วันนั้นมืดค่ำมากแล้วแต่ยังมีความสว่างจากแสงเดือนส่องลอดป่าไม้พอมองเห็นทางได้ลางๆ การเดินทางจากรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดยโสธรแม้เส้นทางจะไม่ไกลนักแต่เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยจึงบอกคนขับรถว่า “ไปช้าๆก็ได้ ค่อยๆไปไม่ต้องรีบร้อนนัก ไปถึงช้าดีกว่าไปไม่ถึง” แม้จะยังนึกภาพที่พักข้างหน้าไม่ออก แต่ก็ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรก็ต้องหาที่พักจนได้ คนขับพารถไปตามเส้นทางในดอนปู่ตาที่เต็มไปด้วยป่าไม้ คืนนั้นจึงได้หลับสนิทภายใต้ศาลาหลังเล็กๆที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางร่มเงาของป่าที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ดอนปู่ตา” อากาศเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆเลย
ปัจจุบันดูเหมือนมนุษย์จะห่างไกลธรรมชาติ แทบจะหลงลืมความหนาวร้อนไปแล้ว เพราะร้อนก็มีเครื่องปรับอากาศ บางคนทำงานในห้องแอร์ทั้งวัน มนุษย์ได้พัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการจนเหมือนกับว่ามนุษย์กำลังจะเอาชนะธรรมชาติได้แล้ว สมัยหนึ่งเรียกโลกว่า “โลกาภิวัตน์” แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Globalization”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้นิยาม "โลกาภิวัตน์" ไว้ว่า “เป็นคำนาม แปลว่าการแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น”
อัลวิน ทอฟเลอร์ ได้แบ่งยุคสมัยของโลกในหนังสือคลื่นที่สาม (Third Wave) ไว้สามช่วงคือ ยุคแรกคือยุคเกษตรกรรมหรือคลื่นที่หนึ่ง ปัจจัยที่สำคัญของยุคนี้คือที่ดิน ใครที่มีที่ดินมากคนนั้นจะได้เปรียบเพราะผลิตได้มากว่าคนอื่น อาชีพหลักของคนในยุคนี้คือการทำการเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ และเป็นอาชีพหลักของคนในยุคสมัยนั้น คนไทยแต่โบราณกาลก็ประกอบอาชีพเป็นชาวนานมาตั้งแต่บรรพชน ปัจจุบันก็ยังชาวนาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์จนเป็นอาชีพหลักของคนไทย หมดหน้าทำนาก็มีประเพณีบุญกฐิน ทอดผ้าป่า และบุญบั้งไฟ
ยุคที่สองหรือคลื่นลูกที่สอง เป็นยุคของอุตสาหกรรม เริ่มต้นประมาณปี ค.ศ. 1650 (พ.ศ.2191) ประเทศไทยอยู่ในอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่มนุษย์รู้จักใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการผลิต จึงสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก อุปกรณ์สำคัญในยุคนี้จึงอยู่ที่เครื่องจักรซึ่งนำมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ ผลิตมากขายได้มากก็ได้เงินมาก ในขณะที่ประเทศไทยยังคงทำนาเป็นอาชีพหลักเหมือนเดิม เครื่องมือในการทำงานยังคงเป็นควาย แอกและไถ ยังมีประเพณีบูชาผีบรรพบุรุษ ยังมีดอนปู่ตา
ยุคที่สามหรือคลื่นลูกที่สาม เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เริ่มต้นประมาณปี 1955(พ.ศ. 2498) ยุคนี้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมมาเป็นข้อมูลข่าวสาร มีคอมพิวเตอร์ เครือข่ายโทรคมนาคม โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก จนมีคำเรียกขานใหม่ๆเกิดขึ้นเช่นโลกาภิวัตน์ สมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ เป็นต้น ใครมีข้อมูลข่าวสารมากกว่าย่อมจะได้เปรียบ คนรวยมากขึ้น แต่คนไทยยังคงทำนา โดยใช้ควายไถนาอยู่เหมือนเดิม ปัจจุบันชาวนาไทยก้าวหน้าไปมากแล้วใช้เครื่องจักรแทนควาย มีรถไถนา รถดำนา รถเกี่ยวข้าวใช้แทนแรงงานคน ยังคงประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังมีรักษาประเพณีการเซ่นไหว้ผีที่ดอนปู่ตา
อัลวิน ทอฟเลอร์ เขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมาอีกเล่มคือ “Revolutionary Wealth” มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “ทุกวันนี้เราถูกโจมตีด้วยอีเมล์และบล็อก อีเบย์ ทำให้เราทุกคนกลายเป็นนักการตลาด ข่าวอื้อฉาวของบริษัทยักษ์ใหญ่โผล่กลางพาดหัวข่าว ยารักษาโรคหลายตัวถูกประกาศเมื่อสายเกินไปว่าเป็นอันตรายและถูกดึงออกจากตลาด หุ่นยนต์ไปเยี่ยมดาวอังคารและลงจอดอย่างตรงจุดไม่มีที่ติ แต่คอมพิวเตอร์ ชอฟต์แวร์ โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายเทคโนโลยีล้มเหลวเป็นประจำ โลกร้อนขึ้น เชลล์เชื้อเพลิงเย้ายวน รหัสพันธุกรรมและสเต็มเชลล์ก่อให้เกิดความขัดแย้งอันขมขื่น เทคโนโลยีนาโนกลายเป็นความฝันอันสูงสุดทางเทคโนโลยี” (อัลวิน ทอฟเลอร์,สฤณี อาชวนันทกุล แปล, ความมั่งคั่งปฏิวัติ(พิมพ์ครั้งที่ 2),กรุงเทพฯ:มติชน,2552,หน้า 28)
นั่นเป็นสิ่งที่อัลวิน ทอฟเลอร์เขียนไว้ตังแต่ปี พ.ศ. 2551 หลายปีมาแล้วเหตุการณ์ต่างๆเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก แต่ทว่าชาวนาไทยยังคงทำนาปลูกข้าวส่งเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับประเทศที่ส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลก ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าคนไทยใช้เฟสบุ๊คมากติดอันดับโลกเหมือนกัน เหมือนกับว่าโลกทั้งสามยุคอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสาร
ออกจากสำนักสงฆ์ที่แทรกตัวอยู่กลางป่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ถามหลวงตาว่าทำไมป่าไม้ยังคงรักษาสภาพความเป็นป่าไว้ได้ หลวงตาตอบว่า “เพราะเป็นดอนปู่ตาที่ชาวบ้านยังให้ความเคารพนับถือ ไม่มีใครกล้าทำลายป่าของผีปู่ตาที่รักษาป่า เพราะหากใครทำลายป่ามักจะมีอันเป็นไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ผีปู่ตารักษาป่าไว้ ชาวบ้านยังเกรงกลัวผี ในแต่ละปียังมีพิธีบูชาผีปู่ตา หากปีไหนไม่ทำพิธีชาวบ้านมักจะมีอันเป็นไป ป่าจึงอยู่ได้เพราะอำนาจของผีปู่ตา”
ตอนนั้นไม่อยากขัดแย้งจึงได้แต่นิ่งเงียบฟังอย่่างเดียว บางทีการเงียบอาจจะไม่ใช่การเห็นด้วยก็ได้ เพราะความเชื่อบางอย่างชาวบ้านมีความเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ส่วนจะจริงหรือเท็จอันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่ทว่าความเชื่อของชาวบ้านทำให้ป่าไม้ยังคงหลงเหลืออยู่ ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ยังมีลิงและสัตว์ป่าอื่นๆอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นลิงของผีปู่ตา จึงไม่มีใครกล้าทำร้ายลิง ป่าและลิงจึงยังคงอยู่ที่ดอนปู่ตาอย่างสันติมานานหลายร้อยปีแล้ว
ตอนเย็นเดินกลับมายังดอนปู่ตาอีกครั้ง แสงแดดกำลังส่องกระทบกับลำน้ำ ลมพัดมาแผ่วพริ้วเกิดเป็นระรอกคลื่นกระทบกับแสงอาทิตย์ยามเย็นเป็นบรรยายที่สงบเยือกเย็น ชาวบ้านต้อนฝูงควายลงเล่นน้ำ ควายนอนแช่น้ำเคี้ยวเอื้องอย่างสบายอารมณ์ แม้ว่าชาวนาจะไม่ได้ใช้ควายในการทำนาแล้ว แต่ทว่ายังเลี้ยงไว้เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง ชาวนากับควายมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว ลำธารยังมีน้ำใส ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ ข้าวในนากำลังออกรวง ชาวนาก็ยิ้มได้
โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเป็นเรื่องของโลก อัลวิน ทอฟเลอร์อาจจะทำนายอนาคตของโลกไว้ใกล้เคียง แต่เขาทำนายบนพื้นฐานของโลกตะวันตก ส่วนโลกทางซีกตะวันออก โดยเฉพาะที่ยโสธรยังคงมีอาชีพหลักคือการทำการเกษตรกรรม ยังประกอบพิธีเซ่นสังเวยผีดอนปู่ตา ในขณะที่คุณลุงคุณป้ามีโทรศัพท์มือถือไปทำนา รอฟังข่าวจากลูกชายลูกสาวที่ทิ้งท้องนาไปทำงานในเมืองหลวง กลับบ้านเปิดโทรทัศน์ดูละครภาคค่ำได้ข่าว่าละครเรื่อง “แรงเงา” กำลังมาแรง ดูเหมือนชาวบ้านที่ยโสธรจะเป็นคนสามยุคในเวลาเดียวกัน ยังมีความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษรักษาประเพณีบูชาผีดอนปู่ตาในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/11/55