กลิ่นธูปควันเทียนจากวันตรุษจีนยังไม่ทันจางหาย กลิ่นหอมของดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์ ก็โชยมาตามลม ในช่วงนี้ดอกกุหลาบกำลังขายดี เพราะดอกกุหลาบคือสัญลักษณ์ของความรัก ใครมอบดอกกุหลาบให้กับคนอื่นแสดงว่ากำลังมอบความรักผ่านสื่อคือดอกกุหลาบ ความรักจึงมักจะเป็นสิ่งที่หอมหวาน ทุกคนอยากได้อยากมีอยากเป็น ลึกๆในจิตใจของแต่ละคนนั้นอยากมีใครสักคนในช่องว่างแห่งหัวใจ อยากเติมเต็มความโดดเดี่ยว ละทิ้งความเปลี่ยวเหงา ขอให้มีใครสักคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรัก
ความรักเป็นคำที่ให้คำนิยามได้ยากหากจะกล่าวในแง่ของวัฒนธรรมก็จะเป็นการพัฒนาความรักให้กลายเป็นวัฒนธรรมความรัก เพราะวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หมายรวมถึงความคิด ศิลปะ วรรณคดี ดนตรี ปรัชญา ศีลธรรม จรรยา ภาษา กฎหมาย ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและสิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งได้ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อๆมา เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถ้าสิ่งใดดีก็เก็บไว้ สิ่งใดควรแก้ก็แก้ไขกันให้ดีขึ้น เพื่อจะได้ส่งเสริมให้มีลักษณะที่ดีประจำโลกต่อไป ในลักษณะนี้วัฒนธรรมจึงเป็นการแสดงออกซึ่งความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
ความรัก เป็นนามธรรมจัดเป็นวัฒนธรรมในกลุ่มของความคิด ปรัชญา วันวาเลนไทน์แม้จะมีถิ่นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมทางตะวันตกเป็นเรื่องของนักบวชคนหนึ่งนามว่า นักบุญวาเลนตินุสกับสาวตาบอดนามว่าจูเลีย วาเลนตินุสมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระคริสต์อย่างมั่นคง เขาได้กล่าวไว้ว่า แม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของเขาได้ เขาจึงได้ถูกจับขังคุกเพราะไม่ยอมเลิกล้มความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ผู้คุมขังได้ขอให้วาเลนตินุส สอนลูกสาวเขาชื่อจูเลียซึ่งตาบอด ด้วยความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้าทำให้จูเลียสามารถมองเห็น
ในคืนก่อนที่วาเลนตินุสจะสิ้นชีวิตโดยการถูกตัดศีรษะ เขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย โดยลงท้ายว่า “From Your Valentine” เข้าสิ้นชีพในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 หลังจากนั้น ศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม จูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของวาเลนตินุส ผู้เป็นที่รักของเธอ ในทุกวันนี้ต้นอามันต์สีชมพูได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดร์และมิตรภาพอันสวยงาม
จากต้นอัลมอลต์สีชมพูในอดีตบัดนี้ได้แปรสภาพมาเป็นดอกกุหลาบ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป แต่ดอกอัลมอลต์คงหายากมีอยู่เฉพาะที่ วันวาเลนไทน์มิได้มุ่งหมายเฉพาะความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้นยังหมายถึงมิตรภาพกับผู้คนอื่นๆด้วย
ในพระพุทธศาสนาแสดงความรักไว้หลายระดับเช่นรักตัวเอง รักครอบครัวและสังคมรวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย สรุปได้ว่า “รักตัวกลัวตาย รักพ่อแม่ญาติพี่น้อง รักพวกพ้อง รักด้วยตัณหาราคะ รักเมตตาในสรรพสัตว์ รักรอบด้าน" ความรักจึงมีหลายมิติ แต่ในวันวาเลนไทน์ในปัจจุบันมุ่งเน้นที่ความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว จนเกิดมีวัฒนธรรมการแต่งงานในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี
คำว่า “ความรัก” ในภาษาบาลีมีหลายความหมายเช่น “เปม” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(เพศชาย) แปลวาความรัก
“ปิย” เป็นคำคุณนาม แปลว่าอันเป็นที่รัก อันเป็นที่พอใจ เข้ากันได้
“ฉนฺท” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า ความพอใจ ความรักใคร่ ความมุ่งหมาย
“ฉนฺทาคติ” คำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) แปลว่าความลำเอียงเพราะรักใคร่
“ฉนฺทราค” คำนามปุงลิงค์(เพศชาย)แปลว่าความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ความรักนั้นมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง รักเพราะชอบ รักเพราะเชื่อ รักเพราะหลง ครั้งหนึ่งมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุเกิดแห่งความรัก คนบางคนพอเห็นหน้าก็เกิดความรักขึ้นในทันใด นั่นเพราะเหตุใด ดังที่แสดงไว้ในสาเกตชาดก ขุททกนิกาย ชาดก (27/323-324/87) ความว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอเมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้พอเห็นกันเข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้า จิตก็เลื่อมใส”
“ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุสองประการ คือน้ำและเปือกตมฉะนั้น”
มีพุทธภาษิตที่แสดงถึงความรักซึ่งมักจะมากับความโศก ดังที่แสดงไว้ในปิยวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/26/30) “ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน”
หากรักนั้นสมหวังก็จะเปลี่ยนจากความโศกเป็นความสุข ความรักกับความสุขมักจะเดินสวนทางกัน แต่ความรักมักจะเดินร่วมทางกับโศกเหมือนเงาตามตัว หากใครมีความรักย่อมปรารถนาจะครอบครอง ได้อยู่ร่วมกันหรืออย่างน้อยก็ได้เห็นหน้า เวลาเห็นหน้ามักมีสุข แต่การเห็นผู้อันเป็นที่รักเป็นสุข ส่วนการได้อยู่ใกล้ผู้ไม่เป็นที่รักก็มักจะเป็นทุกข์ดังที่แสดงไว้ในปิยวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท (25/26/30) ความว่า “ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ การไม่เห็นสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์หรือสังขารอันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์” หากจะแปลใหม่ให้ร่วมสมัยโดยที่ความหมายยังคงเดิมน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นเป็นทุกข์” การไม่ได้พบหน้าคนที่รักแสนเจ็บปวด แต่อยู่ใกล้ที่ไม่ได้รักเจ็บปวดยิ่งกว่า ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ แต่มนุษย์ก็ยังโหยหาความรัก ขอเพียงได้รักส่วนความเจ็บปวดค่อยเยียวยาทีหลัง มนุษยโลกจึงมีสุขและทุกข์ มีรักมีโศกคละเคล้ากันไป
วันวาเลนไทน์ได้กลายเป็นวัฒนธรรมความรักสำหรับมวลมนุษยชาติมานานแล้ว หากโลกนี้ยังมีความรักที่ประกอบด้วยจิตคิดเมตตาปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข รักนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในสังคมโลก แต่หากรักนั้นอิงอาศัยอยู่แค่เพียง “ฉันทราคะ” จิตใจเต็มไปด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความรักทำนองนี้ก็เป็นเพียงกระแสเป็นเศษเสี้ยวของวัฒนธรรมเท่านั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/02/56