ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         ไม่ได้ไปที่ศาลาท่าน้ำมาหลายวันแล้ว เนื่องจากฝนมักจะตกตอนเย็น อีกอย่างกำลังมีการก่อสร้าง มีเครื่องจักรกลกำลังทำงานและน้ำในคลองเน่าเหม็นมาก ไม่อยากไปสูดดมเอากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จจึงเตร่ไปที่ร้านค้าข้างวัดอยากดื่มน้ำอัดลมเย็นๆสักขวด ขณะนั้นมีเพื่อนพระภิกษุที่มีความคิดอย่างเดียวกันได้นั่งอยู่ก่อนแล้ว นักเลงหมากรุกทั้งหลายก็ไม่รู้พากันหายไปไหนกันหมด  ร้านก็ว่างเงียบเหงามีเพียงเจ้าของร้านคนเดียวที่นั่งตบยุง ไม่มีลูกค้าคนอื่นเลย นอกจากพระภิกษุสองรูปที่เกิดอยากฉัน(ดื่ม)น้ำอัดลมในเวลาเย็น


         หลวงพี่รูปนั้นชวนสนทนาสักพักก็หันมาถามว่า “มีคนถามผมว่า เหมือนกับมีวิญญาณของคนที่เสียชีวิตไปแล้วคอยติดตามไปในที่ทุกแห่ง จนสัมผัสได้แต่พอหันกลับมาก็ไม่เห็นมีใคร ถามคนอื่นๆก็บอกว่าบางครั้งก็เห็นเหมือนมีชายคนหนึ่งเดินตามแต่พอเข้าใกล้กลับไม่มีอะไร ปัญหาคือว่าวิญญาณนั้นมาจากไหน ตอนที่เป็นมนุษย์ทำไมไม่เคยรู้จักกัน ทำไมมาตามตอนเสียชีวิตแล้ว” หลวงพี่ถอนหายใจเหมือนกำลังนึกว่าได้เล่าอะไรขาดหายไปบ้างจากนั้นจึงหันมาถามว่า “ผมให้คำตอบไม่ได้ จึงขออนุญาตถามหลวงตา ฯ กรุณาหาคำตอบเพื่อความกระจ่างให้ผมด้วย”

 

         เรื่องแบบนี้ไม่คิดว่าจะมีปรากฏในโลกแห่งความเจริญก้าวหน้าในยุคนี้ จึงยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้เหมือนกัน ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงเดือนสิบที่คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าเดือนปล่อยผีให้เร่ร่อนออกหารับส่วนบุญ เป็นช่วงบุญเดือนสิบ  บุญข้าวสาก หรือต๋านก๋วยสลาก วันสารทเป็นต้น แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำบุญอุทิศให้แก่วิญญาณทั้งหลายที่กำลังเร่ร่อนไปทั่วทุกสารทิศ ผีมาขอส่วนบุญ
         ตอนนั้นคิดไปถึงเรื่องของภิกษุรูปหนึ่งที่พออุปสมบทจะปรากฏเหมือนมีหญิงสาวคนหนึ่งเดินตามหลังตลอด คนทั่วไปมองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะไปไหน เดินบิณฑบาตหรืออยู่ที่กุฏิก็จะมีเงาร่างของหญิงคนหนึ่งคอยติดตามอยู่ข้างหลัง  แต่ตัวพระสงฆ์รูปนั้นกลับมองไม่เห็นอะไร นามของท่านคือพระโกณฑธาน
         มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทสรุปความว่า “สาเหตุที่มีรูปผู้หญิงคอยติดตามพระโกณฑธานเป็นเพราะกรรมเก่าในอดีตชาติของพระโกณฑธาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดเป็นเทวดา ต้องการจะล้อเล่นกับพระภิกษุสองรูปที่มีความรักความเคารพกันรักใคร่เหมือนเป็นญาติพี่น้องที่เกิดร่วมอุทรเดียวกัน วันหนึ่งพระภิกษุสองรูปเดินทางไกลไปด้วยกัน เทวดาแกล้งแสดงตนข้างหลังพระรูปหนึ่งที่กำลังทำสรีรกิจหลังพุ่มไม้  พอภิกษุอีกรูปหนึ่งเห็นอย่างนั้นก็เข้าใจผิดคิดว่าพระรูปนั้นทำผิดวินัยสงฆ์กับสตรีเพศเป็นอาบัติร้ายแรง 


         พระภิกษุทั้งสองรูปจึงเข้าใจผิดจนเลิกคบหากันเพราะการกระทำของเทวดาตนนั้น ภายหลังเทวดาตนนั้นสำนึกผิดจึงบอกความจริง และพระสงฆ์ทั้งสองก็กลับมาคบหากันอีก แต่ไม่สนิทเหมือนเดิม แก้วที่ร้าวพร้อมที่จะแตกจะประสานให้ดีดังเดิมได้ยากยิ่งฉันใด ภิกษุทั้งสองก็ยังคอยระแวงและสงสัยกันอยู่นั่นแล ภายหลังภิกษุทั้งสองรูปเมื่อมรณะก็ไปอุบัติในพรหมโลก แต่เทวดาตกนรก พอพ้นจากนรกจึงมาถือกำเนิดในโลกมนุษย์และภายหลังได้อุปสมบทมีชื่อเรียกว่า “พระโกณฑธาน” เวลาจะไปไหนมาไหนก็จะมีคนเห็นมีหญิงคอยติดตามข้างหลัง
         วันหนึ่งพระโกณฑธานถูกภิกษุอื่นกล่าวคำเยาะเย้ยถากถางว่าเป็นคนชั่ว ท่านจึงโต้ตอบกล่าวหาภิกษุที่กล่าวร้ายท่าน  เรื่องเลยไปถึงพระกรรณของพระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกพระโกณฑธานไปพบและพระศาสดาตรัสกับพระโกณฑธานว่า “ตัวท่านไม่อาจใช้กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนให้หมดไปจนถึงทุกวันนี้ ต่อไปนี้ท่านอย่ากล่าวคำหยาบ  เห็นปานนั้น และได้แสดงคำอันเป็นคาถาในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/20/28) ความว่า “ท่านอย่ากล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วก็จะโต้ตอบท่าน ด้วยว่าถ้อยคำที่แข็งดีกันนำทุกข์มาให้ ผู้ทำตอบก็พึงประสบทุกข์นั้น ท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหว  ดุจกังสดาลถูกเลาะขอบอกแล้ว ท่านนั้นก็จะ เป็นผู้ถึงพระนิพพาน ความแข่งดีก็จะไม่มีแก่ท่าน”

 


         จากนั้นจึงได้แสดงบุพกรรมในอดีตชาติให้พระโกณฑธานฟัง พระกับผีหนีกันไม่พ้น แม้ว่าจะเป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนา แต่ทว่าความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยโบราณคือการนับถือผี ซึ่งผีมีหลายประเภทเช่นผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีเขา แม้แต่ที่ภาคพื้นดินก็ยังมีผีเจ้าที่ หากเรียกด้วยภาษาที่เสนาะหน่อยก็จะเรียกว่า “พระภูมิเจ้าที่” ซึ่งพระพุทธศาสนาเชื่อว่าเป็นเทวดาประเภทหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน คำว่า “ภูมิ” แปลว่าแผ่นดิน พื้น ชั้น หากสูงขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้หรือเทวดาประจำต้นไม้เรียกว่า “รุกขเทวดา” คำว่า “รุกข” แปลว่าต้นไม้  ยังมีเทวดาประเภท “อากาสเทวดา” หมายถึงเทวดาที่อยู่ตามอากาศ ภาพวาดของจิตรกรทั้งหลายจึงปรากฎว่ามีเทวดาล่องลอยอยู่บนก้อนเมฆอันเป็นเหมือนวิมานในอากาศนั่นเอง 
         การไหว้ผีไหว้เจ้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนไทย  บรรพบุรุษจึงมีคติความเชื่อเกี่ยวกับผีให้เห็นในแทบทุกภูมิภาค ไหว้ทั้งพระ บูชาทั้งผีเพื่อความสวัสดีจึงไม่ใช่ความเชื่อที่เสียหายแต่ประการใด ยิ่งสมัยปัจจุบันได้ยกป่าช้ามาไว้ที่วัด ทำพิธีสวด เผาที่วัด ผีกับพระจึงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี  ผีจึงไม่ค่อยหลอกพระ พระกับผีมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พระสงฆ์อุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาจิตส่งไปให้วิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย วิญญาณเหล่านั้นก็คอยดูแลเกื้อหนุนอุปถัมภ์พระสงฆ์เป็นเครื่องตอบแทน ต่างฝ่ายต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ผีกับพระจึงมักจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ


         เงาร่างของวิญญาณที่คอยติดตามหญิงคนนั้นยังหาคำตอบไม่ได้ แต่วันนี้ได้นำบุพกรรมของพระอรหันต์องค์หนึ่งนามว่าพระโกณฑธานที่มีเงาร่างของหญิงคอยติดตาม ภายหลังเมื่อท่านบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้วเงาร่างของหญิงนั้นก็หายไป สิ่งที่แนะนำได้ในตอนนี้คือต้องพยายามทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ บางทีเขาอาจจะกำลังขอส่วนบุญอยู่ก็ได้ เป็นประเภทวิญญาณที่เร่ร่อนหาที่พักพิง วันนี้ยังไม่มีคำตอบเรื่องบางเรื่องด่วนสรุปไม่ได้ ต้องสืบค้นหาปริบทที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อน เรื่องกรรมและกฎแห่งกรรมบางทีก็อธิบายยากกว่าที่คิด ตอนเดินกลับกุฏิยังหันกลับไปมองว่ามีใครตามมาหรือไม่ คงเป็นเพราะอุปาทานจึงรู้สึกเหมือนมีวิญญาณเร่ร่อนคอยติดตามขอส่วนบุญ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/09/55

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก