งานพระราชเพลิงศพสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 น.ณ เมรุหลวงหน้าพลับอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ขอเชิญศิษยานุศิษย์เข้าร่วมงานเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาเป็นเอนก วันนี้มาอ่านพระพุทธศาสนากับเวลา 10 นาที ว่าจะจบภายในสิบนาทีตามที่เจ้าประคุณฯบอกไว้หรือไม่
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย สอนหนังสือมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ เมื่อครั้งที่มหามกุฏราชวิทยาลัยเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัยครั้งแรก นอกจากนั้นยังปฏิบัติหน้าที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
แม้จะมีภารกิจมากมายแต่ก็ยังมีเวลาเขียนงานวิชาการฝากไว้ในบรรณพิภพอีกหลายเล่ม วันนี้ลองอ่านพระพุทธศาสนา 10 นาที ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กๆมีเนื้อหาให้อ่านจบภายในสิบนาที ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก
http://www.yanavarodom.mbu.ac.th/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1
พระพุทธศาสนากับเวลา ๑๐ นาที
โดย สมเด็จพระญาณวโรดม(ประยูร สนฺตงฺกุโร)
----------------
1. พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ (เข้าในพระปัญญาคุณ) ของท่านผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากกิเลส (พระบริสุทธิคุณ) และของท่านผู้สอนให้ผู้อื่นรู้ ปลุกให้เขาตื่น (พระกรุณาคุณ)
2. ที่ว่ารู้นั้น คือรู้ว่า นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่สุขที่แท้จริง นี่เป็นเหตุให้ได้สุข
3. พระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นหลักสำคัญกล่าวโดยย่อๆ ดังนี้:
พระพุทธ คือพระพุทธเจ้าผู้ตั้งพระพุทธศาสนา ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน คือพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งแคว้นสักกะ ท่านทรงพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นรัชทายาท ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ ด้วยสมบัติมหาศาล ด้วยพระรูปโฉม ด้วยพระกำลังสามารถ ทรงมีพระชายา มีพระโอรสแล้วท่านทรงสละหมด ทรงออกบวช เพื่อค้นหาธรรมเป็นเครื่องทำให้พ้นทุกข์แล้วนำมาสอนประชาชนให้เขาพ้นทุกข์ ทรงใช้เวลา 6 ปีจึงสำเร็จ ทรงตรัสรู้โดยไม่ได้มีใครสอน สิ่งที่ทรงตรัสรู้นั้น คืออริยสัจของจริงอย่างประเสริฐ แล้วทรงสั่งสอนประชาชน 45 ปี จนปรินิพพาน (ดับ) โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน สิ่งที่ทรงสั่งสอนนั้นเรียกว่า พระธรรม
พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในโลก อันมีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว (ฝ่ายกลาง) ฝ่ายดี คนปฏิบัติแล้วย่อมได้ความสุข ฝ่ายชั่ว คนทำแล้วย่อมได้ความทุกข์ ท่านทรงให้ละความชั่ว ทำแต่ความดี พระธรรมแบ่งเป็นศีลกับธรรม ศีล คือเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ เช่น ศีล 5 เป็นต้น มีผลคือทำให้เป็นสุจริตชน เพราะไม่ฆ่าเขา ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ฉ้อเขา ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ไม่ปดหลอกลวงเขา ไม่ดื่มเหล้า เสพสิ่งเสพติด มีกัญชา ฝิ่น เป็นต้น (เพียงศีล 5 เท่านั้น ถ้าทุกคนพากันรักษาศีลแล้ว ทุกคนจะมีความสุข อย่าว่าแต่ 5 ข้อเลย เพียงข้อเดียวเช่น ข้อ 5 เท่านั้นก็เป็นสุขมากแล้ว ) ส่วนธรรมนั้นเป็นข้อที่ควรปฏิบัติจะนำไปกล่าวในข้อ 4 เป็นต้น
พระสงฆ์ คือสาวกหรือศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ตรง ถูกต้องตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นพยานในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้ค้ำจุน รักษา สร้างความเจริญก้าวหน้าแพร่หลายแก่พระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนด้วยพุทธธรรม ให้ไม่ทำสิ่งที่ชั่ว ให้ทำแต่สิ่งที่ดี เป็นผู้นำพัฒนาบุคคล พัฒนาท้องถิ่น บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยไม่ต้องรบกวนรัฐบาล และท่านเป็นเครื่องหมายแห่งความมีพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัย กล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว ปีหนึ่งก็ยังไม่หมด
4. คำสอนของพระพุทธเจ้า (พระธรรมวินัย) เมื่อกล่าวโดยโดยพิสดารแล้ว มี 84,000 พระธรรมขันธ์ (ใช้เวลาบรรยาย ขันธ์ละวัน 200 ปีก็ยังไม่จบ) แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป หรือที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนาแล้ว มี 3 คือ
1.ไม่ทำความชั่ว.
2. ทำความดีให้สมบูรณ์
3. ทำใจของตนให้บริสุทธิ์ (ทีฆ.มหา.)
ข้อนี้เป็นหลักการ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เช่น ทรงแสดงประเภทของความชั่ว คือวิธีทำความชั่วทางกาย มีฆ่า มีลัก มีประพฤติผิดทางเพศ ทางคำพูด เช่น พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด นินทา เป็นต้น ทางใจ เช่น คิดอยากได้ของเขามาเป็นของตัว คิดโกรธ มีความคิดเห็นผิดความจริง ส่วนประเภทของความดี ทรงแสดงวิธีการทำความดีทางกาย มีไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ทางคำพูด เช่น พูดจริง พูดดี พูดมีสาระ เป็นต้น ทางใจ เช่น ไม่ต้องการของใครมาเป็นของตัว ไม่โกรธอาฆาตใคร มีความเห็นถูกตามความจริง เหล่านี้ เป็นต้น (ทีฆ.มหา. และ ทส.อัง.)
5. พระพุทธเจ้า ตรัสถึงความต้องการของคนทั่วไปว่ามีความต้องการความสุข (จตุก.อัง) ความสุขมี 3 ระดับ คือ ทิฏฐธัมมิกสุข สุขในชีวิตนี้ สัมปรายิกสุข สุขในโลกหน้าหรือในปรโลก กับนิพพานสุข สุขในพระนิพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุให้ได้ความสุขแต่ละระดับดังนี้
สุขในชีวิตนี้ มีสุขเกิดจากความมีทรัพย์ สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ สุขเกิดจากการทำงานที่สุจริต เหตุให้ได้สุขดังกล่าวนี้
ก. ต้องเว้นทางของความล่มจม คืออบายมุข 4-6 มี
1. เป็นนักเลงหญิง
2. เป็นนักเลงสุราและสิ่งเสพติด
3. เล่นการพนัน
4. คบคนชั่วเป็นเพื่อน
และ
1. ชอบดื่มน้ำเมา
2. ชอบเที่ยวกลางคืน
3. ชอบดูการเล่น
4. เล่นการพนัน
5. คบคนชั่วเป็นเพื่อน
6. เกียจคร้าน
(ในจำนวนนี้มีเรื่องคบคนชั่วเป็นเพื่อนซ้ำกัน เพราะเรื่องการคบเพื่อนนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องคบเพื่อนไว้หลายแห่ง แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมาก)
ข. ต้องปฏิบัติเหตุให้ได้ทรัพย์ คือ
1. พร้อมด้วยความขยันเรียน ขยันทำงาน
2. พร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หาได้เอาไว้ (ไม่ใช่ตักน้ำใส่ตะกร้า)
3. คบคนดีเป็นเพื่อน (เรื่องเพื่อนมาอีกแล้ว ถ้าคบเพื่อนเลวพาไป)
4. เลี้ยงชีพพอควรแก่รายได้ (ได้น้อย ใช้น้อยไม่เป็นคนรสนิยมสูง แต่ไม่มีเงิน ไม่ทำงาน) (อัฏฐ.อัง.)
เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นรวยแน่ มีทรัพย์แน่ เมื่อมีทรัพย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงสอนถึงวิธีใช้ทรัพย์อีกว่า
1. เลี้ยงตัวเอง กับคนภายใน เช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย เป็นต้น
2. เลี้ยงคนภายนอก เช่น เพื่อน
3. ใช้ขจัดอันตราย
4. ใช้ทำพลี เช่น สงเคราะห์ญาติ เสียภาษี เป็นต้น
5. ใช้ทำบุญ (ปัญ.อัง)
6. ตระกูลเคยมั่งคั่ง มาตอนหลังกลับยากจน
ข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า
1. เป็นเพราะไม่หาของหายปล่อยให้หายชื้อหาใหม่
2. ของใช้เสียแล้วทิ้ง หาใหม่ ไม่ซ่อมแซมแก้ไขใช้ทั้ง ๆ ที่ซ่อมได้แก้ไขได้
3. ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่ายใช้เงินใช้ของไม่เป็น
4. ตั้งหญิงหรือชายเลวเป็นแม่บ้านพ่อบ้าน ตัวก็โง่กว่าเขา เมื่อเป็นอย่างนี้ มีเท่าไรก็หมด
(จตุก.อัง)
7. อยู่ร่วมหมู่บ้านเดียวกัน
พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีที่จะปฏิบัติต่อกันไว้ดังนี้
1. ให้ข้าว ให้น้ำ ให้สิ่งของแก่เพื่อนบ้าน
2. พูดต่อกันดี ๆ ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่นินทากัน ไม่ใช้คำหยาบคายต่อกัน
3. ช่วยเหลือกันและกันในธุรกิจต่าง ๆ
4. ทำตัวให้เข้ากันและกันได้ (จตุก.อัง)
เมื่อเป็นอย่างนี้ หมู่บ้านจะมีแต่ความสามัคคีเจริญก้าวหน้า คนในบ้านนั้นจะเป็นที่รักของคนทั่วไป
8. วิธีสร้างความยากจน หรือวิธีทำลายอนาคต
เรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า
ก. ความจนเป็นทุกข์ในโลก ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ การเสียดอกเบี้ย การถูกทวงหนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก (ฉัก.อัง)
ข. วิธีสร้างความยากจน ความเสื่อมในชีวิต ทำลายอนาคตไม่ยาก มีดังนี้
1. เป็นนักเลงหญิง
2. นักเลงเหล้า ติดสิ่งเสพติด
3. นักเลงหัวไม้
4. เป็นนักเที่ยวกลางคืน
5. เป็นนักเที่ยวดูการเล่นสนุกสนานจนเกินประมาณ
6. เกียจคร้านในการเรียนในการทำงาน
(ปกฏิ.ทีฆ.จตุก.อัง)
(อย่าว่าแต่ 6 ข้อเลย เพียง ข้อ 5 ก็พอแล้ว ที่จะเป็นอย่างนั้น)
เพื่อน ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ดูคนว่า คนไหนควรคบคนไหนไม่ควรคบไว้มากแห่ง โดยเฉพาะคนที่ไม่ควรคบ เช่น
1. คนหลอกลวง คิดเอาจากเพื่อนข้างเดียว
2. ดีแต่พูด พึ่งพาไม่ได้
3. ประจบเอาใจ คล้อยตามทุกอย่าง ต่อหน้ายกย่อง ลับหลังนินทา
4. ชักชวนในทางเสียหาย เช่น ชวนให้ดื่ม ให้เล่นการพนัน เที่ยวผู้หญิง
หรือ
1. ชอบพูดปด
2. เย่อหยิ่ง
3. พูดมาก
4. ขี้อวด
5. ยกตนเอง
6. เป็นคนโลเล (ฉัก.อัง.)
เมื่อคบคนที่มีลักษณะอย่างนี้ คนคบก็จะเป็นไปตามด้วย (ปาฏิ.ที) ส่วนคนที่ควรคบนั้น นอกจากมีลักษณะตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ควรคบแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้
1. คนให้ความช่วยเหลือ
2. คนร่วมทุกข์ร่วมสุข
3. คนแนะนำแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์
4. คนมีความรัก
9. ลักษณะคนดี คนเลว
พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของคนดีไว้ 7 ประการ คือ
1. รู้เหตุ
2. รู้ผล
3. รู้จักตน รู้จักหน้าที่
4. รู้จักประมาณในการต่าง ๆ เช่น ในการพูด ในการกิน ในการใช้จ่าย ในการเงิน ในการนอน เป็นต้น
5. รู้จักใช้เวลาให้ถูกกับภาวะนั้น ๆ
6. รู้จักสังคม แล้วทำตนให้เข้ากับเขาได้ เว้นแต่สังคมคนเลว
7. รู้จักบุคคลว่า คนนี้เป็นอย่างนี้ ควรคบ คนนั้นมีนิสัยอย่างนั้น ไม่ควรคบเป็นต้น (สัต.อัง.)
ส่วนลักษณะของคนชั่วนั้น นอกจากจะมีลักษณะดังกล่าวแล้วในเรื่องเพื่อน ยังมีอีก คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว (ติก.อัง) และยังมีที่ร้ายแรงอีก คือ
1. ฆ่าผู้หญิงได้
2. ชอบเป็นชู้เขา
3. ประทุษร้ายเพื่อน
4. ฆ่าพระได้
5. เห็นแก่ตัวจัด (ชา.ขุ.)
10. พระพุทธเจ้า ทรงแสดงลักษณะของการอยู่ร่วมของฆราวาส
นอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 7 ยังทรงแสดงหลักการอื่นอีก คือ
1.มีสัจจะต่อกัน
2.มีความข่มใจ ข่มอารมณ์
3.อดทน
4.เสียสละ (ส.สัง.)
และ
1.เป็นคนเรียบร้อย
2.มีหลักใจ
3.ไม่ประมาทในชีวิต ในวัย เป็นต้น
4.ฉลาด
5.ถ่อมตน
6.ไม่ตระหนี่
7.สงบ
8.สุภาพ พูดดี (ชา.ขุ.)
ยังมีอีก ข้อนี้เรียกว่า ฆราวาสธรรม ส่วนบรรพชิตธรรมนั้น ทรงแสดงว่า ภิกษุต้องปฏิบัติพระวินัย คือ ศีล 4 มี
1.ปาฏิโมกขสังวร
2. อินทรียสังวร
3.อาชีวปาริสุทธิ
4.จตุปัจจเวกขณะ
และ
1.สำรวมกาย วาจา
2.พอใจในธรรม
3.มีใจมั่นคง อดทน
4.ไม่เอิกเกริกเฮฮา
5.รู้จักพอ (สันโดษ) (ชา.ขุ.)