สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงบ่อย สุขภาพร่างกายมนุษย์บางครั้งก็รับสภาพไม่ไหว บางประเทศหิมะตกปกคลุมขาวโพลนไปทั้งเมือง บางแห่งน้ำท่วม โลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ นอกจากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วแม้สภาพอากาศจะแปรเปลี่ยนไปอย่างอย่างไรก็ต้องทนให้ได้ ส่วนสภาพภายในจิตใจยิ่งทนยากลำบากยิ่งกว่า หากทนไม่ไหว อดไม่ได้บางครั้งอาจจะเกิดปัญหาที่ยุ่งยากตามมา เกิดเป็นคนต้องทนให้ได้
ความอดทนแปลมาจากภาษาบาลีว่า “ขนฺติ” แปลว่า "ความอดทน อดกลั้น" มักจะมีแทรกอยู่ในธรรมหมวดต่างๆเช่นธรรมทำให้งามคือขันติ โสรัจจะ คำว่า “ขันติ” ในธรรมหมวดนี้อธิบายขยายความว่า ความอดทน อดได้ทนได้เพื่อบรรลุความดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ ส่วนคำว่า “โสรัจจะ” ขยายความว่า “ ความเสงี่ยม อัธยาศัยงาม รักความประณีตหมดจดเรียบร้อยงดงาม หากใครอดทนได้ด้วยความสงบเสงี่ยมคนนั้นชื่อว่าผู้งาม เพราะขันติโสรัจจะ เป็นเหมือนอาภรณ์ประดับใจ ทำให้จิตใจงาม ย่อมทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญในที่ทั่วๆไป
ขันติยังจัดเป็นข้อหนึ่งในฆราวาสธรรมสี่ประการคือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ในบารมีสิบทัศน์ก็จัด “ขันติ” เป็นบารมีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในมงคลสูตร “ขันติ” ก็จัดเป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคลสามแปดประการ ในโอวาทปาฏิโมกข์ “ขันติ” จัดเป็นคุณธรรมข้อแรกของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาใช้คำว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา” แปลว่า ความอดทนเป็นตบะอันยอดเยี่ยม หรือจะแปลว่า “ขันติคือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง”
ขันติจึงเป็นธรรมสำคัญข้อหนึ่งที่มนุษย์ต้องมีไว้ประจำใจ ต้องอดให้ได้ ทนให้ได้ทั้งสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ อดทนทั้งภายในจิตใจเช่นความเจ็บใจ ความคับแค้นใจ ความขัดข้องใจเป็นต้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แม้จะทุกข์ยากลำบากอย่างไรก็ต้องทนรับสภาพให้ได้ ผู้ที่อดทนไม่ได้ย่อมได้รับโทษอันเกิดจากความไม่อดทน ส่วนผู้ที่ทนได้ย่อมได้รับผลหรืออานิสงส์แห่งการอดทนนั้น
ในอขันติสูตรที่ 1อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/215/260) ได้แสดงโทษของความไม่อดทนไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทนห้าประการคือ(1)ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก (2) ย่อมเป็นผู้มากด้วยเวร (3) ย่อมเป็นผู้มากด้วยโทษ (4) ย่อมเป็นผู้
หลงกระทำกาละ (5) เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
ส่วนอานิสงส์ของความอดทน แสดงไว้ห้าประการเหมือนกันความว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนห้าประการคือ (1)ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก (2) ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยเวร (3) ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ (4) ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ (5) เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
ในอขันติสูตร ที่ 2 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/216/260) มีเนื้อความที่แตกต่างกันบางข้อ ดังที่แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทนห้าประการคือ (1) ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก (2) ย่อมเป็นผู้โหดร้าย (3) ย่อมเป็นผู้เดือดร้อน (4) ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ (5) เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
อานิสงส์ของความอดทนมีแตกต่างกันบ้างบางข้อกับสูตรที่หนึ่ง ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนห้า คือ (1) ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก (2) ย่อมเป็นผู้ไม่โหดร้าย (3) ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อน (4) ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ (5) เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
ทั้งสองพระสูตรมีปรากฏในอังคุตตรนิกายเหมือนกัน แต่มีเนื้อความที่แตกต่างกันบ้างบางข้อ เป็นการแสดงทั้งโทษและอานิสงส์ของความอดทน
เกิดเป็นคนต้องอดทนให้ได้ แม้สภาพทั้งภายนอกและภายในจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร หากจิตใจเรามีธรรมคือ “ขันติ” ความอดทนอดกลั้นไว้เป็นเครื่องประดับใจแล้ว จะยากลำบากอย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป โบราณสอนไว้ว่า “ทนไม่ได้ ใจร้อน มักนอนคุก” ส่วนผู้ที่มีขันติธรรมประจำใจมักจะเป็นผู้สงบสันติอยู่อย่างมีความสุข “ทนได้ ใจเย็น เป็นสุข”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/01/56