บ่ายวันนั้นอากาศร้อน ไม่มีลมพัด ฟ้าไม่มีเมฆ ท้องฟ้าจึงสดใส แดดจากดวงอาทิตย์ส่องประกายมาเต็มกำลัง ทำให้เกิดความร้อนขึ้นเรื่อยๆ หลายวันมานี้อากาศร้อนมาก แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะพยากรณ์ว่าในช่วงสองสามนี้จะมีฝนตกกระจายตั้งแต่ภาคอีสานจนถึงกรุงเทพ เพราะความกดอากาศจากประเทศจีนกำลังแผ่คลุมมาทางใต้ นั่นแสดงว่าจะทำให้มีฝนตก แต่ในขณะที่รอฝน ก็ต้องทนกับอากาศร้อนไปก่อน โลกมนุษย์มีสภาวะอากาศไม่เหมือนกัน ดูจากข่าวที่ยุโรปหิมะกำลังตกหนัก แต่ที่เมืองไทยอากาศร้อนอบอ้าว นั่นคือความเป็นไปของสภาพแวดล้อมของโลกที่แปรผันไปตามกาลเวลา จะหนาวหรือร้อนเกิดเป็นมนุษย์ที่จะต้องอาศัยอยู่ในโลกนี้ก็ต้องทนรับสภาพให้ได้ ทนได้ ใจดี มีสุข
ลงพระปาฏิโมกข์เสร็จเวลาประมาณบ่ายสองโมงเศษๆ เดินออกจากพระอุโบสถที่ถูกแสงแดดแผดเผาจนผนังผุกร่อน สีที่เคยขาวก็ออกแนวน้ำตาล มีรอยสีลอกเป็นแห่งๆ มองไปที่หลังคาพระอุโบสถกระเบื้องมุงหลังคาก็เปลี่ยนสีทั้งเก่าและค่ำคร่า นั่นเพราะได้ผ่านกาลเวลามานานเป็นร้อยปีแล้ว แม้จะซ่อมแซมหลายครั้งแต่ก็ซ่อมทีละอย่าง ไม่ได้ซ่อมแซมหมดทั้งพระอุโบสถ เจ้าอาวาสพึ่งประกาศต่อหน้าคณะสงฆ์หลังจากที่การสวดปาฏิโมกข์จบลงว่า “ปีนี้จะซ่อมแซมพระอุโบสถ มุงหลังคาใหม่ ทาสีใหม่ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ขอให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปช่วยกัน”
ได้แต่ปารภกับตนเองว่า คงต้องถึงเวลาซ่อมแซมสักวัน แม้ไม่ซ่อมวันนี้ หากปล่อยไว้อีกไม่นานก็จะยิ่งจะต้องต้องพุพังไปมากกว่านี้ เฉกเช่นกับชีวิตของมวลมนุษยชาติที่จะต้องแก่ชราไปตามกาล วัตถุสิ่งของพอซ่อมแซมได้ แต่ร่างกายมนุษย์แม้จะซ่อมแซมและรักษาดีอย่างไรพอถึงวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป โลกนี้ไม่มีอะไรต้านทาน จำต้องจากโลกนี้ไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง
กำลังคิดอะไรเพลินๆขณะเดินกลับกุฎี สามเณรอั้มเดินเข้ามาหาก่อนจะถามว่า “อาจารย์ใหญ่ครับธรรมมีอุปการะมากมีกี่อย่างอะไรบ้าง” ตอนนั้นยังไม่ทราบสาเหตุว่าสามเณรอั้มถามทำไม ถามเพื่ออะไร และในช่วงเวลานั้นก็ลืมไปแล้วว่าอะไรคือธรรมมีอุปกระมาก เพราะในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี มีธรรมอีกสองกลุ่มที่ใกล้เคียงกันคือธรรมเป็นโลกบาลและธรรมทำให้งาม หากไม่พิจารณาให้ดีรีบตอบออาจตอบผิดได้ง่ายๆ อาจจะทำให้ขายขี้หน้าอาจารย์ใหญ่ที่บังเอิญตอบผิด ในขณะที่กำลังคิดหาคำตอบจึงย้อนถามไปว่า “เณรอั้มก็สอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วน่าจะตอบได้”
สามเณรอั้มจึงบอกว่า “ในหนังสือนวโกวาทตำราเรียนเรียนนักธรรมตรี หมวดสองข้อแรกบอกว่า ธรรมมีอุปการะมากสองอย่างคือสติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ผมยังท่องคำอธิบายได้ด้วยนะครับว่า สติช่วยให้บุคคลไม่ประมาทเลินเล่อเผลอตัว สัมปชัญญะ เตือนบุคคลให้ระลึกตัวในการประพฤติปฏิบัติสู่ทางที่ดีที่ชอบ ถูกต้อง ไม่เสียหาย ตั้งมั่นอยู่ในความงามความดี บุคคลผู้มีสติสัมปชัญชัญญะประจำตน จะกระทำการใดย่อมมีความผิดพลั้งน้อย ถูกต้องมาก เป็นปัจจัยนำไปสู่ความเจริญด้วยความมั่นคง” ผมท่องมาอย่างนี้ จนกระทั่งสอบนักธรรมชั้นตรีได้ แต่อาจารย์ที่โรงเรียนบอกว่า “ธรรมมีอุปการะมากไม่ได้มีสองอย่างเท่านั้น ยังมีอีกสี่ข้อ ให้นักเรียนไปหาคำตอบมา” นี่แหละครับคือปัญหา ผมไม่รู้จะไปหาคำตอบได้ที่ไหน อาจารย์ใหญ่คงพอช่วยผมได้
สามเณรอั้มเห็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ เมื่อได้รับความไว้วางใจจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นไปด้วยกัน ไปค้นหาคำตอบจากพระไตรปิฎกที่ห้องสมุดประจำโรงเรียน บัดเดี๋ยวนี้”
