การเดินทางนั้นส่วนมากจะกำหนดจุดหมายปลายทางไว้ล่วงหน้า กำหนดเส้นทาง เตรียมตัวในการเดินทาง จากนั้นจึงออกเดินทางไปยังจุดหมาย แต่ทว่าเป้าหมายของชีวิตอยู่ที่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดปลายทางแห่งชีวิตไว้ล่วงหน้า วาระสุดท้ายของชีวิตจะสิ้นสุดลงตรงไหน จะมีใครสักกี่คนที่เดินทางไปถึงจุดหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ดั่งที่ตั้งปณิธานไว้ มนุษย์เรากำลังเดินมุ่งหน้าไปที่ใด จุดปลายทางของชีวิตอยู่ที่ไหนกันแน่
อาจารย์ถนอม บุตรเรือง อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอาจารย์สอนภาษาอังกฤษแก่ผู้เขียน เคยพูดให้ฟังตอนหนึ่งว่า หากอยากจะมีชื่อเมื่อตายไปแล้ว ไม่มีงานไหนที่คนจะจดจำได้มากเท่ากับการเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง และหนังสือเล่มนั้นต้องเขียนในเชิงนวนิยาย เพราะนวนิยายไม่มีใครลอกเลียนแบบใครได้ หากเขียนงานวิชาการสักวันหนึ่งต้องมีคนล้มล้างทฤษฎีที่เราค้นพบจนได้ คนก็จะจำจดทฤษฎีใหม่ งานของเราก็จะถูกลืมเลือนไปในที่สุด
พยายามมาหลายปีแล้วมีโครงร่างนวนิยายหลายเรื่อง แต่เมื่อลงมือเขียนไม่เคยเขียนจบสักเรื่อง จึงหันมาคิดเรื่องใหม่โดยการเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยว แต่ก็ไปไม่รอด เพราะปีหนึ่งจะได้ออกเดินทางจริงๆเพียงไม่กี่ครั้ง และการเดินทางแทบทุกครั้งก็เป็นการทำงานไม่ค่อยได้ไปเที่ยว ความหมายของการเดินทางไปทำงานกับการเดินทางท่องเที่ยวความรู้สึกต่างกัน
แม้ว่าจะเคยเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง แต่ที่รู้สึกว่าเดินทางไปท่องเที่ยวจริงๆนั้นมีเพียงไม่กี่ครั้ง หากไปท่องเที่ยวส่วนมากก็จะไปกับขบวนทัวร์ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน ดูอะไรมากไม่ค่อยได้ เพราะมีคนอื่นๆทีเฝ้ารอและมีตารางการเดินทางที่กำหนดไว้ชัดเจน การเดินทางแบบนี้จึงเพียงแต่ได้เห็น โดยไม่ได้ซึมซับกับสุนทรียภาพมากนัก ทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา แม้แต่การถ่ายภาพก็ต้องรีบ เพราะหากขืนโอ้เอ้คนที่รอก็จะมองหน้าโดยมีการตั้งคำถามด้วยสายตา
ส่วนการเดินทางไปทำงานในฐานะพระธรรมทูตไปประชุมหลายประเทศ ชีวิตจึงเหมือนถูกขังอยู่ในห้องประชุม จะไปไหนก็ไม่สะดวก ต้องบันทึกการประชุม ถ่ายภาพ สรุปการประชุม แม้จะมีเวลาเที่ยวชมสิ่งต่างๆแต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่เจ้าของงานอยากให้เห็น สิ่งที่เราอยากไปดูไม่ค่อยได้ไป บางครั้งเพียงแค่คนผ่านทางเท่านั้น บันทึกการเดินทางจริงๆจึงไม่ได้มีรายละเอียดทางวิชาการมากนัก จึงเป็นได้เพียงความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับความแปลกใหม่
ที่มีความรู้สึกว่าไปท่องเที่ยวจาริกจริงๆกลับเป็นการเดินทางที่ไปไม่ถึงจุดหมาย ครั้งหนึ่งที่เมืองปัตตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ตอนนั้นหลงทางในเมืองที่ไม่รู้จักใครเลย มีผู้คนมากมายเดินสวนไปมาแต่ไม่รู้จักแม้แต่คนเดียว แต่ทว่ารับรู้ได้ถึงความสุขของการจาริกแสวงบุญที่ชาวอินเดียส่วนหนึ่งยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางแห่งชีวิต
ครั้งนั้นตั้งใจว่าจะเดินทางไปยังพุทธคยา เริ่มต้นจากกุสินาราซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันเท่าใดนัก ขึ้นรถไฟโดยการเดินทางคนเดียว ไม่รู้จักใครซื้อตั๋วเองกำหนดตารางการเดินทางเอง ต้องคอยถามเส้นทางกับเพื่อนผู้โดยสารชาวอินเดียคนอื่นๆ ว่ารถไฟไปถึงไหนแล้ว ซึ่งคนอินเดียส่วนมากจะยินดีบอก แต่ก่อนที่จะถึงพุทธคยายังมีเวลาพอ และน่าจะไปดูวัดอโศการามซึ่งมีความสำคัญคือเป็นสถานที่ทำสังคายนาครั้งที่สาม ภายหลังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ปกครองประเทศอินเดียในสมัยนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ได้ทรงให้ความอุปถัมภ์โดยทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ขึ้นในปี พ.ศ.236 ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ เมืองปัตตนะ เมืองหลวงของรัฐพิหาร) ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน หลังจากสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเสร็จสิ้นแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้จัดคณะพระธรรมทูตออกเป็น 9 คณะแล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆนับเป็นจุดเริ่มต้นของพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกประเทศอินเดีย
ปัจจุบันวัดอโศการามอยู่ที่เมืองในเมืองปัตตนะ จึงลงรถไฟที่สถานีปัตตนะ นั่งอยู่ที่สถานีจนสว่างพอรุ่งเช้าดวงอาทิตย์สีทองกลมโตโผล่พ้นยังขอบฟ้าทางบุรพทิศเป้นสัญญษณบอกเวลาแห่งทิวาวารก็เริ่มออกเดินทาง ถามคนอินเดียไปเรื่อยๆว่า “วัดอโศการาม” อยู่ที่ไหน ตามธรรมชาติของคนอินเดียจะรู้ไปเสียทุกเรื่อง ถามใครที่บอกว่าไม่รู้แทบจะไม่มี ทุกคนรู้หมด แต่รู้ไม่จริง เรียกว่า “ไม่รู้แต่ชี้”เพราะมีแต่คนอยากบอกทาง แต่ชี้ไปคนละทาง ขึ้นรถโดยสารไปครึ่งค่อนวันก็ยังหาวัดอโศการามไม่พบ
เปลี่ยนรถโดยสารหลายคันก็ยังเดินทางไปไม่ถึงไหน ดูเหมือนจะยิ่งไกลจุดหมายออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็มืดค่ำต้องขอนอนที่วัดของพระฮินดูที่เรียกว่า “สาธุ” วัดหนึ่ง นักบวชที่เรียกว่าสาธุจะนุ่งห่มผ้าออกสีเหลืองหรือสีส้มแต่ไม่โกนผม ยังคงไว้ผมยาวตามปรกติแต่ก็ถือว่าเป็นนักบวช สาธุท่านนั้นอยู่รูปเดียวเมื่อบอกว่าฉันก็เป็นนักบวชเหมือนกันห่มผ้าสีใกล้เคียงกัน สาธุจึงอนุญาตให้นอนพักได้ แต่ต้องจ่ายค่าที่พักประมาณหนึ่งร้อยรูปี ผู้เขียนถวายนักบวชท่านนั้นไปตามที่ท่านต้องการพร้อมทั้งแจ้งความประสงค์ว่าพรุ่งนี้ขออาหารเช้าหนึ่งมื้อ พอได้เงินนักบวชท่านนั้นก็ชวนคุย ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นทั้งคู่ สาธุท่านนั้นจึงใช้ภาษาฮินดีแทน ผู้เขียนก็เปิดหนังสือสนทนาภาษาฮินดีประกอบไปด้วย จึงพอคุยกันด้วยเรื่องธรรมดาได้บ้าง หากไม่รู้เรื่องจริงๆก็ใช้ภาษามือแทน บางครั้งการสนทนากันแม้ภาษาจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อต่างคนต่างพูดกันคนละภาษา ภาษามือก็เป็นสิ่งที่พอทดแทนได้ คืนนั้นจึงหลับสนิทภายในอารามชนบทเมืองปัตตนะอันเป็นที่พักของสาธุท่านนั้น
อาหารเช้าที่สาธุนำมาถวายในเช้าวันนั้นเป็นเพียงจาปะตี(แป้งทอด)สามแผ่น ปรกติหากขายตามสถานที่ทั่วไปก็น่าจะมีราคาแผ่นละหนึ่งรูปี พร้อมกับเครื่องปรุงที่แสนธรรมดาจำนวนหนึ่ง คิดราคาแล้วน่าจะไม่เกินยี่สิบรูปี แต่ก็เป็นอาหารที่ทำให้มีกำลังพอเดินทางต่อไปได้ เรื่องรสชาติไม่ต้องพูดถึงอาหารของคนอินเดียในชนบทอย่างนี้ไม่ค่อยมีรสชาติอยู่แล้วเพราะเป็นอาหารมังสวิรัติล้วนๆ แต่ก็รู้สึกอิ่มท้อง ความสำคัญของการกินอาหารที่แท้ก็เพื่อประทังความหิว จะได้มีกำลังในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ พลันก็เข้าใจสุภาษิตไทยที่ว่า “จงกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” เพราะอาหารในวันนั้นเป็นการกินเพื่ออยู่อย่างแท้จริง
บางครั้งการเดินทางก็ไม่จำเป็นต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทางเสมอไป เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ อย่างกรณีของการเดินทางไปวัดอโศการามในครั้งแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัจจัยหลายอย่างเช่นไม่รู้จักเส้นทาง ค่าเดินทางหมดก่อน หากขืนเดินทางต่อไป เงินที่มีอยู่อาจจะหมดได้ การไม่มีเงินติดตัวในต่างประเทศนั้นเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง จะไปขอยืมใครก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักใคร หมดก็คือไม่มี เมื่อไม่มีก็คืออด ช่วงนั้นเหลือเงินติดตัวไม่ถึงสองพันรูปีด้วยซ้ำ พร้อมกับตั๋วเครื่องบินกลับประเทศไทยอีกหนึ่งใบซึ่งใกล้กำหนดการเดินทางกลับเต็มทีแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปที่พุทธคยา และนั่งรถไฟไปเดลีเพื่อขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอินทิรา คานธี งานนี้จึงต้องยกเลิก แม้อีกหลายปีต่อมาจะเดินทางไปอินเดียอีกหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็มีเหตุทำให้เดินทางไปไม่ถึง “วัดอโศการาม” สักครั้ง แม้ทุกวันนี้ก็ยังไปไม่ถึง
คนส่วนหนึ่งมุ่งตรงไปที่เป้าหมาย จนหลงลืมช่วงเวลาในระหว่างการเดินทาง บางครั้งชีวิตที่อยู่ในระหว่างการเดินทางอาจจะได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงหรือสุนทรียทัศน์ที่เรากำลังเดินผ่านไป เป้าหมายในการเดินทางอาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ชีวิตในขณะเดินทางก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือนิพพาน แต่การเดินทางไปสู่จุดหมายนั้นมีจำนวนผู้ไปถึงเพียงไม่กี่คน ผู้คนส่วนหนึ่งแม้จะพยายามเดินทางไปสู่จุดหมาย โดยการอุปสมบทเป็นนักบวชบ้าง ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติธรรมบ้าง บางคนไปถึงจุดหมาย บางคนก็ไปไม่ถึงเป็นเพียงผู้เดินทาง แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เดินทาง
พอรุ่งเช้าจึงออกเดินทางต่อไปนั่งรถวนเวียนอีกหลายเที่ยวก็ยังไปไม่ถึงวัดอโศการามตามที่หวังไว้เลย อีกอย่างเงินในกระเป๋าเริ่มเหลือน้อย หากยังขืนดื้อดึงค้นหาต่อไปมีหวังไปไม่ถึงจุดหมายคือพุทธคยาแน่นอน จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีรถไฟปัตตนะ และเดินทางต่อไปยังพุทธคยา
