เสียงดนตรีบรรเลงในขบวนแห่กฐินตื่นเต้นเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่แปลกใจที่พอเสียงดนตรีเริ่มบรรเลง ผู้คนที่มาร่วมงานก็เริ่มขยับขาและออกเต้นไปตามเสียงดนตรี บางคนรออกลีลาท่าทางที่แปลกตา บางคนตามปรกติเป็นคนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ต่อพอดนตรีเริ่มขึ้นเท่านั้นก็ออกท่าทางไปตามเสียงเพลง ตอนนั้นคิดถึงบทประพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ตอนนั้นยอมเป็นคนชอบกล เพราะออกลีลาท่าทางเหมือนชาวบ้านไม่ได้ เสียงดนตรีกระหึ่มในหัวใจ แต่ไม่อาจสั่งให้ร่างกายออกลีลาท่าทางได้ จึงไม่ได้เต้นไปตามเพลง
ยืนหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆพระอุโบสถมองดูขบวนแห่กฐินที่กำลังเคลื่อนตัวมาจากบ้านเจ้าภาพ และกำลังจะเข้าประตูวัด ในมือยังมีกล้องถ่ายภาพจึงถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ตอนนั้นพลันมีเสียงทักจากด้านหลังว่า “หลวงพี่ครับดื่มเหล้าในงานกฐินบาปไหมครับ” เมื่อหันกลับมาเห็นชายชราคนหนึ่งจำได้ว่าเป็นญาติของเจ้าภาพกฐิน จึงบอกว่า “ไม่ได้ยินเขาโฆษณาทางโทรทัศน์หรือ ดื่มเหล้าในงานกฐินเป็นกฐินบาป”
“ก็นั่นแหละที่ผมสงสัย คนทำบุญกับคนดื่มเหล้าน่าจะแยกกัน คนทำบุญก็อีกส่วนหนึ่ง คนดื่มเหล้าก็อีกส่วนหนึ่ง ไม่น่าจะเหมารวมกัน กฐินต้องเป็นงานบุญสิครับ จะเป็นกฐินบาปได้อย่างไร” ชายชราเสนอความเห็น
ตอนนั้นคิดว่าได้พบกับปราชญ์ชาวบ้านเข้าให้แล้ว จึงเริ่มต้นหาความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน คิดได้ดังนั้นจึงหันกลับไปถามว่า “แล้วโยมคิดว่าอย่างไร”
ชายชราบอกว่ามีคำโบราณสอนไว้ว่า “เข้าใจคน จะได้บริวาร เข้าใจงานจะได้ผลสัมฤทธิ์ เข้าใจชีวิตจะได้ความสุข เข้าใจทุกข์แสดงว่าเริ่มเข้าใจธรรม”
เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้คงยาว หากเป็นภาษาพระไตรปิฎกก็ต้องบอกว่า “ฑีฆนิกาย” คือเรื่องขนาดยาวต้องอธิบายขยายความอีกมาก จึงหาที่นั่งสนทนาที่สะดวกกว่าการยืนคุยกัน จึงถามต่อไปว่า “หมายความว่าอย่างไร หากไม่เป็นการรบกวนช่วยอธิบายขยายความให้กระจ่างอีกหน่อย”
ชายชราจึงบอกว่า “เข้าใจคน จะได้บริวาร” มีความหมายง่ายๆครับอย่างเช่นงานกฐินนี่แหละ หากไม่มีมหรสพสมโภช ไม่มีเหล้ายาปลาปิ้ง จะไม่ค่อยมีใครมาร่วมงาน เมื่อคิดจะทำการใหญ่ต้องหาพวกพร้องบริวารไว้ ใครชอบอะไรก็ปล่อยให้เขาดื่มกินตามสะดวก หากงานไหนเจ้าภาพไม่มีสุราอาหารไว้คอยเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน งานนั้นจะกร่อยเพราะไม่ค่อยมีใครมาร่วมงานเลย คนโบราณ กินข้าว กินปลา มีสุราเป็นยาเจริญอาหาร ครับ ไม่ได้กินเหล้าเพื่อให้เมา แต่พอให้ตึงๆจะได้พูดคุยสนทนากันออกรสชาติ เมื่อปุถุชนยังสูบยากินเหล้า เจ้าภาพอยากให้คนมาร่วมงานจึงต้องสุราอาหารมาต้อนรับ อย่างนี้เรียกว่าเข้าใจคนตามความหมายของผมนะครับ”
แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดแต่ก็พอฟังได้ ในสถานการณ์อย่างนี้การฟังเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญหากเริ่มคัดค้านก็อาจจะไม่ได้ฟังคำอธิบายในข้อต่อๆไป คนที่ดื่มเหล้ามักจะมีข้ออ้างเสมอ แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้มีข้อยกเว้น จะดื่มสุราด้วยเหตุผลก็ตามก็ยังผิดศีลข้อที่ว่าด้วย “สุราเมรยมชฺชปมาทฏฐานา” การดื่มสุราเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำให้ขาดสติ
ขบวนกฐินเริ่มเข้าวัดแล้วและแห่รอบพระอุโบสถ ดนตรียังบรรเลงอย่างเร้าใจ หันมามองชายชราเหมือนกำลังอยู่ในทางสองแพร่งคือยังอยากอธิบายขยายความบทต่อไป ส่วนผู้เขียนก็ต้องเตรียมตัวเข้าพระอุโบสถเพื่อร่วมงานกฐิน จึงบอกว่า “ข้ออื่นๆเอาไว้วันหลังจะมาขอความรู้ใหม่ วันนี้เวลาและวารีมิได้มีจะคอยใคร”
ชายชราคนนั้นต่อกลอนบทนั้นให้เสร็จสรรพว่า “เรือเมล์และรถไฟ ย่อมจะไปตามเวลา โอ้เอ้และอืดอาด ก็จะพลาดปรารถนา ชวดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าไป” ก่อนจะบอกว่า “นิมนต์เถอะขอรับ ผมคิดว่ายังจะมีชีวิตอยู่ได้อีกหลายวัน”
คำว่า “เข้าใจคน จะได้บริวาร” ตามทัศนะของชายชราในงานกฐิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำอธิบายตามเหตุการณ์ แต่ถ้าเปลี่ยนคนอธิบาย ก็อาจจะได้ความหมายใหม่ไปอีกทางก็ได้ งานกฐินของชาวบ้านที่นี่มีคนมาร่วมงานจำนวนมากอาจจะเรียกได้ว่ามากันทั้งหมู่บ้าน เจ้าภาพได้พวกเพร้องมิตรสหาย บริวารเป็นจำนวนมาก เพราะเข้าใจความต้องการของคน เพราะเข้าใจคนจึงได้บริวาร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/11/55