การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นมีมากมายหลายวิธี พุทธศาสนิกชนสามารถเลือกทำได้ตามแต่โอกาส ที่รู้จักและนิยมกันมากที่สุดโดยสรุปคือทาน ศีล ภาวนา นั่นเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด ในวันธรรมสวนะวัดแทบทุกวัดจะมีพุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังธรรมเทศนาและบำเพ็ญจิตภาวนา ในอดีตสยามประเทศเคยกำหนดวันพระเป็นวันหยุดราชการ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ในชนบทบางหมู่บ้านเท่านั้นที่ยังถือว่าวันธรรมสวนะเป็นวันหยุด คือหยุดทำงานในวันพระ แต่ปัจจุบันการหยุดงานวันพระได้เปลี่ยนเป็นหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ นัยว่าเพื่อให้เหมือนกับนานาอารยะประเทศ
เมื่อวันพระไม่ใช่วันหยุดราชการ ส่วนมากจึงมีแต่ชาวบ้านมาทำบุญ การฟังเทศน์ก็มีเพียงคนแก่ที่ไม่ได้ทำงานราชการแล้ว ส่วนนักเรียนนักศึกษาก็ไม่มีเวลามาฟังเทศน์ศึกษาธรรมะเพราะโรงเรียนไม่ได้หยุดเรียนนั่นเอง จึงนับเป็นการสูญเสียโอกาสของการเป็นพุทธศาสนิกชนไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าจะให้ย้ายวันพระไปเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ก็จะผิดกับวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ต้องการให้เดือนหนึ่งมีวันพระสี่วันห่างกันเจ็ดวัน
การทำบุญเบื้องต้นมีแสดงไว้ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร(23/126/187) ความว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้คือ (1)บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน (2)บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล (3)บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
ประโยชน์หรืออานิสงส์ของการให้ทานนั้นมีพุทธดำรัสที่ทรงตรัสไว้ในทานานิสังสสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (21/351/35)กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทานความว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทานห้าประการคือ
(1)ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
(2)สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
(3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
(4) ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
(5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้วย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ปรินิพพานในโลกนี้
ได้ทราบอานิสงส์ของการให้ทานแล้วลองพิจารณาดูว่ามีความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ ธรรมะของพระพุทธศาสนาต้องสามารถพิสูจน์ได้ตามข้อเท็จจริง ทานในที่นี้มิได้มีความหมายเฉพาะการให้ทานกับพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรู้จักแบ่งปันให้กับคนทั่วไปหรือแม้แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย หากจะมีคำถามว่าควรจะให้ทานเมื่อไหร่นั้น ขอคำตอบสั้นๆ ว่า ให้ในเวลาที่เขาต้องการดีที่สุด เหมือนคนที่กำลังหิวหากได้ดื่มกินย่อมจะได้รับประโยชน์เต็มที่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
31/03/53