ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          มีคนมาถามว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่านั้น มาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน คำถามนี้ดูเหมือนกับว่าผู้ถามจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่าจริง ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งคงได้มาจากหลักสูตรนักธรรมชั้นโทเป็นแน่ เมื่อตอบไปว่าดอกบัวมีเพียงสามเหล่า คนถามแสดงอาการว่าเริ่มจะไม่เห็นด้วยกับคำตอบที่ได้รับ 

 

           เมื่อเห็นอาการจึงได้เปิดพระไตรปิฎกมาอ้างว่าที่มาของดอกบัวสามเหล่านั้นมาจากพระวินัยไตรปิฎก มหาวรรค(4/9/11)ความว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆนั้น ทรงเกิดปริวิตกว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีความลึกซึ้งยากที่คนจะเข้าใจ จนกระทั่งท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมยังมีอยู่  
          ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ความว่า “พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี  มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว”จึงได้รับอาราธนาสหัมบดีพรหมเพื่อที่จะแสดงธรรมแก่สรรพสัตว์  

 

          ข้อความที่ปรากฎในพระวินัยตอนนี้ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัวสามเหล่าคือบางเหล่าจมน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลเหมือนกับดอกบัวสี่เหล่า เพราะในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทได้แสดงว่าบุคคลสี่ประเภทไว้คือ(1) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง (2) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น (3) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้ (4) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง  ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสี่จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก” 
          ข้อความนี้อ้างมาจากปุคคลวรรค  อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต (21/133/183) ซึ่ได้แสดงว่าด้วยบุคคลสี่จำพวกความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลกคืออุคฆปฏิตัญญูบุคคล วิปจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล ปทปรมบุคคล"  

           ต้องแยกประเด็นกันระหว่างดอกบัวกับบุคคล เนื้อหาในพระไตรปิฎกไม่ได้เปรียบเทียบกันแต่อย่างใด แยกกันแสดงคนละครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนการเปรียบเทียบกันนั้นมีปรากฎในอรรถกถาหลายครั้งหลายหน
          ดังที่แสดงในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 1 หน้าที่ 148 ได้เปรียบเทียบบุคคลสี่จำพวกกับดอกบัวสี่เหล่าความว่า “บุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู  วิปจิตัญญู  เนยยะ   ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัวสี่เหล่านั้นแล  ในบุคคลสี่จำพวกนั้น  (1) อุคฆฏิตัญญู  ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง  (2) วิปจิตัญญู ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร (3) เนยยะ ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย  ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร  (4) ปทปรมะ ได้แก่บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้นแม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก
          อรรถกถาได้อธิบายต่อไปว่า ในบทนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุเช่นกับ ดอกบัว ได้ทรงเห็นแล้วว่าบุคคลจำพวกอุคฆฏิตัญญู ดุจดอกบัวจะบานในวันนี้  บุคคลจำพวกวิปจิตัญญู ดุจดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้  บุคคลจำพวกเนยยะดุจดอกบัวจักบานในวันที่สาม และบุคคลจำพวกปทปรมะดุจดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

            พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงตรวจดูได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่าสัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย มีประมาณเท่านี้  สัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมากมีประมาณเท่านี้ แม้ในสัตว์เหล่านั้นจำพวกที่เป็น อุคฆฏิตัญญู มีประมาณเท่านี้ ในสัตว์สี่จำพวกนั้น การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลสามจำพวกในอัตภาพนี้แล พวกปทปรมะจะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคต" 
          อีกแห่งหนึ่งมีคำอธิบายในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 452  ความว่า “ในดอกอุบลเหล่านี้ เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่เหล่านั้น  คอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลีก็พึงแสดง    
            เหมือนอย่างว่า   ดอกไม้สี่อย่างเหล่านั้นฉันใด บุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู  เนยยะ  ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม  บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  อุคฆฏิตัญญู  บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  วิปัจจิตัญญู  บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ซ่องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตรจึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ บุคคลใด  ฟังมากก็ดี  กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี  สอนมากก็ดี  ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  ปทปรมะ

          บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ   ซึ่งเป็นเสมือนดอกบัวเป็นต้น   ก็ได้ทรงเห็นว่าอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้  วิปัจจิตัญญู เปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่สาม ปทปรมะ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่างอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สำเร็จประโยชน์ในอัตภาพนี้เท่านั้นแก่บุคคลสามประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้นปทปมะ มีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล
          ในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาตเล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 373   พระโสณโกฬวิสเถระกระทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่บรรลุธรรมะจึงได้คิดว่า เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ไช่ไนยบุคคล  เราพึงเป็นปทปรมบุคคลแน่แท้  เราจะประโยชน์อะไรด้วยบรรพชา เราจะสึกออกไปบริโภคโภคะและกระทำบุญ    ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่พระเถระเพื่อให้ประกอบความเพียรเพลา ๆ ลงบ้าง  ฝ่ายพระโสณเถระได้พระโอวาทในที่ต่อพระพักตร์ของพระทศพล ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล  ต่อมาภายหลังพระศาสดาทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ปรารภความเพียร

          ในพระไตรปิฎกกับอรรถกถาเนื้อหามิได้แตกต่างกัน แม้ในครั้งแรกพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงดอกบัวไว้สามเหล่า แต่ได้แสดงบุคคลไว้สี่จำพวก เมื่อนำมาอธิบายเปรียบเทียบกับดอกบัว พระอรรถกถาจารย์ก็อาจจะเล็งเห็นว่าดอกบัวประเภทสุดท้ายคือประเภทที่สี่ ยังไม่ได้ผุดขึ้นมาจากดิน พระพุทธเจ้าจึงมิได้ยกขึ้นมาแสดงไว้ พระอรรถกถาจารย์ท่านก็บอกไว้เหมือนกันจากหลักฐานมาจากคำว่า "ดอกบัวเหล่าใดจมก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ยกขึ้นสู่บาลี" คำว่า "ไม่ยกขึ้นสู่บาลี"หมายถึงไม่ได้แสดงในพระไตรปิฎก   ดังนั้นคนประเภทสุดท้ายคือผู้ที่สอนไม่ได้ก็เหมือนกับดอกบัวที่ยังไม่ได้เกิดนั่นแล ใครที่มีหลักฐานอื่นนอกไปจากนี้ขอเชิญวิพากย์วิจารณ์ได้ ยังมิได้สรุปความคิดและมิได้สงวนความเห็นแต่ประการใด 
          ตั้งใจว่าจะเขียนสั้นๆ แต่พอเขียนแล้วเริ่มยาวขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเนยยะคือพอจะแนะนำได้ จึงได้รู้จักกับพระพุทธศาสนา แต่บุคคลประเภทปทปรมะนั้นสอนไม่ได้แนะนำไม่ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์เสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
02/03/53

 

 

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก