ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        คนที่คบหาเป็นเพื่อนกันนั้นแม้จะเคยอยู่ร่วมกันเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หากมีความเข้าใจและยอมรับความเป็นตัวตนของกันและกัน ซึ่งแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน ก็สามารถคบหาและนับว่าเป็นสหายหรือเป็นเพื่อนกันได้อย่างยาวนาน คนบางคนแม้จะพบหน้ากันทุกวันแต่หากไม่ยอมรับ ไม่เคารพรัก ไม่นับถือซึ่งกันและกันแล้วจะเป็นได้ก็พียงเพื่อนร่วมงานกันเท่านั้น ไม่อาจจะนับเป็นสหายหรือเพื่อนสนิทได้ ชีวิตในเพศสมณะภิกษุที่มีฉายาว่า “ปุญญมโน” มีเพื่อนหลายคน แต่มีสหายสนิทเพียงไม่กี่คน
 

        เข้าพรรษามาหลายวันแล้วปีนี้ปุญญมโนภิกขุอธิษฐานเข้าพรรษาในอารามแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร อันเป็นนครหลวงของประเทศไทย เนื่องเพราะมีหน้าที่ในด้านการศึกษา จัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร สอนนักธรรมสำหรับพระบวชใหม่และสอนบาลีสำหรับนักเรียนที่เป็นพระภิกษุสามเณร ส่วนงานอีกอย่างคือสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีซึ่งมีทั้งนักศึกษาที่เป็นพระภิกษุสามเณรและนักศึกษาที่เป็นฆราวาส เวลาที่หมดไปในแต่ละวันจึงอยู่ที่ห้องเรียน ชีวิตดำเนินไปดั่งนี้
        เวลาที่เป็นส่วนตัวจริงๆจึงอยู่ในช่วงกลางคืน ว่างจากงานก็พลันหวนระลึกนึกถึงเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีสมบัติอะไรมาก อยากเดินทางไปไหนก็ไปได้ เป็นชีวิตของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ชอบพักอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร หรือแม้แต่ในถ้ำอันเงียบสงัด เป็นชีวิตที่สันโดษ โดดเดี่ยวท่องไปในโลกกว้างตามสมควรแก่เพศสมณะนามของท่านคือ “ปุญญราโมภิกขุ” ที่เคยเล่าเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับ “สมบัติเจ้าพระฝาง” ที่สำนักสงฆ์น้ำบ่อนก สะเมิง เชียงใหม่ และเรื่อง “ผีแม่หม้าย” ที่ภูเก้า หนองบัวลำภูให้ฟังนานมาแล้ว

 

        ก่อนเข้าพรรษาพยายามสืบข่าวถึงเพื่อนเก่ารูปหนึ่งนามว่า “ปุญญราโมภิกขุ” ว่ายังอยู่ในเพศสมณะหรือไม่ หรือว่าลาสิกขาไปแล้ว ก็ไม่ได้ทรายข่าวว่าปัจจุบันท่านไปจำพรรษาที่ไหน อันที่จริงประเทศไทยก็ไม่ได้ใหญ่โตนัก การตามหาพระสงฆ์รูปเดียวไม่น่าจะยาก แต่ในความเป็นจริงกลับหาไม่พบ เพียงแต่ได้ข่าวจากเพื่อนภิกษุบางรูป บ้างก็ว่า ปุญญราโมจำพรรษาที่อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ แต่พอเดินทางไปก็ได้ทราบเพียงแต่ว่า ท่านพึ่งเดินทางไปจังหวัดเชียงราย สอบถามครูบาอาจารย์ที่เชียงรายท่านก็บอกว่าเคยมีพระภิกษุรูปหนึ่งมีลักษณะตามที่ท่านว่าเคยมาพักสองสามวัน จากนั้นก็บอกว่าถ้าไม่ไปพม่าก็จะไปที่ประเทศลาว เป็นอันหมดหนทางในการตามหา พระรูปนี้ไม่มีโทรศัพท์ มีเพียงบริขารจำเป็นสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น ท่านปุญญราโมมักจะมีประสบการณ์ทางจิตมาเล่าให้ฟังเสมอ เวลาที่ตามหามักจะหาไม่พบ แต่เวลาที่กำลังจะลืมท่านมักจะโผล่มาเยือนเสมอ
        ในยุคที่ความเจริญทางเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ถึงขั้นที่ส่งหุ่นยนต์ลงสำรวจดาวอังคารได้แล้ว อยากรู้เรื่องอะไรก็ทำได้ง่าย แต่การที่อยากพบใครสักคนไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก หากเขาคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ ไม่อย่างนั้นก็น่าจะเสียชีวิตโดยไม่มีใครได้ข่าว ยิ่งผู้ที่ชอบบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขา พักอยู่ตามถ้ำต่างๆอาจจะกลายเป็นร่างไร้วิญญาณไม่มีใครพบเห็นเลยก็ได้ แต่ในความคิดยังมั่นใจว่าปุญญราโมยังมีชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในโลกใบนี้
        มีพรรษหนึ่งที่ปุญญมโนเคยอยู่จำพรรษาร่วมกับปุญญราโมภิกขุ ณ อารามกลางป่า เชิงดอยสุเทพ สาเหตุมาจากปีนั้นปุญญมโนเดินทางไปอินเดียตั้งใจจะไปศึกษาวิชาปรัชญา ที่ประเทศอินเดีย แต่มีเหตุที่จะต้องเดินทางประเทศไทย กลับมาไม่ทันเข้าพรรษาแรกที่เรียกว่า “ปุริมิกา” จึงต้องจำพรรษาหลังที่เรียกว่า “ปัจฉิมิกา” ครั้นจะอยู่ในอาวาสที่พระสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษาไปแล้วดูกระไรอยู่ หลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงบอกว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งที่เขาถวายหลวงพ่อแต่พรรษานี้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษารูปเดียว นิมนต์ท่านมหาไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์กลางป่าแห่งนั้น จากนั้นก็หาคนไปส่ง ที่นั่นจึงได้พบกับท่านปุญญราโมที่อยู่จำพรรษา ณ อารามกลางป่ามาก่อนแล้ว พรรษาเท่ากันอุปสมบทปีเดียวกัน รูปหนึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ศึกษาปริยัติเป็นนักศึกษาอยู่ในฝ่ายคันถธุระ อีกรูปหนึ่งเป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ใฝ่ใจในการบำเพ็ญเพียรทางจิต แม้จะเป็นพระสงฆ์ที่ถนัดคนละทางแต่ก็คบหาเป็นเพื่อนสนิทกันได้


        สำนักสงฆ์แห่งนั้นตั้งอยู่กลางป่าอยู่ในเขตอุทยานดอยสุเทพดอยปุย อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณสี่หรือห้ากิโลเมตร เวลาบิณฑบาตก็ต้องเดินลัดป่าตามเส้นทางเล็กๆจนทะลุออกหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด เนื่องจากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ จึงขออนุญาตสร้างเป็นวัดไม่ได้ แต่มีเสนานสนะมีศาลาการเปรียญหนึ่งหลัง มีกุฏิที่พักอีกสามหลัง  ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เพียงระยะทางในการบิณฑบาตไกลไปหน่อยเดินทางลำบากเท่านั้น
        จะได้พบกับผู้คนก็วันละไม่กี่ครั้งตอนเช้าเวลาบิณฑบาต ตอนเช้าพวกเจ้าหน้าที่อุทยานเข้ามาทำงานก็จะแวะมาดูว่าพระสงฆ์สองรูปนี้ยังอยู่ดีอยู่หรือไม่ บางวันตอนเย็นก็จะมีคนงานแวะมาลาก่อนกลับบ้าน จากนั้นทั่วอาณาบริเวณก็ตกอยู่ในความเงียบสงัด มีเพียงเสียงลมพัดยอดไม้เหมืนบทเพลงแห่งธรรมชาติขับกล่อมให้จมดิ่งในจินตนาการ แม้จะมีเพื่อนแต่ก็อยู่กันคนละกุฏิ ตอนกลางคืนจึงเหมือนอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวกลางขุนเขา  เวลากลางคืนหากจิตใจไม่มั่นคงก็ต้องหวั่นไหว เพราะในป่าไม้มีภัยรอบด้าน ทั้งภัยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและภัยที่มองไม่เห็น
        เสียงแมลงกลางคืนแทรกมากับเสียงสัตว์ป่าแว่วมาไม่ขาดสาย วัดที่อยู่ในละแวกเดียวแต่อยู่กันคนละแนวป่าคือวัดดอยแก้ว วัดดอยเปา และวัดดอยคำ แต่ละวัดก็จะมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาวัดละสี่ห้ารูป มีเพียงวัดดอยเปาที่ในพรรษานั้นมีพระสงฆ์รูปเดียวและสามเณรอีกสองรูป ส่วนสำนักสงฆ์กลางอุทยานเขาเขียนชื่อไว้ยาวเหยียดว่า “สำนักสงฆ์พระพิรุณนากรสาริกภูติ”  มีท่านวรโกและปุญญมโนจำพรรษาด้วยกัน
        หลังฉันอาหารเสร็จปุญญราโมมักจะเดินเข้าป่าที่ท่านทำทางเดินจงกรมไว้ ปุญญราโมจะอยู่ที่นั่นทั้งวันจนกระทั่งเย็นๆจึงกลับมา ภิกษุทั้งสองรูปแม้จะจำพรรษาในอารามเดียวกันแต่ไม่ค่อยจะได้สนทนากันสักเท่าไหร่ จะมีก็เพียงแต่เวลาฉันภัตตาหารวันละครั้งเท่านั้น ที่จะได้สนทนากันบ้าง ปุญญมโนใช้เวลาตอนกลางวันในการอ่านหนังสือหรือแปลหนังสือภาษาอังกฤษที่ถือติดมือมาด้วยเล่มหนึ่ง อ่านไปแปลไปวันละเล็กวันละน้อย


        ปุญญราโมก็ไม่มารบกวน “ผมเรียนมาน้อยอ่านหนังสือภาษาไทยก็แทบจะอ่านไม่ออก ภาษาอังกฤษแม้จะเคยศึกษามาบ้างแต่ก็ไม่ถึงระดับที่จะถอดความเป็นภาษาไทยได้ นิมนต์ท่านตามสะดวก ผมจะอยู่ที่ราวป่าหรือเสาะหาถ้ำสักแห่ง เดินจงกรมบ้างนั่งสมาธิบ้างตามแต่จะเห็นสมควร เรามีเวลาจำกัดไม่อยากปล่อยเวลาให้หมดไปกับการหายใจทิ้ง”
        พระสงฆ์สองรูปอยู่ด้วยกันในอารามกลางป่า รูปหนึ่งนั่งแปลหนังสือทั้งวัน อีกรูปหนึ่งหายเข้าป่า จึงได้พบหน้ากันวันละครั้ง แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่ด้วยกันอย่าสันติ ไม่มีความขัดแย้งแต่ประการใด
        เช้าวันหนึ่งหลังฉันภัตตาหารเสร็จ ปุญญราโมก็บอกว่า “ผมฝันเห็นหญิงและชายชราบอกว่าให้เดินทางไปยังถ้ำแห่งหนึ่งใต้เชิงเขามีน้ำตกไหลผ่าน ที่นั่นจะมีสมบัติประเภทเพชรนิลจินดามหาศาล หญิงชราบอกว่าเป็นสมบัติของอดีตเจ้าเมืองคนหนึ่งที่ฝังไว้ในถ้ำ แต่ต้องเสียชีวิตก่อนจึงไม่มีโอกาสได้ใช้สมบัติ ดิฉันกับสามีเป็นผู้เฝ้าสมบัติ เมื่อพิจารณาเห็นว่าท่านเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติดีจึงอยากมอบสมบัติให้ แต่ท่านต้องไปรูปเดียว ห้ามบอกเรื่องนี้แก่ใคร ในความฝันผมยังมีข้อแม้ว่าต้องพาท่านปุญญมโนไปด้วย   หญิงชราและชายชราไม่ตกลงยังบอกว่าต้องไปรูปเดียว ผมฝันอย่างนี้ติดต่อกันมาสามคืนแล้ว ผมบอกท่านไว้ก่อนเผื่อว่าบางทีอาจจะกลายเป็นผีเฝ้าสมบัติ ไม่ได้กลับมาอีก ความจริงผมก็ไม่ได้อยากได้ แต่ต้องการพิสูจน์ความฝันเท่านั้นเอง”
        ต่อมาอีกวันหนึ่งปุญญราโมก็บอกเล่าความฝันอีกว่า  “คืนที่ผ่านมาผมก็ฝันอีกครั้ง  แต่เห็นหญิงชราคนเดียว ผมขาวโพลนไปทั้งศีรษะบอกว่าให้ไปเอาสมบัติซึ่งท่านฝากไว้ ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว สมบัติที่ว่าเป็นเพียงแจกันปากบิ่นอันเดียว ผมยังบอกหญิงชราคนนั้นว่า มอบให้ยายก็แล้วกันไม่อยากได้แล้ว แต่หญิงชราคนนั้นบอกว่าไม่ได้สมบัติใครก็สมบัติมัน ท่านต้องไปเอาคืนให้ได้ อยู่ใต้ถ้ำมีธารน้ำไหลผ่าน” จากนั้นหญิงชราก็เดินหายไป
        “อันที่จริงผมเสาะหาถ้ำตามฝันมาหลายวันแล้ว แต่ยังไม่พบวี่แววว่าจะมีถ้ำตามนิมิตนั้นเลย บอกท่านไว้ก่อนหากวันใดไม่เห็นผมกลับมา ผมอาจจะหลงอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ต้องห่วงผม ผมมีชีวิตเดียวไม่มีห่วงอื่นใดๆอีกเลย” ปุญญราโมบอกในวันใกล้จะออกพรรษา 

 

        ช่วงนั้นฤดูหนาวเริ่มเยือนแล้ว อากาศหนาวเย็นแต่สบายเพราะรอบๆเต็มไปด้วยป่าที่ร่มรื่น เมื่อสายลมรำเพยพัดก็เกิดเป็นบทเพลงจากราวป่า เป็นเพลงจากธรรมชาติที่ผู้ฟังใส่ท่วงทำนองเอาเอง ป่าไม้เหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งปลูกขึ้นมาใหม่แต่ทว่าก็ผสมผสานกันอย่างลงตัว ใบไม้บางต้นปลิดปลิวร่วงหล่นลงสู่ดิน ชีวิตมนุษย์ไยมิใช่เป็นเฉกเช่นใบไม้เหลืองที่หล่นจากขั้ว ดังพุทธภาษิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/28/32 ) ว่า “บัดนี้ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง อนึ่งบุรุษแห่งพระยายม(คือความตาย) ปรากฏแก่ท่านแล้ว ท่านตั้งอยู่ในใกล้ปากแห่งความเสื่อม อนึ่งแม้เสบียงทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน  จงรีบพยายาม เป็นบัณฑิต  ท่านกำจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์”
        อีกตอนหนึ่งว่า "บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว เป็นผู้เตรียมพร้อม  (เพื่อจะไป)สำนักของพระยายม อนึ่งแม้ที่พักในระหว่างทางของท่านก็ยังไม่มี อนึ่งถึงเสบียงทางของท่านก็หามีไม่ ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม  จงเป็นบัณฑิตท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน  จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก”
        การพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติตามที่มันเป็นโดยไม่ได้ปรุงแต่งอะไรนั้นเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ชีวิตกับป่า ใบไม้กับความตายไม่มีอะไรแน่นอน พอถึงเวลาใบไม้ก็หล่นจากต้น ชีวิตก็ต้องสิ้นลมหายใจทิ้งร่างวางขันธ์เหมือนท่อนไม้ที่พร้อมจะเป็นอาหารของปลวกนั่นแล จะยึดมั่นถือมั่นอะไรนักหนา
        ในวันจะปวารณาออกพรรษา ปุญญราโมเล่าให้ฟังว่า “หญิงชราและชายชราที่ผมเคยฝันถึงเมื่อเดือนก่อนพลันกลับมาปรากฏในความฝันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ทั้งสองบอกว่านำแจกันดอกไม้มาถวาย เพราะรอให้ท่านไปเอาเองไม่ไหว ทั้งสองกล่าวจบก็ถวายแจกันที่ปากบิ่นไปนิดหนึ่ง จากนั้นก้มกราบและเดินลงจากลงกุฏิหายลับไปในราวป่า”
        ปุญญราโมสะดุ้งตื่นขึ้นมาในเวลาค่อนรุ่ง ออกบิณฑบาตตามปรกติ ในขณะที่กำลังฉันภัตตาหารอยู่นั้น มีคนงานที่ทำงานในอุทยานคนหนึ่งนั่งรถรถจักรยานยนต์มาจอดหน้ากุฏิและบอกว่า “เมื่อวานนี้ผมไปที่วัดพระธาตุดอยคำขณะที่เดินเล่นหลังพระอุโบสถ เท้าไปสะดุดก้อนหิน จึงต้องนั่งลงในตอนนั้นเห็นมีหินเล็กๆก้อนหนึ่งรูปร่างเหมือนพระเครื่องผมจึงหยิบขึ้นมาดู พอเขี่ยดินออกจึงเห็นว่าที่แท้คือพระรอดเนื้อดิน ผมเอามาถวายท่านแต่อยากได้เงินสักหนึ่งพันบาท”

 

        ปุญญราโมหยิบพระรอดมาพิจารณาดูที่ด้านข้างบิ่นไปนิดหนึ่ง สองสามวันก่อนชาวบ้านเขาทำบุญ นิมนต์ไปสวดมนต์และนิมนต์แสดงธรรมหนึ่งกัณฑ์ยังไม่รู้ว่าชาวบ้านถวายปัจจัยมาเท่าไหร่ไม่ได้ดู ให้เขาวางไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง จึงบอกคนงานท่านนั้นให้ไปหยิบหนังสือเล่มนั้นมาเปิดดู เขานั่งนับเงินทั้งเหรียญบาท และแบงค์ต่างๆจากนั้นจึงหันมาบอกว่าเก้าร้อยเก้าสิบห้าครับ ยังขาดอีกห้าบาท ไม่เป็นไรผมถวายท่านก็แล้วกัน คนงานท่านนั้นเมื่อได้เงินก็นำพระรอดมาถวายเป็นพระรอดเนื้อดินแต่ที่ริมด้านขวามีรอยบิ่นนิดหนึ่ง
        วันออกพรรษา ปุญญราโมภิกขุบอกลาและออกเดินทางไปตามราวป่า ท่านบอกว่า “ผมตั้งใจว่าจะไปที่อำเภอสะเมิง และเดินทางธุดงค์ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน ชีวิตผมไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอนาคต ตายเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ ผมใช้ชีวิตมาพอแล้ว อันที่จริงผมพบถ้ำสมบัตินั้นแล้ว เอาไว้กลับจากสะเมิงผมจะเล่าให้ฟัง” ปุญญราโมบอกอย่างนั้น
        ปุญญมโนต้องอยู่ในอารามกลางป่าแห่งนั้นรูปเดียว เพราะอยู่จำพรรษาหลังต้องรออีกหนึ่งเดือนจึงจะครบสามเดือน ไม่มีเหตุการณ์เหมือนที่ปุญญราโมเล่าให้ฟังเลย ทุกอย่างเงียบสงบ ชีวิตดำเนินไปตามปรกติ อยู่รูปเดียวกลางป่าเปลี่ยวไม่ง่ายนักเพราะต้องต่อสู้กับดารมณ์และความรู้สึกที่สอดแทรกเข้ามาได้ตลอดเวลา  มีคำถามเกิดขึ้นในจิตใจมากมายว่าทำไมจึงต้องมาอยู่โดดเดี่ยวกลางป่าเช่นนี้ ยังมีวัดหรืออารามอื่นๆอีกมากมาย ทำไมไม่ไป เวลาที่อยู่คนเดียวสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออารมณ์และความคิดมันแทรกเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง บางครั้งเกิดน้อยใจในโชคชะตาที่เกิดมาอาภัพอับโซค ทำอะไรก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ดูเหมือนว่าความล้มเหลวคือสิ่งที่มีอยู่คู่กับชีวิต บางครั้งหวนคิดไปถึงอดีตชาติว่าในชาติก่อนเคยทำกรรมอะไรไว้จึงต้องกลายเป็นเหมือนคนไร้ที่พึ่งเช่นนี้

