหน้ามาและเอ่ยถามว่า “ท่านเจ้าคะกุฎีหลวงพ่อเจ้าอาวาสอยู่ที่ไหน” จึงชี้มือบอกทางพร้อมทั้งบอกว่า “กุฎีหลังใหญ่ๆนั่นแหละโยม”

              จากนั้นก็เดินผ่านไป ไม่นานต่อจากนั้นบังเอิญเดินกลับทางเก่า หญิงคนนั้นเดินกลับมาพบอีกที เธอบอกว่า “เจ้าอาวาสไม่อยู่ วันหลังดิฉันจะมาถวายภัตตาหารใหม่”    กำลังจะเอ่ยปากว่า “ถวายพระรูปอื่นก็ได้” แต่ยังไม่ได้พูดออกไป ตอนนั้นเห็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสกำลังออกมาจากกุฎี บอกให้รู้ว่าแม้เจ้าอาวาสจะไม่อยู่ แต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ยังอยู่ หรือยังมีพระภิกษุรูปอื่นๆอีกหลายรูปที่พร้อมที่จะรับภัตตาหารและสังฆทานที่โยมคนนั้นต้องการถวาย แต่ทว่าหญิงคนนั้นถือถาดอาหารและขนมและทานวัตถุอื่นๆเดินไปทางรถที่จอดอยู่ภายในบริเวณวัด
              หลวงตาไซเบอร์ฯก็เดินกลับกุฎี แต่หญิงคนนั้นย้อนกลับมาอีกทีและบอกว่า “ดิฉันจะถวายภัตตาหารและสังฆทาน ท่านช่วยรับให้หน่อยได้ไหมเจ้าคะ” จึงชี้มือไปทางกุฎีผู้ช่วยเจ้าอาวาสและบอกว่า “โยมไปที่กุฎีหลังนั้นและถวายหลวงพ่อรูปนั้นก็แล้วกัน”
              ขณะที่เดินกลับกุฎีในใจกลับย้อนกลับไปถึงหญิงวัยกลางคนๆหนึ่งที่บริเวณประตูทางเข้าลุมพินี ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า หญิงคนนั้นเธอถือถาดอาหารพร้อมทั้งเครื่องดื่มเดินไปแจกทานให้แก่เหล่าขอทานทั้งหลายด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอารมณ์ดี ขอทานบางคนมีร่างกายพิการนั่งอยู่บนรถเข็น เธอก็ยังเดินไปหาและให้อาหารแก่ขอทานเหล่านั้น บังเอิญวันนั้นกำลังจะเดินเข้าลุมพินีจึงยกกล้องขึ้นถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หญิงวัยกลางคนสองคนอยู่ในสถานที่และเวลาต่างกัน แต่ก็มีจิตใจที่คิดจะให้ทานเหมือนกัน หญิงเนปาลไม่ลังเลให้ทานโดยไม่เลือก ส่วนหญิงคนไทยแม้จะลังเลครู่หนึ่งแต่ท้ายที่สุดก็ยังให้ทาน

              การที่คนจะให้ทานนั้นมีสาเหตุหลายประการ แต่ละคนคงมีเหตุผลไม่เหมือนกัน ดังที่มีแสดงไว้ในทานวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/123/183) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุแปดประการนี้คือ(1) บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน (2) บางคนให้ทานเพราะโกรธ (3) บางคนให้ทานเพราะหลง (4) บางคนให้ทานเพราะกลัว (5) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม (6) บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (7) บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ (8) บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต”
              หญิงวัยกลางคนๆนั้นเมื่อเข้าวัดตั้งใจจะถวายทานจึงตั้งจิตคิดมุ่งหน้าต่อประธานสงฆ์ในวัดนั่นคือเจ้าอาวาสคงรู้จักชอบพอกันมาก่อนหรือจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม  แต่เมื่อเจ้าอาวาสไม่อยู่ ตอนแรกคงไม่ได้คิดถึงพระสงฆ์รูปอื่น เพราะความตั้งใจมาตั้งแต่ต้น เมื่อสิ่งที่คิดไว้ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้จึงคิดจะเดินทางกลับ ตอนนั้นคงลืมไปว่าภัตตาหารที่นำมาถวายพระนั้นมีเวลาจำกัดหากเลยเที่ยงไปแล้วพระสงฆ์ก็ฉันภัตตาหารนั้นไม่ได้  เมื่อไม่ได้ถวายเจ้าอาวาสก็เลยไม่คิดที่จะถวายพระรูปอื่น แต่คงคิดได้ตอนจะขึ้นรถกลับบ้านจึงย้อนกลับมาอีกที บังเอิญอีกครั้งพระสงฆ์ที่เธอพบเป็นพระรูปเดียวกับที่เธอพบครั้งแรก

              คนจะให้ทานได้นั้นในเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้มีศรัทธา และศรัทธาของแต่ละคนไม่เหมือนกันบางคนเลื่อมใสในรูป บางคนชอบในเสียง บางคนชอบในความเศร้าหมอง บางคนชอบในธรรม เรียกว่า “ปมาณิก” หมายถึงการถือประมาณต่างๆกัน คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆกันเป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส คำศัพท์ที่ใช้เรียกทั่วไปคือคำว่า “ปมาณ” หรือภาษาไทยว่า “ประมาณ” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย)ภาษาบาลีแปลว่า “ประมาณ การนับ ขนาด จำนวน ขีดขั้น ขอบเขต มาตรฐาน สิ่งที่ถือเอาเป็นประมาณได้ ช่อง ระยะกาล เหตุ”
              คุณสมบัติที่ถือเป็น “ปมาณิก” นั้นมีแสดงไว้ในรูปสูตร อังคุตตรนิกาย (21/65/93) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลกคือ(1)  ผู้ถือประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป (2) ผู้ถือประมาณในเสียง เลื่อมใสในเสียง (3) ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง (4)ผู้ถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม”

              มีคำอธิบายของคนทั้งสี่ประเภทไว้ต่อไปว่า “ชนเหล่าใด ถือประมาณในรูป และชนเหล่าใด คล้อยไปตามเสียง ชนเหล่านั้น เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะย่อมไม่รู้จักชนนั้น คือย่อมไม่รู้คุณภายในของเขา และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นแล เป็นคนเขลา ถูกห้อมล้อมไว้โดยรอบ อันเสียงย่อมพัดไป อนึ่งบุคคลไม่รู้คุณภายใน และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขาแม้บุคคลนั้นเห็นผลในภายนอก ก็ยังถูกเสียงพัดไป ส่วนบุคคลรู้ทั่วถึงคุณภายในของเขา และเห็นแจ้งข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นเป็นผู้เห็นธรรมอันปราศจากเครื่องกั้นย่อมไม่ถูกเสียงพัดไป”
              หากใครที่เกิดมารูปงาม เสียงดีถือว่าทำบุญไว้มากจึงเกิดมาสมบูรณ์ทั้งรูปและเสียง หากเมื่อบวชเป็นพระภิกษุก็จะเป็นพระที่รูปงาม ยิ่งถ้าเสียงดีเทศน์เก่งก็จะทำให้ศาสนิกชนผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ง่าย คนแต่ละต่างมีความชอบไม่เหมือนกัน การจะทำบุญด้วยการให้ทานก็จะเลือกให้กับผู้ที่ตนมีศรัทธาเลื่อมใส ในปมาณิกาทั้งสี่ประการนั้นผู้ให้ทานโดยการถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรมเป็นการให้ทานสำหรับผู้เข้าใจธรรม ผู้มีธรรมในดวงจิต
 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/06/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก