การกินอาหารแต่ละมื้อ เป็นช่วงระยะเวลาเติมเต็มความสุขให้ชีวิต ที่คนเราทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ จะได้มอบรางวัลมื้ออาหารพิเศษอร่อย ๆ ให้เป็นกำไรแก่สุขภาพเพิ่มมูลค่าเพิ่มทุนแก่ร่างกาย แต่สถานการณ์สังคมโลกปัจจุบันถูกจังหวะเวลากระชับพื้นที่อย่างจำกัด ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯและเขตปริมณฑล ต้องเสียเวลาสาระวนอยู่กับการเดินทางที่บีบรัดด้วยหน้าที่การงาน ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเร่งรีบทำให้คนเราขาดการใส่ใจลืมดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการอยู่การกินที่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งวัฒนธรรมการกินแพร่หลายเข้ามาในประเทศ
โอกาสแห่งการกินที่ขาดสติยิ่งเพิ่มทวีคูณนำไปสู่พฤติกรรมกินที่ขาดสติเอาเร็วเข้าว่า ถือสะดวกเป็นหลัก เอ่อออตามเพื่อน บ่อยเข้ามากเข้า สั่งสมนานขึ้น ก่อเกิดวัฒนธรรมฝากท้องไว้กับร้านอาหารตามทางเท้า ตามห้าง หรือไม่ก็ร้านสะดวกซื้อ ที่กระจายอยู่ทั่วตามเมืองใหญ่ จริง ๆ แล้วถือว่าไม่ผิดที่ต้องเลือกกินแบบนั้น เพราะแต่ละคนต่างมีเหตุผลมาหักล้าง
แต่ผิดตรงที่พฤติกรรมการกิน ที่มีพฤติกรรมการกินด่วน กินเร็ว กินมาก กินน้อย กินหวาน กินเค็ม กินไม่เหมาะกับเวลา กินไม่สะอาด ขาด ๆ เกิน ๆ กินอย่างเร่งรีบกินสักว่ากิน และพฤติกรรมการกินเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นรังแห่งโรคให้สำแดงพิษเร็วขึ้น
เหมือนกำลังเร่งปฏิกิริยาทางเคมีให้อกุศลเชลล์ในร่างกายสำแดงโรคเร็วขึ้น เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคขาดสารอาหาร ฯลฯ คอยบั่นทอนสุขภาพร่างกาย ลิดลอนศักยภาพหน้าที่การงานให้ด้อยประสิทธิภาพลง เพราะหลงสติละเลยธรรมะก่อนและหลังกินอาหารในชีวิตประจำวัน
การฝากความหวังไว้กับคนอื่นเหมือนยืมจมูกเขาหายใจ แทนที่การรับประทานอาหารจะเป็นห่วงโซ่แห่งความสุข ได้อาหารที่มีคุณภาพ ได้มอบรางวัลสุขภาพที่ดีให้แก่ชีวิต ได้รับสารอาหารครบถ้วน ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอตามร่างกาย กลับกลายเป็นช่วงเวลาการเติมใส่อาหารขยะแทรกเข้าแทนที่ บ่มเพาะโรคร้ายเข้าสู่ร่างกายด้วยความจงใจ
การขาดการพิจารณาว่าอาหารเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายหรือไม่ เหมาะสมกับโรคหรือไม่ เหมาะสมกับวัยหรือไม่ มากหรือน้อยเกินหรือไม่ กินอาหารที่ไม่สมดุลกับพลังงานที่สูญเสียไปในแต่ละมื้อและผิดสุขลักษณะ เรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่าดำเนินชีวิตอย่างประมาทเข้าตำรากินแหลกแลกโรค
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนและความรักเสมอด้วยตนไม่มี พุทธพจน์สองบทนี้ชี้ชัดว่า การแบ่งเวลาให้กับตนเองให้กับสุขภาพ ยอมสละเวลาสักนิดพิจารณาอาหารที่จะรับประทานในแต่ละมื้อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของบริโภคที่เกินพอดี ให้กินเพื่ออยู่กินตามหิว ไม่ใช่อยู่เพื่อกินหรือกินตามอยาก ก่อนหยิบอาหารสักอย่างผ่านปากล้วงลำคอลงสู่กระเพาะ ควรเจริญวิปัสสนากำหนดรู้อารมณ์ หรือจะทำสิ่งใดต้องพิจารณาให้ละเอียดในสถานการณ์ปัจจุบันว่า เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ฝึกให้เป็นนิสัยก่อนตัดสินใจกลืนกินอาหารลงกระเพาะ
การสร้างเสริมสุขภาพให้ดีสามารถทำได้ด้วยการกลัวกรรมชั่ว เพียงแค่เสียสละเวลาสักนิดพิจารณาก่อนกิน ไม่กินแหลก คิดก่อนกิน ก็ไม่ต้องแลกโรค มีแต่จะได้รับสารอาหารช่วยสร้างสมดุลทำให้ผิวพรรณสดใส ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันชะลอวัยให้โรคน้อยลง ช่วยตัดรายจ่ายจากการที่จะต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ และเพิ่มกำไรชีวิตมีสุขภาพอายุยืนยาว
เรื่องการกินไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แค่ไม่ใส่ใจรายละเอียดชีวิตอาจดับดิ้นได้ง่าย ปัจจุบันสถิติคนตายจากการอดอยากมีจำนวนลดลง แต่ตายจากโรคที่มีผลมาจากการกินเพิ่มสถิติมากขึ้นทั่วโลก
พระพุทธองค์ทรงดำริให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการฉัน(กิน-ดื่ม)ของภิกษุภิกษุณี คือทรงบัญญัติ(ออกระเบียบ)เรื่องการฉัน(กิน-ดื่ม)ไว้ในพระวินัยปิฏก ความสำคัญเรื่องอาหารไว้ในปาจิตตีย์ หมวดโภชนวรรค ปาฏิเทสนียะ และเสขิยวัตร หมวดโภชนปฏิสังยุต เพื่อที่จะให้ภิกษุและพุทธบริษัทปฏิบัติตาม จะได้มีสุขภาพร่างกายที่สดใหม่อยู่เสมอ ถึงพร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ใช้ประโยชน์ทางร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ท่านผู้ปรารถนามีชีวิตยืนยาวพึงคิดก่อนกินทุกลมชีวิต อย่าได้กินแหลกแลกโรคลงโลง
โมกขสิทธิ์
30/04/55
หมายเหตุ: โมกขสิทธิ์ส่งบทความมาร่วมเผยแผ่สี่เรื่อง ตอนนี้เรื่องสุดท้ายแล้ว กำลังรอเรื่องต่อไป
ส่วนผู้อ่านท่านอื่น มีบทความที่อยากจะเผยแผ่ขอเชิญได้ ส่งมาที่