วันเข้าพรรษามีสายฝนโปรยปรายลงมาตั้งแต่ตอนหัวค่ำ เห็นว่ายังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงก่อนที่จะทำพิธีอธิษฐานเข้าพรรษา จึงเดินเล่นหน้าวัด กวาดวิหารลานเจดีย์ตามปรกติ ศาลาท่าน้ำมีคนสองสามคนนั่งสนทนากันอยู่ พอเดินผ่านไปยืนเล่นที่ท่าน้ำ วันนี้น้ำคลำส่งกลิ่นโชยมาแต่ไกล กลิ่นไม่ค่อยดีนัก แต่ก็เอาเถอะแม้จะมีกลิ่นเหม็นบ้างก็ไม่เป็นไร บางช่วงเวลาคลองที่ไหลผ่านหน้าวัดก็มีน้ำล้นตลิ่งใสสะอาดอยู่บ้าง แต่ช่วงนี้ทางกรุงเทพมหานครคงต้องการให้คลองมีน้ำน้อยที่สุดเผื่อบางทีอาจจะมีฝนตกหนักเกิดน้ำทะลักเข้ามามากจะได้ระบายน้ำได้ทันท่วงที คิดในด้านดีไว้ก่อน
เพ่งพิจารณาน้ำคลำในคลองสักพักก็มีโยมคนหนึ่งเดินเข้ามาหา พลางยกมือไหว้และเอ่ยทักว่า “เข้าพรรษา ผมควรจะอธิษฐานอะไรดี” แหมช่างถามได้ตรงกับที่คิดไว้อยู่พอดี ตอนนั้นก็กำลังคิดอยู่ว่าจะอธิษฐานอะไรในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งยังคิดหาคำอธิษฐานเฉพาะกาลไม่ออก
จึงบอกไปว่า “ก็แล้วแต่โยม ได้ข่าวว่าทางราชการรณรงค์ว่า “งดเหล้าเลิกสูบบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา” หรือลด ละ เลิกอบายมุขทั้งหลายก็ได้” แล้วโยมคิดจะอธิษฐานอะไร
ผมตั้งใจว่าจะเลิกบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษานะครับ แต่มีคนบอกว่าคนที่สูบบุหรี่ติดต่อกันมานานเกินยี่สิบปี ถ้าหากเลิกทันทีมักจะเป็นมะเร็งและตายก่อนเวลาอันควร ผมยังไม่อยากตาย จึงไม่กล้าอธิษฐานนะครับ”
คนเรามันก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ อย่างเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ก็ไม่แน่เสมอไปคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็อาจจะเป็นโรคมะเร็งได้เหมือนกัน ตัวอย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาคนที่เสียชีวิตก็ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า แต่ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ หากจะเลิกจริงๆ ก็ต้องลองพิสูจน์ใจตัวเองด้วยว่าสามารถทำได้จริงๆหรือไม่ หากทำได้ก็จะเป็นการพิสูจน์จิตใจตนเองว่ามีความเข้มแข้งเด็ดเดี่ยว คนที่มีจิตใจมั่นคงจะทำอะไรก็สำเร็จ”
ตอนนั้นมีโยมอีกหลายคนเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย ศาลาท่าน้ำหน้าวัดจึงกลายเป็นศาลาโรงธรรมขนาดย่อม โยมสุภาพสตรีคนหนึ่งถามว่า “อธิษฐานคืออะไร โยมอยากจะอธิษฐานว่าจะใส่บาตรพระทุกวัน แต่เกรงว่าจะทำไม่ได้ เพราะบางวันอาจจะนอนตื่นสาย จึงไม่กล้าตัดสินใจ”
จึงบอกว่าเอาทีละคำถามก็แล้วกัน คำว่า “อธิษฐาน”เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย) มาจากภาษาบาลีว่า “อธิฏฺฐาน” ตามความหมายแปลว่า “ความตั้งในแน่วแน่ การอธิษฐาน การติดแน่น ที่อยู่อาศัย” มีความหมายถึงสี่อย่าง หากเป็นคำกิริยาก็จะเขียนว่า “อธิฏฺฐาติ” แปลว่า ตั้งมั่น ตั้งใจ คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าการอธิษฐานคือการตั้งใจแน่วแน่ที่จะงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี หรือตั้งใจกระทำในสิ่งที่ดี หากตั้งใจแล้วลงมือกระทำตามที่ตั้งใจก็เรียกว่าการอธิษฐาน
การอธิษฐานใส่บาตรทุกวัน ก็ต้องทำทุกวัน ถ้าทำได้ตามที่อธิษฐานไว้ก็จะเพิ่มพูนความมั่นใจในความเข้มแข็งแห่งจิตใจของตนเอง หากไม่แน่ใจว่าจะทำไม่ได้ จะอธิษฐานกลางๆก็ได้ว่า “จะใส่บาตรอาทิตย์ละห้าวัน” มีวันหยุดตั้งสองวัน จะหยุดวันไหนก็เลือกเอา ถ้าอธิษฐานอย่างนี้คิดว่าโยมคงทำไม่ยาก”
สุภาพสตรีท่านนั้นยกมือไหว้และกล่าวคำว่า “สาธุ” โยมไม่น่าจะคิดไม่ออกเลย เพราะคิดอยู่แต่ว่า “ใส่บาตรทุกวัน” ถ้าเปลี่ยนคำอธิษฐานใหม่เป็น “ใส่บาตรอาทิตย์ละห้าวัน” อย่างนี้โยมมั่นใจว่าทำได้แน่นอน
การสนทนากำลังจะดำเนินไปด้วยดี แต่พลันมีเสียงเอะอะโวยวายมาแต่ไกลและเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจึงหันไปมอง เห็นชายหญิงคู่หนึ่งกำลังทะเลาะกัน ดูเหมือนจะเป็นสามีภรรยาในทำนองว่าสามีขี้เมาเอาแต่ดื่มเหล้า ไม่ทำมาหากิน ส่วนสามีก็เถียงว่าเพราะมีไปมีชู้จึงต้องดื่มเหล้า ทั้งสองเถียงกันมาจนถึงศาลาท่าน้ำหน้าวัด วงสนทนาจึงต้องถอยคอยระวังภัย ถือภาษิตว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคนเมา
ชายขี้เมาคนนั้นมาถึงก่อนยกมือชี้หน้ามาที่หลวงตาฯพอดี “เพราะเอ็งนี่แหละที่ทำให้เมียข้าเอาเงินมาทำบุญจนหมดตัว”
ถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำที่ไม่จริงอย่างน้อยอารมณ์ของหลวงตาฯก็ระอุด้วยความโกรธ ลืมตัวพลางเดินเข้าหาชายขี้เมาคนนั้นทันที เพราะมั่นใจว่าไม่เคยรู้จักสามีภรรยาคู่นี้มาก่อนเลย มากล่าวหากันลอยๆอย่างนี้ ไม่ใช่พระอิฐพระปูนก็ต้องมีอารมณ์โกรธเป็นธรรมดา แต่เมื่อรู้ตัวจึงระงับความโกรธไว้ได้
ฝ่ายภรรยาก้มกราบก่อนจะบอกว่า “หนูขอโทษหลวงพ่อ สามีหนูมันบ้า เมาเมื่อไหร่หาเรื่องคนทุกที”
ในขณะนั้นชายขี้เมาคนนั้นคงได้สติขึ้นมาเหมือนกับจะสำนึกผิด แต่ไม่ได้กล่าวคำอะไรออกมา ภรรยาจึงทั้งฉุดกระชากลากถูนำพาสามีเดินกลับไป
หลวงตาไซเบอร์ฯยังมีอารมณ์ขัดเคืองที่ถูกกล่าวหาจากใครที่ไหนก็ไม่ทราบ วงสนทนาเริ่มทยอยลากลับเกือบหมดแล้ว กำลังจะเดินขึ้นกุฏิเพื่อเตรียมตัวลงพระอุโบสถอธิษฐานพรรษา ชายขี้เมาคนนั้นถือขวดสุราเดินย้อนกลับมา พลางเรียกว่า “หยุดก่อนหลวงพ่อ” ตอนนั้นเตรียมพร้อมแล้วเป็นไงเป็นกัน จึงหันกลับมาประจันหน้ากับชายขี้เมาคนนั้นด้วยใจอันสงบ แต่ชายขี้เมาคนนั้นกลับนั่งคุกเข่าลงตรงหน้าหลวงตา จากนั้นยกขวดสุราขึ้นชูตรงหน้าพลางบอกว่า “ผมถวายสุราขวดนี้แก่หลวงพ่อ จากวันนี้เป็นต้นไปผมจะอธิษฐานเลิกเหล้าตลอดพรรษา”
กาลกลับกลายเป็นว่าผู้ที่ทำอะไรไม่ถูกคือหลวงตาฯเอง ครั้งจะรับขวดสุราก็เกรงว่าจะมีคนแอบถ่ายภาพพระถือขวดสุรา หากมีคนเผยแพร่ออกไปเดี๋ยวก็ยุ่งกันใหญ่ ครั้นจะไม่รับก็จะขัดใจชายขี้เมาคนนั้น หลวงตาเองก็รู้สึกมีโทสะเหมือนไออุ่นที่พุ่งขึ้นมาเหมือนกัน แหมถวายสุราให้พระมันน่าจะด่าให้หายแค้น แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธอะไรออกมานอกหน้า ตอนนั้นหน้าคงแดงเพราะความโกรธที่กำลังระอุแต่ก็ระงับไว้ได้ เพียงแต่บอกว่า “วางขวดไว้ก่อนโยม” ชายขี้เมาก็ทำตามอย่างว่าง่าย ความโกรธที่กำลังปะทุจึงสงบลงได้
“ผมตั้งใจจริงๆนะครับหลวงพ่อ พรุ่งนี้ผมจะเลิกเหล้าจริงๆ แต่วันนี้ขอดื่มให้เต็มที่ก่อน” พูดจบชายขี้เมาก้มกราบกับพื้นสามครั้งและเดินโซเซจากไป พร้อมทั้งคนอื่นก็กราบลาไปด้วย เหลือไว้แต่ขวดสุราที่เหลือครึ่งขวดยังวางแทบเท้าหลวงตาไซเบอร์ฯ จึงบอกให้โยมคนหนึ่งเก็บไปทิ้งถังขยะ โดยไม่ลืมบอกให้เทเหล้าที่ยังเหลือทิ้งก่อน
ได้เวลาสวดมนต์และอธิษฐานเข้าพรรษาจึงเดินเข้าพระอุโบสถ ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจยังเป็นความขัดเคืองต่อชายขี้เมาคนนั้น ความขัดเคือง เป็นกิเลสอย่างหนึ่งอยู่ในฝ่ายของ “โทสะ” ที่แปลว่า “ความประทุษร้าย ความโกรธ ความขัดเคือง ความเกลียดชัง ความมุ่งร้าย โทษ ความเสียหาย ความผิดพลาด ข้อบกพร่อง ข้อควรตำหนิ” ในขณะที่คำว่า “ความโกรธ” มาจากภาษาบาลีว่า “โกธ” แปลว่าความโกรธ ความขัดเคือง
พระพุทธเจ้าเคยตอบคำถามของมาฆเทวบุตร ดังที่แสดงไว้ในมาฆสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค (15/226/65 ) ความว่า “ครั้งหนึ่งที่เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี มาฆเทวบุตรได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า “บุคคลฆ่าอะไรสิ จึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรสิ จึงจะไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอะไร ซึ่งเป็นธรรมอันเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบมาฆเทวบุตรว่า “บุคคลฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววัตรภู อริยะทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นแล้วย่อมไม่เศร้าโศก”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ โกธํ ฆตฺวา น โสจติ
โกธสฺส วิสมูลลสฺส มธุคฺคสฺส วตฺรภู
วธํ อริยา ปสํสนฺติ ตญฺหิ ฆตฺวา น โสจติ ฯ
การอธิษฐานเข้าพรรษาในปีนี้หลวงตาไซเบอร์ฯ อธิษฐานเข้าพรรษาในวัดมัชฌันติการาม ตลอดไตรมาส หากไม่มีเหตุที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” ให้เดินทางไกล จะไม่ไปพักแรมที่ไหนอื่น นอกจากนั้นยังตั้งจิตอธิษฐานเพื่อการบำเพ็ญทางจิตว่า “ในพรรษานี้จะไม่โกรธต่อใครๆ พยายามจะบรรเทาความโกรธให้ลดน้อยลง แม้หากความโกรธ ความขัดเคืองใจเกิดขึ้นก็จะไม่แสดงอาการให้ใครเห็น” ความโกรธเก็บไว้ภายใน ยิ้มเข้าไว้แม้ภัยมา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/08/55