ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้สร้างบารมีมาหลายชาตินานถึงสี่อสงขัยแสนกัปป์ จนกระทั่งชาติสุดท้ายก่อนที่จะประสูติในศากยราชสกุลในนามเจ้าชายสิทธัตถะและได้ออกบวชเมื่อมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา ปฏิบัติตน ศึกษาค้นคว้าหาทางพ้นทุกข์ จนกระทั่งทรงชนะมารบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญเดือนวิสาขบูชา เมื่อสองพันหกร้อยปีที่ผ่านมา ชาวพุทธทั่วโลกจัดงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “พุทธชยันตี” พุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งมักนิยมจัดงานเทศน์มหาชาติเป็นการนำเอาประวัติการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าชาติสุดท้ายเมื่อครั้งกำเนิดเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร มาแสดงให้ปรากฏ จะได้เป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญบารมีซึ่งไม่ได้ทำครั้งเดียวแต่กระทำติดต่อกันมาหลายชาติ ผู้ที่กำลังบำเพ็ญบารมีจะได้มีตัวอย่างที่ดีและมีวิธีปฏิบัติ
คำว่า “มหาชาติ” หากแปลตามตัวอักษรก็แยกได้เป็นสองคำคือ “มหา” และ “ชาติ” คำว่า “มหา”เป็นคำคุณนาม แปลว่าใหญ่ คำว่า “ชาติ” เป็นคำนามเพศหญิง แปลว่า การเกิด ชาติ สกุล ชนิด จำพวก ชาติมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีคำแปลอีกอย่างหนึ่งว่า มะลิซ้อน ได้อีกด้วย เมื่อนำมาสมาสเข้าด้วยกันจึงเป็น “มหาชาติ” แปลความได้ว่า “การเกิดที่ยิ่งใหญ่ ชาติที่ยิ่งใหญ่”
โดยทั่วไปมหาชาติหมายถึงการบำเพ็ญบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เกิดมาหลายชาติแต่ละชาติได้บำเพ็ญพุทธการกธรรมหรือบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการ คือ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี
คำว่าบารมี หมายถึงปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น บารมีทั้งสิบประการนั้นมีคำอธิบายโดยสรุปว่า
1.ทาน คือการให้ การเสียสละ การให้ เป็นการตัดความโลภ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปรกติ”
2.ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย มีศีลก็เป็นการตัดความโกรธ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระภูริทัตต์ โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จิตของเราพร้อมในการทรงศีล”
3.เนกขัมมะ คือการออกบวช ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม เป็นการตัดอารมณ์ของกามคุณ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะแปลว่าการถือบวช”
4.ปัญญา คือความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาตัดความโง่ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถ โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จะเป็นผู้มีจิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป”
5. วิริยะ คือความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ วิริยะตัดความขี้เกียจ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จะมีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ”
6.ขันติ คือความอดทน ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส ขันติตัดความไม่รู้จักอดทน บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จะมีทั้งอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์”
7.สัจจะ คือความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ สัจจะตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระวิธุระ โดยตั้งปณิธานไว้ว่าสัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลา ว่า “เราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี”
8.อธิษฐาน คือความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่นแน่ อธิษฐานคือทรงกำลังไว้ให้สมบูรณ์ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จะตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะเพื่อทำความดี”
9. เมตตา คือความรักใคร่ ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ เมตตาสร้างความเยือกเย็นของใจ บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสาม โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “จะสร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น”
10. อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง อุเบกขาวางเฉยเข้าไว้ในเรื่องของกายเรา บำเพ็ญบารมีเมื่อครั้งเป็นเสวยพระชาติเป็นพระนารทะ โดยตั้งปณิธานไว้ว่า “วางเฉยเข้าไว้ เมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว หรือจะใช้คำว่า "ปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น"
บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ต้องครบ 3 ขั้น คือ
1.บารมี หมายถึงระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย
2.อุปบารมี หมายถึงระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน
3.ปรมัตถบารมี หมายถึงระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
บำเพ็ญทั้ง 10 บารมี ครบ 3 ขั้นนี้ เรียกว่า สมตึสปารมี หรือ สมดึงสบารมี แปลว่า บารมี 30 ทัศน์
เมื่อหลายปีก่อนมีอุบาสิกาท่านหนึ่งอายุเลยหลักเจ็ดสิบปีแล้วแจ้งความจำนงว่าจะสร้างทานบารมีโดยการเป็นเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์มหาชาติทุกปี แต่จะไม่เป็นเจ้าภาพกัณฑ์เดิมจะขยับไปเรื่อยๆจนกว่าจะสิ้นชีวิต หากจบทุกกัณฑ์แล้วยังมีชีวิตก็จะเริ่มต้นจากกัณฑ์ที่หนึ่งใหม่ จะเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์และมาฟังเทศน์มหาชาติจนกว่าจะตาย หากยังมีแรงก็จะพยายามมาร่วมงาน ขอให้ท่านช่วยจองกัณฑ์เทศน์ให้ทุกปีด้วย ปีนั้นจึงเริ่มต้นที่คาถาพัน ปีต่อมาก็เป็นกัณฑ์ทศพร ตามมาด้วยปีต่อมากัณฑ์หิมพานต์ ปีนี้อุบาสิกาท่านนั้นมาถามว่า “โยมเป็นเจ้าภาพจองกัณฑ์เทศน์มหาชาติถึงกัณฑ์ไหนแล้ว”
จึงบอกว่า "ปีที่แล้วโยมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์วนปเวสน์ ปีนี้ก็ต้องเป็นกัณฑ์ชูชก"
อุบาสิกาท่านนั้นถามว่าเหลืออีกกี่กัณฑ์ถึงจะถึงกัณฑ์สุดท้าย จึงบอกว่าหากนับจากกัณฑ์ชูชก ก็จะเป็นกัณฑ์จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์
ได้เห็นรอยยิ้มและได้ยินโยมอุบาสิกาท่านนั้นรำพึงเบาๆก่อนจากกันว่า “เหลือเวลาอีกแปดปี คงมีเวลาอยู่เป็นเจ้าภาพถึงกัณฑ์สุดท้าย” อุบาสิกาเริ่มทรงร่างไม่ตรงแล้ว เวลาเดินจะหลังค่อมไปข้างหน้า อุบาสิกาท่านนั้นพึ่งเดินลับหายไปในซอยข้างวัด
อาตมาก็ทอดถอนใจเหมือนกันแต่คิดไปอีกทางว่า ไม่รู้ว่าอีกแปดปีข้างหน้าอาตมาจะอยู่เป็นผู้รับจองเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของโยมได้หรือไม่ ชีวิตถูกความชราและพญามัจจุราชต้อนไปสู่ความตายทุกวัน ดังที่มีพุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/20/28) ความว่า “นายโคบาลย่อมต้อนโคทั้งหลายไปสู่ที่หากินด้วยท่อนไม้ฉันใด ความแก่และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉันนั้น”
ไม่รีบทำบุญสร้างบารมีไว้ในขณะที่ยังมีโอกาส หากมีอันต้องตายเสียก่อนก็เป็นอันหมดหวัง ชีวิตนี้สั้นนัก แต่ก็สำคัญนัก เพราะเมื่อยังมีลมหายใจย่อมจะมีโอกาสในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ บุญหรือบาปแต่ละคนมีสิทธิ์ในการเลือกทำหรือไม่ทำได้ด้วยตนเอง อาตมาเองก็กำลังบำเพ็ญ “เนกขัมมะบารมี” การถือบวชในเพศพรหมจรรย์ เวลาก็ผ่านมานานพอสมควรแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/09/55
หมายเหตุ: วัดมัชฌันติการาม วงศ์สว่าง 11(เชิงสะพานพระราม 7) บางซื่อ
จัดงานเทศน์มหาชาติประจำปี 2555
ในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2555 ในช่วงเวลา 06.00-18.00 น.
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 08-9852-4209