มนุษย์หากไม่ทำความดีอะไรฝากไว้กับโลกเลย ตายไปคงไม่มีใครจดจำได้ เรียกว่าเกิดเปล่า ตายเปล่า มืดมา มืดไป แต่ถ้าหากทำคุณประโยชน์ฝากไว้ คนที่อยู่เบื้องหลังย่อมคิดถึงแม้จะตายไปร้อยปี ก็ยังคงมีคนจดจำได้ เข้ากับคำสอนที่ว่า “มืดมา แต่สว่างไป” ดังเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม พระผู้เป็นที่รักของคนทั้งหลายและพระเถระผู้สถิตอยู่ในจิตใจของพระภิกษุไทยทั้งโลก
เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นพระเถระที่ฝักใฝ่ในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ตัวท่านเองเรียนจบเปรียญธรรมเก้าประโยค ทำหน้าที่สอนหนังสือให้แก่พระนักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าหกสิบปี ในช่วงปีพุทธศักราช 2546-2550 เจ้าประคุณสมเด็จฯก็ยังคงสอนหนังสือแก่พระนักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ที่เปิดเรียน ณ ศูนย์การศึกษาวัดราชาธิวาส แม้ว่าคณาจารย์หลายท่านจะกราบเรียนเพื่อให้เจ้าประคุณฯเลิกสอนจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ท่านก็ไม่ยอมเลิกยังคงเดินทางมาทำงานที่วัดบวรนิเวศวิหารแทบทุกวัน และยังคงทำหน้าที่ “สอน” ไม่ได้ขาด
วิชาที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสอนคือวิชาศาสนาต่างๆซึ่งเป็นตำราเล่มใหญ่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯเรียบเรียงขึ้นด้วยตนเอง ดังนั้นเนื้อหาในเล่มจึงไม่จำเป็นต้องอ่าน เพราะอยู่ในสมองหมดแล้ว สามารถสอนได้เลย อาทิตย์หนึ่งสามชั่วโมงสำหรับคนที่มีอายุใกล้เก้าสิบปี มิใช่งานที่ทำได้ง่ายนัก แม้จิตใจจะเข้มแข็งสักปานใดก็ตาม แต่ร่างกายก็รับไม่ไหว เหนื่อยง่ายพูดเสียงเบาลง แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯก็มิได้ยอมแพ้ จนกระทั่งวันหนึ่งไม่ไหวจริงๆจึงได้เลิกสอนทั้งๆที่ยังไม่จบเทอม
ผู้ที่ทำหน้าที่สอนต่อในเทอมนั้นคือพระครูสิริปัญญาเมธี (พระมหา ดร.เชาวรา) สอนต่อจนจบและผ่านการสอบไปได้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯยังสอบถามไม่เคยขาด เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมอายุมากแล้วยังคงสอนอยู่ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯก็จะตอบว่า “สอนให้เป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุรุ่นใหม่ๆว่า แม้จะแก่ก็ยังสอนเพราะรักในการสอนหนังสือ ชีวิตนี้มอบให้การศึกษาไปแล้ว ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่สิ้นก็ต้องศึกษาต่อไป” หากมีเวลาว่างเจ้าประคุณสมเด็จฯจะทำการบันทึกทุกอย่างที่คิดได้
ครั้งหนึ่งปลายปีวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2548 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดการศึกษาระดับปริญญาเอกขึ้นครั้งแรกมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 19 ท่าน มีพระภิกษุจำนวน 5 รูป แม่ชี 1 รูปและนักศึกษาฆราวาสอีก 13 คน ครั้งนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดี แม้สุขภาพจะไม่เอื้ออำนวยเจ้าประคุณสมเด็จฯทั้งสองท่านก็ยังมาร่วมเปิดการเรียนการสอนของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ห้องประชุมใหญ่ ในครั้งนั้นเจ้าประคุณสมเด็จทั้งสองได้มอบของที่ระลึกแก่นักศึกษาทุกท่านและให้โอวาทเป็นกำลังใจสรุปความตอนหนึ่งว่า “ดีใจที่ มมร เปิดอสนครบทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สมดั่งปณิธาณที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น ต่อแต่นี้ไปก็หมดห่วงแล้ว จะรอดูว่าปริญญาเอกรุ่นแรกจะจบกี่คน”
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ไม่ทันได้เห็น ดอกเตอร์คนแรกของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพราะมรณภาพไปก่อน แต่เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดมได้เห็นนักศึกษาที่เรียนจบปริญญาเอกรุ่นแรกสองท่านเข้ารับปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ปีที่ผ่านมา
ครั้งหนึ่งเมื่อขอให้เจ้าประคุณสมเด็จฯเขียนเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ธรรมยุตรุ่นที่ 9 ซึ่งตอนนั้นเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามเข้าอบรมเป็นพระธรรมทูตด้วย ทุกคนก็คิดว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯคงเขียนยาวๆ แต่ท่านกลับเขียนสั้นๆเพียงบรรทัดเดียวว่า “คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง หากมีแต่กินๆนอนๆ ขี้ๆ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ทำความดีฝากไว้” ช่างลึกซึ้งถึงแก่นของความมนุษย์ได้ดีแท้
เจ้าประคุณสมเด็จเดินทางไปเยี่ยมพระธรรมทูตทั่วทุกทวีปที่ทำงานเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้สร้างวัดไทยในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเคยบอกเหตุผลว่า “หากวันหนึ่งประเทศไทยไม่มีพระพุทธศาสนาเหลืออยู่ ชาวพุทธก็จะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาได้จากทวีปอื่นๆ เหมือนกับครั้งหนึ่งที่พระพุทธศาสนาได้หายไปจากอินเดียนานถึงเจ็ดร้อยปี ยังดีที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โลกจึงยังคงมีพระพุทธศาสนาให้ได้ศึกษา”
วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 น.(วันนี้) จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ศิษยานุศิษย์ท่านใดจะไปร่วมงานในครั้งนี้ ขอเชิญได้ตามวันเวลาดังกล่าว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
20/03/53