ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          เมื่อครั้งที่ไปบรรยายให้กับนักศึกษาภาควิชาการจัดการเทคโนโลยี แขนงวิชาการจัดการอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยราฎภัฏจันทรเกษมในหัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต” มีคำถามหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ใช่คำถามแต่เป็นเหมือนการขอความเห็นว่า “ทำไมคนที่เรียนเก่งมักจะทำงานเข้ากับใครเขาไม่ค่อยได้” จากนั้นนักศึกษาท่านนั้นก็ยกตัวอย่างอีกหลายคนที่ประสบปัญหาแบบนี้ การบรรยายเลยเปลี่ยนเป็นการไปนั่งฟังนักศึกษาเหล่านั้นเล่าประสบการณ์ให้ฟัง คนบรรยายเลยสบายไม่ต้องพูดมาก
 

 

          การเรียนเก่งหรือเก่งตอนเรียนกับการทำงานเก่งนั้นต่างกัน ต้องแยกประเด็นให้ออก คนเรียนก่งอาจจะทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ดีก็ได้ หรือคนที่เรียนเก่งอาจจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีก็ได้ คำถามในทำนองนี้จึงตอบอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาแต่อยู่ที่ความปรารถนาภายในของแต่ละคน บางครั้งคนที่เรียนหนังสือไม่เก่งหรือไม่จบปริญญาก็สามารถประสบความสำเร็จได้มีตัวอย่างให้เห็นมากมายเช่นสตีฟ จ๊อบส์ ผู้บริหารบริษัทแอฟเปิล นั่นก็ไม่ได้เรียนจบปริญญาชั้นไหนเลย แต่ก็สามารถสร้างสินค้าด้านไอทีโด่งดังไปทั่วโลก กลายเป็นเศรษฐีและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็ล้มเหลวในการมีชีวิตอยู่ เพราะเขาเสียชีวิตในขณะที่อายุยังไม่ถึงหกสิบปี

          นักร้องหญิงไทยคนหนึ่งได้รับการขนานนามว่าราชินีลูกทุ่ง เอ่ยนามก็ได้พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธอก็เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่สอง อ่านหนังสือไม่ออก แต่ร้องเพลงได้ จำเนื้อเพลงได้จากคำบอกของคนอื่น(ดูจากภาพยนตร์) แต่น้ำเสียงของเธอสะกดผู้ฟังมีเสน่ห์ คนฟังเพลิดเพลินและเข้าถึงอารมณ์เพลงได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างเช่นเพลงๆหนึ่งว่า “มองลิบลิ่วแถวทิวพนา ใกล้ค่ำย่ำสนธยา หมู่นกกาก็คืนสู่รัง.......” ฟังแล้วเห็นบรรยายกาศของชาวไร่ชาวนา  คนประพันธ์เพลงก็เก่ง คนร้องก็ถ่ายทอดน้ำเสียงได้อย่างเข้าถึงอารมณ์เพลง เธอเป็นนักร้องที่โด่งดัง แต่ก็เสียชีวิตในวัยเพียงสามสิบกว่าปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพลงของเธอยังมีคนนำมาร้องใหม่ ฟังเมื่อใดก็ยังมองเห็นภาพ
          นักศึกษาภาควิชาการจัดการเทคโนโลยี แขนงวิชาการจัดการอุตสาหกรรมกำลังจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีกำลังจะออกไปประกอบอาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนมา จึงอยากได้วิธีการและแนวทางในการอยู่ร่วมกับคนอื่น พวกเขาเรียนวิชาชีพ แต่ยังขาดวิชาชีวิต

           วันหนึ่งได้พบกับพระเมธีธรรมสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล จึงถามท่านว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ท่านเจ้าคุณฯบอกสั้นๆว่า “อยู่พอดี มีพอใช้ ใจเป็นสุข” ที่เหลือท่านมหาไปขยายความเอาเอง อย่างนั้นก็ต้องขออนุญาตพระเดชพระคุณฯ สาธยายเอาเองก็แล้วกัน

 