ได้ยินสามเณรอั้มพูดเบาๆว่า อาจารย์ใหญ่เล่นสำนวนโบราณเลยนะครับ จากนั้นก็เดินเข้าห้องสมุดเปิดพระไตรปิฎก ตอนนั้นตั้งธงในการค้นหาง่ายๆว่า “ให้ค้นหาจากหมวดสี่จากอังคุตตรนิกายอย่างเดียวไปก่อน หากไม่พบจึงค้นเล่มอื่นๆ”
ความเจริญของโลกยุคสมัยปัจจุบัน หากต้องการค้นหาเรื่องบางเรื่องก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่เปิดพระไตรปิฎกจากคอมพิวเตอร์ใช้โปรแกรมค้นหาไม่นานก็พบแล้ว แต่วิธีการอย่างนั้นง่ายเกินไป อยากให้สามเณรได้รู้จักเปิดพระไตรปิฎกฉบับจริง จึงปล่อยให้ค้นหาเอาเอง
ผ่านไปสักสามสิบนาทีสามเณรอั้มก็ร้องเสียงดังอย่างดีใจว่า “เจอแล้วครับอาจารย์ จากนั้นก็นำมาให้ดู เนื้อหาปรากฏในอาปัตติภยวรรคที่ห้า อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/249/279) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสี่ประการ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ คือ สัปปุริสสังเสวะ สัทธรรมสวนะ โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสี่ประการนี้แล เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์”
ธรรมทั้งสี่อย่างนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วุฒิธรรม” หมายถึงธรรมเป็นเครื่องเจริญ คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ประกอบด้วย “สัปปุริสังเสวะ” หมายถึงการคบหาสัตบุรุษ เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ “สัทธัมมัสสวนะ” หมายถึงการฟังสัทธรรม เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง “โยนิโสมนสิการ” หมายถึงการทำในใจโดยแยบคาย คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี และ “ธัมมานุธัมมปฏิบัติ” หมายถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุ ประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ
ธรรมหมวดนี้นอกจากจะกล่าวว่าเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์แล้ว ยังจัดเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญาหรือที่เรียกว่า “ปัญญาวุฒิธรรม” มีปรากฎในอาปัตติภยวรรคที่ห้า อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/248/279) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสี่ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญาคือคือสัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ สัทธรรมสวนะฟังคำสอนของท่าน โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสี่ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา”
ธรรมทั้งสองหมวดนี้แสดงไว้ในวรรคเดียวกัน เล่มเดียวกันอยู่ใกล้ๆกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่หากนำไปใช้ย่อมจะทำให้เกิดประโยชน์ได้หลายทางคือเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา และเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ ธรรมในพระพุทธศาสนาบางอย่างสามารถนำไปใช้ได้หลายประการ เหมือนยารักษาโรคบางชนิดใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง
สามเณรอั้มเมื่อได้คำตอบตามที่ต้องการแล้วก็ลากลับไป ห้องสมุดก็กลับเข้าสู่ความสงบ เปลวแดดยังระอุร้อน ในช่วงเวลาอย่างนี้คงทำอะไรได้ไม่สะดวกนัก จึงหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่วางอยู่ข้างๆตู้พระไตรปิฎกนำมาปัดฝุ่น ชื่อเรื่องว่า “พี่น้องคารามาซอฟ” บทประพันธ์ของฟีโอดอร์ ตอสโตเยสกี สำนวนแปลของ “สดใส” ซื้อมานานแล้ว อ่านไปได้หลายตอนแล้ว หนังสืออะไรไม่รู้หนาตั้ง 1032 หน้า เนื้อหาก็อ่านยาก แต่ก็ทำให้ก้าวผ่านกาลเวลาในวันที่ร้อนระอุไปได้อย่างเพลิดเพลินใจ รู้สึกตัวอีกครั้งเสียงระฆังทำวัตรเย็นแว่วมาอีกแล้ว วางหนังสือและเดินกลับเข้าพระอุโบสถอีกครั้งเพื่อทำวัตรสวดมนต์เย็น กาลเวลาที่ระอุร้อนผ่านไปอีกวัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/03/56