แม้จะเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายตามที่ต้องการแต่สิ่งที่พบในระหว่างทางก็ยังถือว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า เพราะได้เห็นชีวิตของคนชนบทจริงๆที่เขาอยู่ตามปรกติธรรมดา บางบ้านหลังเล็กๆแต่มีคนอยู่อาศัยเกือบสิบคน แออัดยัดเยียดในสถานที่คับแคบ อาหารการกินก็แสนธรรมดามีเพียงจาปะตีและเครื่องปรุงเล็กน้อย พวกเขาก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้แล้ว
ที่สถานีรถไฟซึ่งต้องรอรถอีกสามชั่วโมง เห็นว่ามีเวลาเหลือจึงเดินเล่นรอบๆสถานี จึงได้เห็น “แขกมุง” เสียงดนตรีคือปี่และกลองที่เรียกว่าปี่เร่งกลองรัวดังมาจากบริเวณใกล้ๆสถานีรถไฟ มีคนมุงดูจำนวนมาก บางครั้งแตกฮือ บางครั้งขยับเข้าใกล้ เมื่อเดินเข้าไปดู เห็นพังพอนกับงูเห่ากำลังต่อสู้กันโดยมีผู้คนคอยเชียร์อย่างสนุกสนาน พวกเขาคงไม่ได้คิดถึงความทุกข์ของสัตว์สองชนิดนั้น ซึ่งกำลังต่อสู้กัน บางครั้งถอยคอยหาโอกาส บางครั้งกระโดดเข้าห้ำหั่นกันเหมือนเป็นศัตรูมาแต่ชาติปางก่อน แต่ก่อนการแข่งขันจะจบลงนั้น คนจัดก็ได้นำสัตว์ทั้งสองเข้าขังไว้ในกรง และเริ่มต้นโฆษณาขายสินค้า พอเห็นคนเริ่มเบาบางก็ทำทีเหมือนกับจะปล่อยพังพอนกับงูเห่าออกจากกรง คนดูก็ทยอยเข้ามาอีก
ทำให้คิดถึง “หนังขายยา” ที่เคยมีในประเทศไทย พอฉายหนังไปได้สักพักกำลังสนุกก็จะโฆษณาขายยาหรือขายสินค้า ลีลาในการขายนั้นต้องบอกว่ายอดเยี่ยม บางครั้งเพียงแค่น้ำชาผสมน้ำตาลก็กลายเป็นยาวิเศษ คำพูดของคนนั้นบางครั้งน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะลีลาการพูดของนักโฆษณาทั้งหลาย ชีวิตถูกลวงเพราะคำพูดไพเราะมามากจนจำไม่ได้ แต่เราก็มักจะยินดีให้เขาหลอก
กว่าจะถึงพุทธคยาได้ก็ผ่านไปอีกวัน รถไฟไปถึงสถานีที่เมืองคยา ที่นั่นผู้คนยิ่งพลุกพล่านเพราะเป็นเส้นทางที่ไปได้อีกหลายเมือง พอรถผ่านเจดีย์ศรีพุทธคยาที่มองผ่านแมกไม้เห็นยอดเจดีย์อยู่เบื้องหน้า ความรู้สึกเหมือนกำลังได้เข่าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ดินแดนที่พระองค์ทรงตรัสรู้ จึงหาที่พักโดยเดินเข้าไปที่วัดป่าพุทธคยา ตอนนั้นแม้จะไม่รู้จักกับพระสงฆ์รูปใดเลย แต่ท่านรักษาการเจ้าอาวาสก็เมตตาให้พักได้โดยไม่จำกัดเวลา เป็นอันว่าการหลงทางที่ปัตตนะแต่มาเดินถูกทางที่พุทธคยา
นวนิยายหลายเรื่องก็ยังเขียนไม่จบ บางเรื่องมีเพียงโครงร่าง อาจจะเป็นนวนิยายที่เขียนตลอดชีวิตก็ได้ สารคดีหลายเรื่องก็ยังเขียนไม่จบ เขียนอัตตชีวประวัติไว้หลายตอนแล้วคิดว่าจะแจกในงานศพก็ไม่กล้าเขียนให้จบ ที่เขียนมากที่สุดคือเรื่องสัพเพเหระที่ยังจัดเข้าเป็นหมวดหมู่อะไรยังไม่ได้ ยังคงมีการเดินทางทุกวัน เพราะชีวิตคือการเดินทาง แต่ว่ามีเพียงการเดินทางบางครั้งเท่านั้นที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่การเดินทางของชีวิตยังไปไม่ถึงจุดหมายเลย ยังคงเป็นผู้กำลังเดินทางที่ยังมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/11/54