          “อยู่พอดี” อะไรคือความพอดี ยิ่งในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก มีสินค้าใหม่ๆออกมาจำหน่ายไม่เว้นแต่ละวัน มีคนเสนอแนะให้ซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่คนนิยมกันนั่นคือไอโฟน แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วรุ่นเก่าที่ใช้มาสามปีก็ยังใช้ได้ แม้จะตกรุ่นไปนานแล้ว แต่คุณภาพในการใช้งานก็ยังใช้ได้ดี หากคิดว่าโทรศัพท์มีไว้ติดต่อสื่อสาร ไม่ใช่มีไว้ถ่ายภาพ รุ่นเก่าก็ยังใช้ได้ หันมาดูคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา นี่ก็ใช้มาจะเข้าปีที่ห้าแล้ว ซ่อมเพียงครั้งเดียว ทุกอย่างก็ยังทำงานเป็นปรกติ เชื่อต่ออินเทอร์เน็ตได้สามารถเขียนบทความหรือเรื่องราวต่างๆเผยแผ่ทางเว็บไซต์ได้ สรุปว่ายังไม่ถึงเวลาเปลี่ยน นี่คืออยู่อย่างพอดีของหลวงตาไซเบอร์ฯ ส่วนคนอื่นๆต้องหาเอาเองว่า “ความพอดี” อยู่ตรงไหน
          มีสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วบรรเทาได้ยาก เรียกว่าธรรมที่บรรเทาได้ยากห้าประการ ดังที่แสดงไว้ในทุพพิโนทยสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต(22/160/166) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมห้าประการนี้เกิดขึ้นแล้วบรรเทาได้ยากคือราคะ โทสะ โมหะ  ปฏิภาณ และจิตคิดจะไป” สี่ประการเบื้องต้นพอเข้าใจได้ แต่คำว่า “จิตคิดจะไป” มาจากภาษาบาลีว่า “คมิกจิตฺตํ” อธิบายยากหน่อย  โบราณว่าไว้ว่า “ฝนจะตก แดดจะออก พระจะลาสิกขา ห้ามไม่ได้” จิตคิดจะไปถึงจะห้ามอย่างไรก็เอาไว้ไม่อยู่ สู้ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา

 

          “มีพอใช้” การที่จะมีก็ต้องแสวงหา จู่ๆจะให้เกิดมีขึ้นมาโดยไม่แสวงหานั้น นอกจากลาภลอยหรือมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษแล้ว อันอื่นยังคิดไม่ออก  มนุษย์จำเป็นต้องมีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติไว้จับจ่ายใช้สอย ยังไม่เคยได้ยินใครพูดว่า “ผมรวยพอแล้ว”  “ผมพอแล้ว” หรืออาจจะมีคนพูดบ้าง แต่หลวงตาไซเบอร์ฯไม่ได้ยินเอง เคยได้ยินแต่คนพูดว่า “เกิดมาจน” “เป็นคนจน” “หาเช้ากินค่ำ” หรือว่าโลกนี้เพราะโลกนี้มีคนจนมากกว่าคนรวย  มีนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่งกล่าวคำที่น่าคิดว่า “ผมไม่เชื่อว่าคนรวยจะไม่โกง”  คนรวยบางคนอยู่ในประเทศที่เป็นบ้านเกิดของตนเองไม่ได้ก็มี
          “ใจเป็นสุข”  หากมนุษย์ “อยู่พอดี มีพอใช้” ก็จะนำไปสู่ “ใจเป็นสุข”  แต่ทว่าความสุขก็มีหลายประเภท จะเลือกสุขแบบไหนในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (20/313-315/75) แสดงความสุขไว้หลายประการเช่น “   ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้คือ สุขอิงอามิส (สุขอาศัยเหยื่อล่อ สุขจากวัตถุคือกามคุณ และสุขไม่อิงอามิส (สุขไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ สุขปลอดโปร่งเพราะใจสงบหรือได้รู้แจ้งตามเป็นจริง) บรรดาสุข สองอย่างนี้สุขไม่อิงอามิสเป็นเลิศ
          อีกข้อหนึ่งความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขสองอย่างนี้ คือกายิกสุข (สุขทางกาย) และเจตสิกสุข (สุขทางใจ) บรรดาสุขสองอย่างนี้ เจตสิกสุขเป็นเลิศ

 

 

          ยังมีความสุขอีกหลายประเภท วันนี้สาธยายมามากแล้ว เอาไว้วันต่อไปค่อยว่ากันอีกที ตกลงว่าวันนั้นพูดไปหลายเรื่อง แต่ข้อคำถามที่ว่า “ทำไมคนที่เรียนเก่งมักจะทำงานเข้ากับใครเขาไม่ค่อยได้” ไม่ได้ตอบ เพราะยังไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี อีกอย่างยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ และยังไม่เชื่อว่าคนเรียนเก่งจะทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้  แต่มนุษย์ประเภทอัจฉริยะก็มักจะมีอะไรที่แปลกกว่าคนอื่น หากมนุษย์มีความตั้งใจจริงย่อมเลือกได้ว่าจะอยู่อย่างไร จะทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร และจะเลือกมีความสุขอย่างไร ข้อเสนอที่ว่า “อยู่พอดี มีพอใช้ ใจเป็นสุข” ลองนำไปพิจารณาดู อธิบายขยายความใหม่ได้

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน

20/02/55

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก