มีสุภาษิตโบราณอยู่บทหนึ่งที่กล่าวถึงการฝึกหัดขัดเกลา และมาจากการทำงานคือ “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” หากดูจากสุภาษิตน่าจะมาจากคนที่มีอาชีพช่างไม้ ที่จะต้องนำไม้มาทำเป็นวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่นการทำลูกธนูหรือลูกศรก็ต้องหาไม้ที่พอเหมาะลนไฟ ค่อยๆดัดตกแต่งให้ไม้นั้นตรง หากไม้แก่เกินไปจะดัดหรือตกแต่งให้ตรงคงลำบากเพราะไม้จะหักก่อนที่จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ หรืออีกอย่างอาจจะมาจากคนที่มีอาชีพปลูกต้นไม้เช่นไม้ดัดต่างๆที่จะต้องเริ่มตกแต่งรูปทรงต่างๆตั้งแต่ยังเป็นต้นไม้อ่อน จะให้เป็นรูปทรงอะไรก็ค่อยๆดัดและให้รูปทรงตามที่ตนต้องการ ไม้อ่อนพอดัดได้ง่าย แต่หากเป็นไม้แก่ถึงจะดัดได้แต่ก็ทำยาก
วันธรรมสวนะที่ผ่านมาเวลาเย็นเป็นวันหยุดตามปรกติของพระภิกษุสามเณร ใครมีภารกิจที่ไหนก็ต้องงดและร่วมทำวัตรสวดมนต์ วันนั้นเดินเข้าพระอุโบสถเห็นเด็กนักเรียนอนุบาลสองคนกำลังไหว้พระ ตอนนั้นยังไม่ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์จึงถามเด็กสองคนนั้นว่ามาทำอะไร เขาแข่งกันตอบว่า “มาไหว้พระสวดมนต์ครับ หลวงพ่อ” เมื่อถามว่าสวดได้หรือใครสอน เด็กคนหนึ่งตอบว่า “พระที่โรงเรียนสอน ผมอยากบวชเณร หากเรียนจบเมื่อไหร่ผมจะบวชเณรมาอยู่กับหลวงพ่อในวัดนี่แหละครับ” เด็กชายในวัยกำลังเรียนชั้นอนุบาลตอบอย่างไม่ลังเล จึงบอกว่าถ้าอย่างนั้น สวดมนต์กับหลวงพ่อก็แล้วกัน
ถึงเวลาทำวัตรเย็นเด็กสองคนยังนั่งท้ายสุดอยู่หลังสามเณรและสวดมนต์เท่าที่จะสวดได้ ตอนไหนที่สวดไม่ได้ก็นั่งนิ่งฟังอย่างตั้งใจ ทำวัตรเสร็จเด็กสองคนนั้นเดินไปหาพ่อซึ่งเป็นคนงานก่อสร้างเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินผ่านไปก็ยกมือไหว้ และกล่าวคำว่า “สาธุๆ” ไม่หยุดปาก ถามพ่อเด็กเขาบอกว่า “เด็กชอบวัดอยากมาวัด อย่างน้อยก็ได้กินขนม เขาชอบสวดมนต์ แม้จะพึ่งเริ่มต้นแต่ก็พยายามจดจำ ผมเป็นพ่อยังอายเด็กเลยครับ เพราะผมไม่ค่อยได้สวดมนต์” คนงานคนนั้นบอก วันนั้นไม่มีกล้องถ่ายภาพเลยไม่มีภาพให้ดู
โรงเรียนวัดมัชฌันติการามตั้งอยู่ติดวัดมีเพียงถนนขั้นกลางจึงแบ่งแยกโรงเรียนกับวัดออกจากกัน แต่ทว่าเสียงที่พระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์จะได้ยินไปถึงโรงเรียน ในขณะเดียวกันเสียงจากโรงเรียนก็ได้ยินมาถึงวัด ทุกวันพระครูจะพานักเรียนมาฟังพระธรรมเทศนาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาไม่ได้ขาด วันไหนที่มีนักเรียนตัวโตหน่อยวันนั้นก็เงียบสงบ แม้จะฟังบ้างไม่ฟังบ้างแต่ก็ไม่ส่งเสียงดัง หากพระเทศน์ถูกใจหรือบังเอิญไปตรงกับสิ่งที่เขากำลังสนใจจะส่งเสียงหัวเราะดังลั่น แต่วันไหนที่พระเทศน์น่าเบื่อพวกเขาก็จะนั่งนิ่ง ฟังแต่ไม่ได้ยิน
หากวันไหนมีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมปีที่หนึ่งซึ่งยังเล็กมาก วันนั้นหากเป็นวาระของพระสงฆ์รูปใดที่ขึ้นแสดงธรรม วันนั้นก็ต้องบอกว่าตัวใครตัวมัน ลองนึกภาพดูเด็กนักเรียนมานั่งฟังเทศน์วุ่นวายน่าดู แต่นั่นเป็นกิจกรรมที่วัดและโรงเรียนกระทำร่วมกัน ฝึกตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มที่โรงเรียนเปลี่ยนกันที่วัด อย่างน้อยก็ได้อุปนิสัยทำให้เด็กรู้จักพิธีกรรมเบื้องต้นของชาวพุทธ
ครั้งหนึ่งเวลาเย็นตะวันกำลังจะลับฟ้าที่เมืองอูบุด เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้คนที่นั่นส่วนหนึ่งนับถือศาสนาฮินดู ทุกวันจะพากันไปสักการะเทพเจ้าตามความเชื่อ มีทั้งเด็กและคนชรา ส่วนมากจะเป็นสตรี มีบ้างที่เป็นผู้ชาย วันนั้นใกล้ค่ำแสงแห่งสนธยากำลังจะจางหาย เดินทางไปยังวัดของศาสนาฮินดูแห่งหนึ่ง เห็นแม่และลูกสาวกำลังประกอบพิธีไหว้เทพเจ้า โดยมียายแก่คนหนึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับผู้ศรัทธา แม่ไหว้ลูกก็ไหว้ตาม เมื่อเข้าไปถามว่ากำลังทำอะไร เธอหันมาตอบเป็นภาษาอินโดนีเซีย ขณะนั้นมีพระธรรมทูตไทยรูปหนึ่งที่พูดภาษาอินโดนีเซียได้ ท่านจึงแปลให้ฟัง
เธอบอกว่า “ไหว้เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และไหว้เทพแห่งความหายนะ ไหว้ทั้งเทพและมาร ไหว้เทพเพื่อให้ท่านช่วยเหลือในสิ่งที่ดี ไหว้มารเพื่อให้ท่านไม่มาทำร้าย มาไหว้ทุกวันและสวดสรรเสริญเทพเจ้าไปด้วย หากวันไหนมาไม่ได้ก็จะต้องส่งตัวแทนในครอบครัวมาประกอบพิธีแทนอย่างน้อยวันละหนึ่งคน วันนี้พาลูกสาวมาวัดด้วย ต่อไปในอนาคตเธอจะได้จดจำพิธีกรรมและสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง”
เรียกว่าสอนและถ่ายทอดความเชื่อกันตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเด็กเหมือนผ้าขาวที่ยังบริสุทธิ์สามารถที่จะเติมแต่งวาดภาพด้วยสีสันต่างๆได้ตามความต้องการ ในเรื่องของพิธีกรรมก็สามารถที่จะสอนและถ่ายทอดกันได้ เริ่มตั้งแต่ยังเด็กจะค่อยๆซึมซับรับเอาเรื่องราวๆต่างๆได้ง่ายกว่า โบราณว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก่ดัดยาก”
ครั้งหนึ่งที่สำนักสงฆ์สมณะ เดนปาร์ซาร์ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เด็กอีกคนหนึ่งสวดมนต์ตามพระสงฆ์ที่ประกอบพิธี แม้จะฟังไม่รู้เรื่องแต่เธอก็พยายามสวด พ่อแม่เด็กบอกว่า “ตามปรกติที่บ้านซึ่งเป็นชาวพุทธจะสวดมนต์ตอนเย็นทุกวัน สวดกันทั้งครอบครัว สวดตามหนังสือที่ทางสำนักสงฆ์ทำแจกเป็นภาษาอินโดนีเซีย หากมีงานวัดที่ไหนก็จะพาลูกหลานไปด้วย อย่างน้อยก็ได้เห็นพระสงฆ์และได้เห็นพิธีกรรมทางศาสนา”
หน้าที่ของพ่อแม่นอกจากสอนลูกทางกายคือห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งตนเป็นคนดี ให้ลูกมีความรู้ จัดคู่ให้อยู่ครอง และมอบกองมรดกให้” ยังมีหน้าที่ทางใจที่จะต้องสอนให้ลูกเป็นคนดีคือ “พาลูกเข้าวัด หัดลูกสวดมนต์ ฝึกฝนทำบุญทำทาน สอนกรรมฐานภาวนา ชักนำพาให้ลูกบวช” สอนทั้งทางกายและสอนทางใจ ลูกก็จะค่อยๆซึมซับรับเอาทั้งความรู้และคุณธรรมอันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
มีสุภาษิตที่สนังกุมารพรหมเสนอต่อพระพุทธเจ้าในอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/160/128) และพระพุทธเจ้าก็ยืนยันตามที่สุนังกุมารพรหมแสดงไว้ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส” แปลความตามพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย(9/160/107) ว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา” คำว่า “วิชฺชา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) แปลว่า “ความรู้” ส่วนคำว่า “จรณ” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่หญิงไม่ชาย) แปลได้หลายความหมายคือ “การเที่ยวไป ความประพฤติ จรณะ เท้า” ดังนั้นจึงพอจะแปลได้อีกอย่างว่า “ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” มีความรู้ดีอย่างเดียวแต่ความประพฤติไม่ดีก็ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้
เด็กอนุบาลโรงเรียนวัดมัชฌันติการามมานั่งสวดมนต์ร่วมกับพระภิกษุสามเณร มาเองโดยไม่มีใครบังคับ ส่วนเด็กสาวที่ตามแม่ไปวัดของศาสนาฮินดูเพราะแม่ต้องการให้เป็นผู้สืบทอดความเชื่อในศาสนาฮินดูเป็นตัวแทนของครอบครัวในอนาคต เด็กชายชาวบาหลีคนนั้นสวดมนต์ตามพ่อแม่ที่สอนโดยการปฏิบัติให้ดู โบราณว่าไว้ว่า “ทำให้ลูกดู อยู่ให้ลูกเห็น เย็นให้ลูกสัมผัส” พ่อแม่คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูก หากพ่อแม่คนใดเป็นประเภท “เช้าก็ร้าย บ่ายก็ด่า พอเย็นมาก็หลบ หาเวลาให้ลูกพบไม่ได้” ลูกเลยได้ตัวอย่างที่ร้ายตามไปด้วย พระพุทธศาสนามีภาษิตอยู่บทหนึ่งในขุทกนิกาย ธรรมบท(25/22/30)ความว่า “บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง” หากจะพูดให้ง่ายเข้าก็ต้องบอกว่า “สอนคนอื่นเช่นไร ควรทำตนเช่นนั้น” แม้จะทำได้ยากแต่หากตั้งใจจริงก็ไม่ยากที่จะทำ ตีเหล็กที่กำลังร้อน สอนคนตั้งแต่ยังเด็ก
เย็นวันนั้นหลังทำวัตรสวดมนต์เสร็จขณะที่กำลังเดินกลับกุฏิ ชายชราอายุใกล้แปดสิบปีที่คุ้ยเคยคนหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เขายกมือไหว้ในขณะที่มือข้างหนึ่งยังคีบบุหรี่มีควันบุหรี่ลอยกรุ่น ชายชราคงคิดได้รีบซ่อนบุหรี่ไว้ข้างหลัง ต้นปี 2555 ที่ผ่านมาชายชราเคยบอกว่า “ผมจะเลิกบุหรี่ตลอดชีวิต ขอให้ท่านมหาเป็นพยานด้วย” ตอนนั้นเพียงแต่รับฟัง แต่ไม่ได้รับปาก ครึ่งปีผ่านไปพอกลับมาพบกันอีกครั้ง ชายวัยชราคนนั้นยังคงสูบบุหรี่เหมือนเดิม ไม่แก่ดัดยากจริงๆ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/07/55