         สิบกว่าปีก่อนได้พบปุญญราโมภิกขุที่วัดป่าแห่งหนึ่งแถวอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ปุญญราโมบอกว่า “ท่านยังจำพระรอดองค์นั้นได้หรือไม่” เมื่อบอกว่า “ยังจำได้” ปุญญราโมบอกว่า “พระรอดองค์นี้ผมได้ถวายเจ้าอาวาสท่านหนึ่งที่กำลังสร้างพระอุโบสถ และบอกท่านเจ้าอาวาสว่าหากจะมีราคาก็เปลี่ยนเป็นเงินเพื่อนำมาสร้างพระอุโบสถได้”  เจ้าอาวาสท่านนั้นใช้เวลาสามปีจึงสร้างพระอุโบสถหลังนั้นเสร็จ

 

         วันหนึ่งผมเดินทางไปเยี่ยมเจ้าอาวาสท่านนั้นอีกครั้ง ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า “พระรอดองค์นั้นผมให้เซียนพระตรวจดูแล้ว เขาบอกว่าไม่มีราคา เป็นเพียงดินธรรมดา อ้าวเอาคืนไป”  ผมก็รับพระรอดเนื้อดินนั้นคืนมา
        ตอนนั้นปุญญราโมมีจีวรเก่ามาก และมีรอยปะเต็มไปหมด ปุญญมโนจึงถวายจีวรแด่ท่านปุญญราโมไปผืนหนึ่ง ส่วนจีวรเก่าผืนนั้นให้นำไปใช้เป็นผ้าขี้ริ้วถูพื้น ใช้ประโยชน์ได้จนถึงที่สุด
        ปุญญราโมหยิบพระเครื่ององค์หนึ่งถวายเป็นเครื่องตอบแทน เป็นพระรอดเนื้อดินที่ปุญญราโมได้มาจากคนงานแห่งดอยคำ ที่เซียนพระบอกว่าไม่มีราคาองค์นั้น แต่ปุญญมโนยังเก็บรักษาไว้ ไม่ใช่ในฐานะเครื่องรางของขลังอะไร แต่เก็บรักษาไว้เพื่อเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นเครื่องระลึกนึกถึงปุญญราโมภิกขุผู้ชอบท่องเที่ยวไปในป่าเปลี่ยว ภูเขา ถ้ำและราวป่า แต่ตอนนี้พอนึกถึงพระรอดองค์นั้นก็หาไม่พบแล้ว ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหน ดังเช่นกับปุญญราโมภิกขุเพื่อนที่หายไปรูปนั้น ที่ดูเหมือนจะหายสาบสูญไปจากโลกนี้เหมือนสายลมที่มาแล้วก็จากไป

 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
07/08/55

 

หมายเหตุ: ชื่อของภิกษุทั้งสองรูปเป็นนามสมมุติ หากไปตรงกับชื่อของท่านผู้ใดต้องขออภัย

               แต่ชื่อของสถานที่มีอยู่จริง
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก