ความสำเร็จในชีวิตของฆราวาสนั้น มีใครไม่รู้บอกไว้ว่ามีอยู่สี่ประการ คือเรียนจบได้เข้ารับปริญญา หากเป็นชายขอให้ได้บวชเรียน หากเป็นหญิงก็ขอให้ได้คู่ครองที่เหมาะสม มีงานทำ และประการสุดท้ายได้แต่งงานมีครอบครัวที่มีความสุข ชีวิตหากดำเนินไปตามนี้ถือว่าเป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วประสบความสำเร็จ สิ่งที่ยากที่สุดอันดับแรกคือการเรียนให้จบปริญญา หากสามารถเรียนจนจบปริญญาเอกถือว่าชีวิตได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางของการศึกษาแล้ว
ในงานประทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พยายามมองหาคนรู้จัก อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน นักศึกษาหรือแม้แต่อาจารย์บางท่าน เพื่อจะได้ทักทายและร่วมแสดงความยินดี ยังมีดุษฎีบัณฑิตอีกหลายท่านที่เข้ารับปริญญาในครั้งนี้ ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นศึกษาร่วมชั้นมาด้วยกัน แต่พอเวลาผ่านไปเริ่มเหลือน้อยลงทุกที ที่เห็นส่วนหนึ่งจึงเป็นลูกศิษย์ที่เคยสอนมาเมื่อสี่ห้าปีก่อน ที่มองหาเพราะอยากแสดงความยินดีกับบัณฑิตที่สามารถใช้ความวิริยะอุตสาหะจนจบการศึกษา อย่างน้อยก็ได้ทักทายและร่วมถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เพราะการเข้ารับปริญญาบางคนอาจจะมีหลายครั้งแต่ทว่าบางคนมีเพียงครั้งเดียว
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีอักษรย่อว่า “มมร” มีปรัชญาประจำมหาวิทยาลัยว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา” แม้จะเปิดเรียนหลายคณะ หลายภาควิชา แต่นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานด้านพระพุทธศาสนาอย่างน้อยก็ต้องศึกษาพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม บางสาขาวิชาอาจจะต้องศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่นๆทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในรายวิชาภาษาบาลีสันสกฤตอันเป็นภาษาที่ใช้ในการจดบันทึกคำสอนพุทธศาสนา ส่วนภาษาอื่นๆนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ผู้ที่จะจบหลักสูตรจึงต้องมีความรู้ทางด้านพุทธศาสนา แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นเลิศตามปรัชญามหาวิทยาลัย แต่อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้ด้านพระพุทธศาสนาพอสมควร หรือหากจะเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการเป็นเลิศก็จะได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง
“มมร” มีคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัยว่า “ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์” นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาจากทุกนิกายในพระพุทธศาสนาทั้งมหายาน เถรวาท วัชรยาน มาจากหลายประเทศ หากนักศึกษาแต่ละรูปต่างก็ถือตามระเบียบปฎิบัติของตนเองที่เคยปฏิบัติคงยุ่งน่าดู แต่เมื่อมาอยู่ที่นี้ใช้ระเบียบเดียวกัน อยู่กันฉันท์พี่น้อง และสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้จะต่างลัทธินิกาย ต่างเพศต่างวัย ต่างสาขาอาชีพ แต่ทุกคนเป็นศิษย์ร่วมสถาบันเดียวกันได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ปัจจุบัน มมร จึงมีพระนักศึกษาที่เป็นพระภิกษุจากหลายประเทศเช่นเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม บังคลาเทศ เนปาล เป็นต้นเข้ามาศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
“มมร” มีสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัยว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส” แปลว่า “ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” ซึ่งเป็นภาษิตมาจากอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/160/128) แปลความตามพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา” คำว่า “วิชฺชา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) แปลว่า “ความรู้” ส่วนคำว่า “จรณ” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ (ไม่หญิงไม่ชาย) แปลได้หลายความหมายคือ “การเที่ยวไป ความประพฤติ จรณะ เท้า” ดังนั้นจึงพอจะแปลได้อีกอย่างว่า “ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” มีความรู้ดีอย่างเดียวแต่ความประพฤติไม่ดีก็ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้ ส่วนผู้ที่มีทั้งวิชชาและจรณะจึงเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในมนุษยโลกและเทวโลก ส่วนใครจะก้าวล่วงไปถึงขั้นนั้นได้ก็ต้องศึกษาให้สมบูรณ์ทั้งความรู้และความประพฤติ พระสงฆ์บางรูปมีความรู้ดีแต่มีความประพฤติไม่เหมาะสมก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ ส่วนฆราวาสที่มีความรู้มีมากแต่หากความประพฤติไม่ดีก็ยังไม่ถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
“มมร” มีสุภาษิต คติพจน์และปรัชญาของมหาวิทยาลัยเมื่อนำมาหลอมรวมกันก็จะกลายเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ กำลังถือกล้องเดินผ่านบัณฑิตวิทยาลัยเผทื่อว่าอาจจะมีบัณฑิตที่จบการศึกษาที่เคยรู้จัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่พึ่งเรียนจบปริญญาเอกอยู่ในชุดครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกำลังถูกรุมล้อมจากบรรดาเพื่อนๆและลูกศิษย์เพื่อขอถ่ายรูปร่วมกับความสำเร็จ จึงเข้าร่วมในการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เมื่อเห็นว่าพอมีเวลาว่างจึงขอสัมภาษณ์ว่าทำอย่างไรจึงเรียนจบปริญญาเอก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ท่านนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษย์สาสตร์บอกสั้นๆว่า “มนุษย์เราต้องมีงานทำ มีความรัก มีการศึกษา และมีเงินจึงจะอยู่ในโลกอย่างมีความสุขได้ เงินงานการศึกษาหาไว้ก่อน อย่ารีบร้อนหารักงานจักเสีย เมื่อมีเงินมีงานจึงมีเมีย งานไม่เสียเมียก็มีเงินก็มา”
เมื่อผู้เขียนทำหน้างงๆ กำลังสงสัยในบทกลอนที่น่าจะถูกดัดแปลงโดยเปลี่ยนเนื้อหาเสียใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่พึ่งเรียนจบปริญญาเอกท่านนั้นจึงบอกว่า “ผมพูดในฐานะชาวบ้าน ที่ปัจจุบันผมเป็นพ่อของลูกอีกสามคน ลูกๆกำลังอยู่ในวัยศึกษาทั้งนั้น ผมทั้งทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและปลีกเวลามาเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ชีวิตจึงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แต่เมื่ออยู่ในสถานะของอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอย่างน้อยก็ต้องเรียนให้จบปริญญาเอก ไม่อย่างนั้นผมอาจจะตกงาน เพราะไม่สามารถสอนในระดับที่สูงเกินกว่าปริญญาตรีได้ งานกับการศึกษามีส่วนสัมพันธ์กัน แต่จะต้องไม่ลืมความรักความเข้าใจของคนในครอบครัว ทุกคนต้องเข้าใจต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน กำลังของคนในครอบครัวคือส่วนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมสามารถเรียนจนจบได้”
จึงบอกว่า “ขอให้โชคดีในหน้าที่การงาน ได้ทำงานในสาขาวิชาที่เรียนจบมาให้เต็มที่ โลกนี้ยังมีที่ว่างอีกมากสำหรับคนที่สู้ชีวิต”
นักศึกษาส่วนหนึ่งที่เรียนจบในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจาก “มมร” ส่วนหนึ่งคือผู้ที่ทำงานแล้ว บางคนมีอายุมากแล้วแต่อยากศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะได้มีความรู้ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิตไปพร้อมๆกัน บางคนเกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังอยากศึกษาก็สามารถเข้ามาศึกษาได้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่จำกัดอายุของผู้เรียน เพราะคติของโบราณที่บอกว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” อายุเท่าไหร่ก็ศึกษาเล่าเรียนได้ การศึกษาพระพุทธศาสนาคือการศึกษาชีวิต คนที่เข้าใจชีวิตย่อมเข้าใจโลกและอยู่ในโลกอย่างมีความสุขได้ เรียนวิชาชีพเพื่อทำงาน เรียนวิชาชีวิตเพื่อเข้าใจโลก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/05/56