การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคงทราบผลอย่างเป็นทางการไปแล้วว่า ใครคือผู้ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งประเทศไทยมีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งเพียงจังหวัดเดียว ส่วนอีกเจ็ดสิบกว่าจังหวัดยังใช้การบริหารแบบเดิมคือมาจากการแต่งตั้ง ในอนาคตไม่นานคงมีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าใด ผู้นำของมหาชนควรมาจากการเลือกของพวกเขาเอง เขาจะเลือกใครให้มาเป็นตัวแทนในการบริหารงานนั้นก็ต้องยอมรับผลของการเลือก แม้จะไม่ใช่อย่างที่ใจเราต้องการ แต่เสียงของมหาชนย่อมมีพลัง ผู้แพ้ต้องยอมรับกติกา หากไม่ยอมรับก็ต้องเป็นแบบคำโบราณที่ว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร”
คำว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” เป็นสำนวนไทย มาจากธรรมเทศนาที่สอนให้คนเรารู้จักอดกลั้นใจ หรือระงับยับยั้งความโกรธในการที่คิดจะสู้กับฝ่ายศัตรู มิให้เป็นเรื่องราวลุกลามใหญ่โตเกิดขึ้น โดยที่ฝ่ายรู้จักคิดอดกลั้นไม่ต่อกรด้วย ถึงจะเป็นผู้แพ้ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้ที่คิดจะทำร้ายเขาเพื่อเอาชนะ” การรู้จักแพ้และรู้จักชนะจึงเป็นลักษณะของบัณฑิต ผู้อดกลั้นได้ ระงับความโกรธเอาไว้ได้ แม้จะแพ้ก็แพ้อย่างสงบ ส่วนผู้ที่ชนะหากชัยชนะนั้นได้มาด้วยความถูกต้องก็ไม่เป็นไร แต่หากได้มาด้วยการกระทำที่ไม่ถูกต้องในที่สุดผู้ชนะก็จะกลายเป็นมารไป เพราะความเท็จถึงจะปิดอย่างไรก็คงหนีความจริงไปไม่พ้น โบราณกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “ทำชั่วในที่แจ้งมนุษย์ลงโทษ ทำชั่วในที่ลับเทพยดาลงทัณฑ์”
วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฟ้าครึ้มมาตั้งแต่เช้า และฝนก็เทลงมาอย่างหนักในเวลาก่อนเที่ยงวัน ฝนตกอากาศเย็นสบายแต่การเดินทางลำบาก ช่วงนี้กรุงเทพฯกำลังมีการก่อสร้างทั้งทางด่วน ทางรถไฟลอยฟ้า ขุดอุโมงค์ใต้ดินเป็นต้น พอฝนมาน้ำก็ล้น ในวันที่ยังไม่มีผู้ว่าฯจึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนไปก่อน ก่อนฝนตกชายวัยกลางคนๆหนึ่งกำลังจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเดินผ่านหน้ากุฏิจึงเอ่ยทักทายในฐานะคนรู้จักกันและถามความคิดเห็น“หลวงพี่ครับผมจะเลือกใครดีในบรรดาผู้สมัครทั้งยี่สิบห้าคน ผมควรเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ ใครควรเป็นผู้นำในการบริหารใครควรเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครับ”
จึงบอกชายคนนั้นไปว่า “อาตมาไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 100 ระบุไว้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจัดพระภิกษุสามเณรอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ไม่ให้ใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ผู้ที่ไม่มีสิทธิจึงคิดแทนไม่ได้ จะเลือกใครก็เลือกตามที่ตนเห็นว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการบริหารได้เพื่อประโยชน์แก่มหาชนได้ดีที่สุด
ในพระพุทธศาสนาหากได้ผู้นำดีมีคุณธรรม ประชาชนก็จะประสบความสุข หากได้ผู้นำที่ไม่ดี ไม่ตั้งอยู่ในธรรมก็จะนำพาฝูงชนเดินไปตามทางที่ไม่ถูกต้องได้ ผู้นำเหมือนโคผู้นำฝูง หากไปคด ฝูงโคผู้ตามก็จะเดินคดตามไปด้วย ดังที่แสดงไว้ในธรรมิกสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต(21/70/87) ความว่า “เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อมไปคดทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปคด ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดจะได้ประสบความทุกข์ ถ้าพระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข ถ้าพระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม”
สมัยพุทธกาลผู้นำคือพระราชา นอกจากนั้นในอรรถกถาธรรมิกสูตรยังกล่าวถึงคนอีกสามจำพวกคือ “ราชยุตฺตา” ได้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำราชการอยู่ในชนบทของพระราชา ปัจจุบันหมายถึงข้าราชการทั้งหลายทั้งปวง “พฺราหฺมณคหปติกา” ได้แก่ พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายผู้อยู่ภายในเมือง ปัจจุบันน่าจะหมายถึงชาวเมือง และ “เนคมชานปทา” ได้แก่ ชาวนิคมและชาวชนบท ปัจจุบันน่าจะหมายถึงชาวบ้าน
ผู้ว่าราชการเป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดหนึ่งๆ ในส่วนของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่เป็น “ผู้นำ” ของกรุงเทพมหานคร หากได้ผู้นำดีก็เดินไปถูกทาง แต่หากเลือกได้ผู้นำไม่ดีก็ต้องอดทนเข้าไว้ เลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะมีสิทธิเปลี่ยน
คนที่ไม่มีสิทธิ คิดแทนใครไม่ได้ ทำได้เพียงแต่รำพึงอยู่ในใจ ใครจะมาจะไปก็ไม่เป็นไร เพราะในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 25 คนนั้น ก่อนการเลือกตั้งทุกคนมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้ว่าฯทั้งนั้น แต่หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมีเพียงคนเดียวที่ได้สิทธิในการเป็นผู้นำ เขาจะพาเดินไปตรงหรือคดก็ต้องยอมรับ เพราะประชาชนคนกรุงเทพมหานครได้ใช้สิทธิเลือกเขาเป็นผู้นำแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/03/56
หมายเหตุ:ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต