เย็นวันหนึ่งสุธัมโมกำลังเดินจงกรมข้างๆที่พัก ได้ยินเสียงป่าไม้ไหวลู่เหมือนกำลังมีสัตว์ป่าตื่นกลัว ตามปกติแล้วตามต้นไม้ที่ข้างทางจงกรมจะมีสัตว์ป่าเช่นกระรอก กระแต มาป้วนเปี้ยนให้เห็นอยู่เป็นประจำ แต่วันนั้นต่างกันไป เพราะป่าไหวมาจากด้านล่าง สุธัมโมยังคงเดินจงกรมต่อไป
ไม่นานนักเมื่อความเงียบสงบมาเยือน สุธัมโมยังคงเดินกลับไปกลับมา พลันสายตาก็ประสบพบเข้ากับเจ้าหางกุดนอขดตัวนิ่งสงบ ณ ที่สุดทางจงกรม สุธัมโมตั้งสติได้จึงยืนกำหนดจิตเพ่งไปยังเจ้างูเหลือมตัวนั้น “สวัสดี พี่สาว น้องไม่รู้ว่าพี่พึ่งสูญเสียสามีไป ขอแสดงความเสียใจด้วย ชีวิตก็เป็นแบบนี้มีทุกข์มีสุขคละเคล้ากันไป ภาษาพระเรียกว่าโลกธรรมแปดคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ ผสมกันอยู่ วันนี้น้องดีใจที่พี่สาวมาเยือน เอาเถอะมาปฏิบัติธรรมร่วมกันแต่พี่ไม่ต้องเดินนะ นอนอยู่เฉยๆก็ได้ แต่ขอให้กำหนดจิตแผ่ส่วนกุศลไปยังผู้ที่ทำร้ายสามีพี่ ให้อภัยเขา ชาติหน้าเกิดพี่จะได้เกิดเป็นมนุษย์มีเวลาทำความดีได้เต็มที่” พูดจบสุธัมโมภิกขุก็เดินจงกรมต่อไป
ท่านสุธัมโมเล่าต่อไปว่าว่า “เป็นเรื่องแปลกจะเป็นเพราะอุปาทานนึกเอาเองหรือจะเป็นเพราะเจ้าหางกุดฟังภาษามนุษย์รู้เรื่องก็สุดจะคาดเดา งูเหลือมตัวนั้นนอนนิ่งไม่ติงไหวตลอดเวลาที่สุธัมโมเดินจงกรม จนกะทั่งตะวันลับฟ้า ความมืดได้แผ่คลุมพื้นที่ อากาศเริ่มหนาวเย็น สุธัมโมจึงเอ่ยขึ้นเบาๆว่า “ไปเถอะวันนี้พอแค่นี้ กลับไปพักผ่อนให้สบาย พรุ่งนี้ถ้าว่างค่อยมาใหม่” ขาดคำเจ้าหางกุดก็เลื้อยหายลับไปในราวป่า เหลือไว้แต่ความเงียบสงัด
วันต่อมาเจ้าหางกุดมักจะแวะเวียนมาให้เห็นประจำบางครั้งมาหลบนอนใต้ถุนกุฎิ มันยังคงนิ่งเงียบไม่มีอาการดุร้ายให้เห็น แว็บหนึ่งแห่งความคิด สุธัมโมคิดถึงหญิงแม่ลูกอ่อนที่พึ่งสูญเสียสามีไป อาการเหงาเศร้าซึมที่เจ้าหางกุดแสดงออกมีอาการคล้ายมนุษย์ที่ตกอยู่ในสภาวะแห่งการสูญเสีย ผมกลายเป็นเหมือนญาติสนิทกับเจ้าหางกุด แต่ก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เธอก็คงรู้คอยวนเวียนห่างๆ
“หากผมเล่าให้คนอื่นฟังเขาคงหัวเราะ หาว่าผมบ้า ฟังแล้วเงียบไว้ คนที่ไม่เชื่อจะหาว่าท่านพลอยบ้ากับผมไปด้วย” ท่านสุธัมโมปิดการสนทนา
เรื่องนี้ฟังแล้วไม่ต้องคิดมากอย่าพึ่งเชื่อหรือไม่เชื่อ ประสบการณ์ทางจิตเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะจิตที่มีพลังย่อมสามารถใช้งานได้แม้แต่กับสัตว์ดิรัจฉาน เขาเหล่านั้นก็มีจิตเหมือนมนุษย์เพียงแต่สภาวะของการแสดงออกอาจไม่เหมือนกัน ในพุทธประวัติมีเรื่องที่พระพุทธเจ้าไปจำพรรษาโดยมีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก
ในยุคสมัยปัจจุบันก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับงูจงอางที่วัดหนองป่าพง มีเรื่องอยู่ว่า “วัดหนองป่าพงช่วงแรกๆมีงูจงอางหางกุดอยู่ตัวหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภัทโท เรียกมันว่าไอ้หางกุด ตอนเช้าเมื่อหลวงพ่อออกไปบิณฑบาต มันก็เลื้อยตามทับรอยเท้าของหลวงพ่อไปด้วย แต่หลวงพ่อไม่เคยเห็น จนกระทั่งชาวบ้านร่ำรือกันว่าหลวงพ่อเอางูจงอางมาบิณฑบาตด้วย หลวงพ่อจึงคอยสังเกตดูจนกระทั่งพบรอยงูเลื้อย จากวัดจนกระทั่งถึงศาลพระภูมิทางเข้าหมู่บ้านรอยงูก็หายไป พอหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตมันก็เลื้อยตามหลวงพ่อจนถึงวัด จากนั้นเวลาที่หลวงพ่อชาจะออกบิณฑบาตจึงได้พูดกับงูจงอางตัวนั้นว่า “เจ้าหางกุดอย่าไปบิณฑบาตกับอาตมานะ คนเขากลัว”ต่อมาท่านจึคงได้บอกกับเจ้าหางกุดว่า “ให้หลบหนีเข้าไปหาที่อยู่ในป่ารกทึบเสียเถอะ อย่าออกมาให้คนเห็นอีก เพราะวัดนี้จะมีคนมามากขึ้น คนเขาจะกลัว” กาลเวลาต่อมาก็ไม่มีใครเห็นเจ้างูจงอางหางกุดอีกเลย
เจ้างูเหลือมหางกุดที่เขาชีโอน วัดญาณสังวราราม ชลบุรี กับเจ้างูจงอางหางกุด ที่วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี แม้จะต่างสถานะกัน แต่พฤติกรรมใกล้เคียงกัน แสดงว่าแม้แต่สัตว์ร้ายก็ยังมีสัญชาติญาณรับรู้ได้ถึงพลังแห่งความเมตตา แล้วพวกมนุษย์แท้ๆไฉนหลงลืมเมตตาธรรมไปได้
ผู้มีเมตตาย่อมไม่มีเวรและภัยแก่ใครดังที่ปรากฎในมณิภัททสูตรที่ อังคุตตรนิกาย สคาถวรรค (15/813/250)ความว่า "ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ" เมตตาธรรมนี่แหละคือธรรมค้ำจุนโลกดังที่มีพุทธภาษิตยืนยันไว้ว่า "โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา"..... สาธุ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เล่าเรื่อง
17/03/53